posttoday

พ.ส.ล.ชูหลักธรรม ในการประชุมใหญ่ที่เกาหลีใต้

25 กันยายน 2559

องค์การพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลก (พ.ส.ล.) ยกหัวข้อพระพุทธศาสนาในชีวิตประจำวัน และชีวิตประจำวันของชาวพุทธ

โดย...สมาน สุดโต

องค์การพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลก (พ.ส.ล.) ยกหัวข้อพระพุทธศาสนาในชีวิตประจำวัน และชีวิตประจำวันของชาวพุทธ เป็นหัวข้อใหญ่ในการประชุมใหญ่ครั้งที่ 28 ที่กรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ วันที่ 26-29 ก.ย.  2559

พัลลภ ไทยอารี เลขาธิการ พ.ส.ล. กล่าวว่า การประชุมใหญ่ครั้งที่ 28 ของ พ.ส.ล. ได้รับความร่วมมือจากพุทธศาสนานิกายจินกัก (Jin Gak) ซึ่งเป็นนิกายหนึ่งของวัชรยาน รับเป็นเจ้าภาพ ซึ่งถือว่าเป็นครั้งแรกที่พุทธจากนิกายวัชรยาน เป็นเจ้าภาพการประชุม หลังจากสถาปนาองค์กรมา 66 ปี

พัลลพ ไทยอารี เลขาธิการ พ.ส.ล. เล่าเรื่องการเกิด พ.ส.ล. เมื่อ พ.ศ. 2493 ว่าเกิดจากการรวมตัวของประเทศที่นับถือพระพุทธศาสนา 27 ประเทศ ประชุมกันที่กรุงโคลอมโบ ประเทศศรีลังกา

นำโดยG.P.Malasekara  นักปราชญ์ชาวพุทธ โดยมีวัตถุประสงค์ให้ชาวพุทธต่างนิกายรวมตัวกันเป็นอันหนึ่งเดียวกัน ครั้งนั้นมีผู้แทนไทยได้รับเชิญเข้าประชุม 3 ท่าน ได้แก่ ม.จ.พูนพิศมัย ดิศกุล สุชีโวภิกขุ หรืออาจารย์ สุชีพ ปุญญานุภาพ และสุกิจ นิมมานเหมินทร์ เอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงเดลลี ที่ประชุมได้แต่งตั้ง ม.จ.พูนพิศมัย เป็นรองประธาน หลังจากนั้นอีก 8 ปี มีการประชุมเลือกประธานคนใหม่ ได้แก่ อู จันทุน ประธานศาลฎีกาพม่า สำนักงาน พ.ส.ล. ย้ายจากศรีลังกา มาตั้งที่พม่าในครั้งนั้นด้วย  เมื่อเกิดความวุ่นวายทางการเมืองในพม่า อู จันทุน จึงฝากองค์การนี้ไว้กับ อาจารย์ สัญญา ธรรมศักดิ์ ซึ่งเป็นนักเรียนกฎหมายรุ่นน้อง ต่อมาที่ประชุม พ.ส.ล. ที่มาเลเซีย ได้มีมติเลือก ม.จ.พูนพิศมัย ดิศกุล เป็นประธาน และมีมติให้สำนักงาน พ.ส.ล. มาตั้งถาวรที่ประเทศไทย

คนไทยดำรงตำแหน่งทรงเกียรตินี้ 3 ท่าน คือ ม.จ.พูนพิศมัย ดิศกุล  อาจารย์ สัญญา ธรรมศักดิ์ และปัจจุบันได้แก่ แผน วรรณเมธี ซึ่งดำรงตำแหน่งมา 4 สมัยติดต่อกัน ถ้าการประชุมใหญ่ครั้งที่ 28 ที่กรุงโซล เกาหลีใต้ ระหว่างวันที่ 26-29 ก.ย. 2559 เห็นชอบให้ แผน ดำรงตำแหน่งต่ออีกสมัย ก็จะเป็นสมัยที่ 5 เมื่อท่านดำรงตำแหน่งครบเทอมใน พ.ศ. 2563 เท่ากับดำรงตำแหน่งประธานรวม 20 ปี และวันนั้นท่านจะมีอายุ 97 ปี

ส่วนวิสัยทัศน์ในการประะชุมครั้งนี้ พัลลภ ว่าก่อนการประชุมใหญ่ 4 ปี 1 ครั้งนั้น เราจะประชุมผู้บริหารทุก 2 ปี เพื่อหาทางส่งเสริมและทำงานร่วมกัน ทั้งทางด้านสังคม และการช่วยเหลือทางด้านมนุษยธรรม เมื่อประเทศใดประเทศหนึ่งประสบภัยทางธรรมชาติ เช่น น้ำท่วม หรือแผ่นดินไหว เป็นต้น

พัลลภ ย้ำว่า พ.ส.ล.เป็นองค์กรแรกที่ทำให้แต่ละนิกายของพระพุทธศาสนาที่มีความแตกต่างกันมาทำงานร่วมกัน มาแลกเปลี่ยนหาแนวทางร่วมกันในการส่งเสริมพระพุทธศาสนา เนื่องมาจากหลากหลายนิกาย จึงเป็นทัศนะที่แตกต่างจากผู้นำที่มาจากสายเถรวาท มหายาน และวัชรยาน รวมทั้งนักปราชญ์ทางพระพุทธศาสนา และผู้ที่มีความคิดทางพุทธศาสนาแนวใหม่

เมื่อถามว่า พ.ส.ล.จะมีบทบาทเข้ามาแก้ไขความเสื่อมศรัทธาของชาวพุทธที่มีต่อศาสนาหรือไม่ พัลลภ ตอบว่า พ.ส.ล.มีปณิธานที่จะช่วยกันเอาเนื้อแท้พระพุทธศาสนามาเผยแพร่  เพราะแต่ละประเทศ และแต่ละนิกายมีความถนัดที่แตกต่างกัน เช่น ประเทศที่พุทธศาสนายังเข้าไปไม่ถึงรวมทั้งสหรัฐอเมริกา ยุโรป แม้กระทั่งปัจจุบันนี้ ได้พูดถึงแอฟริกา และตะวันออกกลาง ที่พวกเราหาทางเข้าไป

การเข้าไปก็ไม่คิดว่าเราจะไปสร้างปัญหาให้เขา แต่จะนำสิ่งที่เป็นหลักธรรมที่แท้ของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาประยุกต์ และทำให้เขาเข้าใจ ทั้งเรื่องหลักธรรมและการปฏิบัติในชีวิตประจำวัน  เช่น การทำสมาธิ ที่คนสนใจศึกษามากขึ้น

อีกประการหนึ่ง ผู้ไปเผยแพร่ยึดหลักมนุษยธรรม ไม่ได้คิดว่าจะไปแย่งศาสนิกอื่นมาเป็นพุทธศาสนิก แต่เราต้องการให้เขารู้ว่าเราสอนอะไร ปฏิบัติอย่างไร ผมเชื่อว่านี้คือสิ่งหนึ่ง เมื่อเราพยายามเผยแพร่ในสิ่งนี้ ก็ทำให้มีผู้สนใจมากขึ้น

ในทางกลับกัน เมื่อเราคิดว่ามีความเสื่อมในบางส่วน แต่ต้องคิดว่าเราก็มีการพัฒนา และความสำเร็จอีกส่วนหนึ่งเช่นกัน

ส่วนการที่จินกัก ซึ่งเป็นพุทธนิกายวัชรยาน เข้ามาเป็นเจ้าภาพจัดประชุมที่เกาหลีใต้ ก็เนื่องในโอกาสที่พุทธนิกายนี้ เตรียมเฉลิมฉลองแห่งการก่อตั้งมาครบ 70 ปี ในขณะเดียวกันองค์กรนี้ซึ่งมีสมาชิกไม่ต่ำกว่า 1 ล้านคนทั้งในแและนอกเกาหลี ได้มีบทบาทสนับสนุนการทำงานองค์การ พ.ส.ล. มาตลอด เพราะได้เข้าร่วมประชุมเสมอมา นับแต่ปี ค.ศ. 1958 (พ.ศ. 2501) ที่มีการประชุมที่กรุงเทพมหานคร

ปี ค.ศ. 2016 (พ.ศ. 2559) เป็นปีครบรอบ 70 ปี แห่งการก่อตั้งพุทธจินกักนิกาย ซึ่งอุทิศตนตามแนวทางการฝึกฝนตนเอง และการรู้แจ้งเห็นจริงด้วยตนเองตามแนวทางขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

ก่อนการประชุมวันที่ 26-29 ก.ย. 2559 พระคุณเจ้า โฮ จอง (Rev. Hoe-Jeong) ประธานพุทธนิกายจินกัก ส่งสารถึงสมาชิก พ.ส.ล. ผ่าน online มีความโดยสรุปว่า จินกักถือว่าเป็นสัญญาณที่เป็นมงคลที่มีความร่วมมือระหว่างจินกัก กับ พ.ส.ล.

ซึ่งจะทำให้ได้บรรลุจุดประสงค์ร่วมกัน ในขณะที่จินกักก็มีแผนงานที่จะขยายความร่วมมือ และการช่วยเหลือไปยังศูนย์ภาคีของ พ.ส.ล. เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ และวิธีการที่ศูนย์ภาคีแต่ละแห่งได้สร้างสรรค์งานเผยแพร่หลักธรรมของพระพุทธเจ้ามาก่อน

ในขณะนี้ชาวโลกเผชิญกับปัญหานานาประการ ตั้งแต่ภาวะทุพภิกขภัย การอพยพของผู้ลี้ภัย สิ่งแวดล้อม สงคราม และการก่อการร้ายที่ยากต่อการแก้ปัญหา ดังนั้นความร่วมมือของพวกเรา โดยเฉพาะจากศูนย์ภาคีทั่วโลกจะช่วยต่อสู้กับความทุกข์ยากต่างๆ ได้

ข้าพเจ้ามั่นใจว่า ในการประชุมใหญ่ พ.ส.ล.เราคงไม่ต้องประกาศตัวว่า เป็นองค์กรของชาวพุทธโลก แต่ขอให้ช่วยกันแสดงความคิดเห็น ว่าเราจะมีบทบาทเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในอนาคต เพื่อยุติเรื่องที่ยังขัดแย้งกันอยู่

ด้วยสปิริตแห่งมิตรภาพ  ข้าพเจ้ามีความแน่วแน่ในการสร้างมิตรภาพ ความร่วมมือกับท่านที่มาประชุม ซึ่งได้สร้างกันเป็นประเพณี มาเป็นเวลายาวนาน จึงหวังว่าการประชุมใหญ่จะเป็นสะพานเพื่อผลักดันไปข้างหน้า เพื่อการร่วมมือกัน

ขอพูดในฐานะส่วนตัวว่า ในฐานะประธานพุทธนิกายจินกัก และรองประธานสมาคมพุทธนิกายเกาหลี ขอให้สัญญาว่า จะทำดีที่สุดเพื่อให้การเป็นเจ้าภาพประสบความสำเร็จ และขอสนับสนุนการประชุมนี้ด้วยใจจริง ในฐานะที่เป็นสาวกของพระพุทธเจ้าอย่างแท้จริงคนหนึ่ง

ขอให้คุณพระรัตนตรัย อำนวยพรแก่ทุกท่าน ขอบคุณ