posttoday

พระสมเด็จจิตรลดา ในหลวงทรงสร้าง

16 ตุลาคม 2559

หลากหลายโครงการที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงสร้างไว้ให้ปวงชนชาวไทยได้ใช้ประโยชน์มากมาย

โดย...เอกชัย จั่นทอง

หลากหลายโครงการที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงสร้างไว้ให้ปวงชนชาวไทยได้ใช้ประโยชน์มากมาย ไม่ว่าจะด้านสาธารณูปโภค เกษตรกรรม หัตถกรรม กีฬา สิ่งแวดล้อม พระพุทธศาสนา ฯลฯ ล้วนมาจากความคิดที่พระองค์ทรงริเริ่มตลอดระยะกว่า 70 ปีที่ผ่านมา

ถึงกระนั้นก็ตาม พระองค์ยังทรงเคยสร้างพระสมเด็จจิตรลดา หรือพระกำลังแผ่นดิน ช่วงปี 2508-2513 มีจำนวนทั้งสิ้นประมาณ 2,500 องค์เพื่อพระราชทานแก่ทหาร ตำรวจ ข้าราชการ และพลเรือน นับว่าเป็นหนึ่งในสุดยอดพระมหามงคล เพราะเป็นพระเครื่องที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงสร้างด้วยพระหัตถ์ (มือ) ของพระองค์เอง

สำหรับการจัดสร้างพระสมเด็จจิตรลดานั้น พระองค์ทรงใช้ผงมงคลอันศักดิ์สิทธิ์ ทั้งส่วนพระองค์และวัตถุศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ ที่ศาสนิกชนทั่วพระราชอาณาจักรได้ปฏิบัติบูชาสืบเนื่องกันมาเป็นเวลาช้านาน โดยส่วนของพระองค์เองจะประกอบด้วย ดอกไม้แห้งจากมาลัยที่ประชาชนได้ทูลเกล้าฯ ถวายในการเสด็จพระราชดำเนินเปลี่ยนเครื่องทรงพระพุทธปฏิมากรแก้วมรกต และได้ทรงแขวนไว้ที่องค์พระพุทธปฏิมากรตลอดเทศกาล จนถึงคราวที่จะเปลี่ยนเครื่องทรงใหม่ ดอกไม้แห้งนี้ได้โปรดเกล้าฯ ให้รวบรวมไว้ หรือแม้แต่เส้นพระเจ้า (เส้นผม) ซึ่งเจ้าพนักงานได้รวบรวมไว้หลังจากทรงพระเครื่องใหญ่ทุกครั้ง

พระสมเด็จจิตรลดา ในหลวงทรงสร้าง

 

นอกจากนี้ ยังมีดอกไม้แห้งจากมาลัยที่แขวนพระมหาเศวตฉัตรและด้ามพระขรรค์ชัยศรีในพระราชพิธีฉัตรมงคล ทั้งนี้ยังมีสีซึ่งขูดจากผ้าใบที่พระองค์ทรงเขียนภาพฝีพระหัตถ์ไว้ ส่วนชันและสีซึ่งทรงขูดจากเรือใบพระที่นั่งขณะที่ทรงตกแต่งเรือใบพระที่นั่ง

ส่วนวัตถุมงคลหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่มาจากสถานที่อื่นๆ เช่น ดินหรือตะไคร่น้ำแห้งจากปูชนียสถาน เปลวทองคำปิดพระพุทธรูป ผงธูปหน้าที่บูชา น้ำจากบ่อศักดิ์สิทธิ์ซึ่งได้เคยนำมาใช้เป็นน้ำสรงมุรธาภิเษกในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ผงธูปและดินจากกระถางธูปที่บูชาในศาลหลักเมืองทุกกระถาง ผงจากพระปรางค์วัดอรุณราชวราราม กรุงเทพมหานคร เปลวทองคำจากพระมงคลบพิตร ผงจากพระเจดีย์ศรีสุริโยทัย วัดสวนหลวงสบสวรรค์ จ.พระนครศรีอยุธยา ฯลฯ ซึ่งกระทรวงมหาดไทยได้นำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายมวลสารต่างๆ เหล่านี้ ต่อมาภายหลังได้พระราชทานให้แก่วัดบวรนิเวศวิหาร และทางวัดได้นำไปจัดสร้างพระเครื่องบางรุ่น เป็นที่รู้จักกันในนามพระเครื่องผสมมวลสารจิตรลดา

พระทุกองค์มีเอกสารส่วนพระองค์ หรือใบกำกับพระ แสดงชื่อ-สกุล วันที่รับพระราชทาน หมายเลขกำกับทุกองค์ โดยทรงมีพระราชดำรัสแก่ผู้รับพระราชทานว่า “ให้ปิดทองที่หลังองค์พระปฏิมาแล้วเอาไว้บูชาตลอดไป ให้ทำความดีโดยไม่หวังสิ่งตอบแทนใดๆ”

พระสมเด็จจิตรลดา ในหลวงทรงสร้าง

 

อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลความเป็นมาของการจัดสร้างพระสมเด็จจิตรลดานั้น ในปี 2508 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระมหากรุณาธิณคุณโปรดเกล้าฯ ให้ ไพฑูรย์ เมืองสมบูรณ์ ข้าราชการกองหัตถศิลป์ กรมศิลปากร เป็นผู้แกะแม่พิมพ์พระพุทธรูปนี้ในพระราชฐาน ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน และทรงตรวจพระพุทธศิลป์ของพระพุทธรูปพิมพ์นี้จนเป็นที่พอพระราชหฤทัย

พระพุทธรูปพิมพ์ที่แกะถวายนั้น เป็นพระพุทธรูปพิมพ์นั่งปางสมาธิแบบขัดราบ พระบาทขวาทับพระบาทซ้าย ประทับเหนือดอกบัวบาน บน 5 กลีบ ล่าง 4 กลีบ รวมเป็น 9 กลีบ รูปทรงสามเหลี่ยมหน้าจั่ว พิมพ์ใหญ่ขนาดกว้าง 2 เซนติเมตร สูง 3 เซนติเมตรพิมพ์เล็กขนาดกว้าง 1.2 เซนติเมตร สูง 1.9 เซนติเมตร

พระพุทธลักษณะขององค์พระสมเด็จจิตรลดา ซึ่งทรงสร้างขึ้นระหว่างปี 2508-2513 มีความแตกต่างกันออกไป ความลึกและคมชัดขององค์พระในแต่ละปีก็ไม่เท่ากัน เนื้อพระ สีพระ ความหนาบางขององค์พระในแต่ละปีก็แตกต่างกัน

พระสมเด็จจิตรลดาพิมพ์เล็กมีไม่มากนัก ทรงมีการพระราชทานให้เพียง 2 ปีเท่านั้น คือปี 2508 และปี 2509 องค์พระดูเหมือนจะไม่มีความแตกต่างสำหรับพิมพ์เล็ก ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงใช้เวลาว่างหลังจากทรงพระอักษรและทรงงานอันเป็นราชภารกิจในเวลาดึก สร้างด้วยพระหัตถ์ของพระองค์เอง

หมายเหตุ : ข้อมูลจาก http://thaprajan.blogspot.com/2011/07/blog-post.html

พระสมเด็จจิตรลดา ในหลวงทรงสร้าง