posttoday

สุโขทัย เมืองต้นแบบ และสร้างนักบริหารกรมศิลป์

21 สิงหาคม 2559

สุโขทัย เป็นเมืองนำร่องโครงการต้นแบบ เป็นเมืองสร้างนักบริหารของกรมศิลปากร และเป็น เมืองที่มีแบรนด์ทางตลาด

โดย...สมาน สุดโต

สุโขทัย เป็นเมืองนำร่องโครงการต้นแบบ เป็นเมืองสร้างนักบริหารของกรมศิลปากร และเป็น เมืองที่มีแบรนด์ทางตลาด นอกจากเป็นเมืองที่เป็นศูนย์กลางต่างๆ ในอดีต ที่ว่านี้เป็นคำจำกัดความของเมืองประวัติศาสตร์ที่ รมว.วัฒนธรรม วีระ โรจน์พจนรัตน์ อธิบดีกรมศิลปากร อนันต์ ชูโชติ และผู้ว่าราชการจังหวัดสุโขทัย ปิติ แก้วสลับสี กล่าวเปิดงานเสวนา 4 ทศวรรษแห่งการอนุรักษ์และพัฒนาอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย เมื่อวันที่ 16-17 ส.ค. 2559 ณ อาคารอนุสรณ์ลายสือไทย พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ รามคำแหง จ.สุโขทัย เพื่อทบทวนและประเมินผลการดำเนินการในด้านต่างๆ ที่เกี่ยวกับการอนุรักษ์และพัฒนาตามแผนแม่บทในรอบ 40 ปี

ปิติ แก้วสลับสี ผวจ.สุโขทัย กล่าวรายงานและขายสุโขทัยในที่ประชุมว่า สุโขทัยมีแบรนด์ที่สามารถทำตลาด เป็นที่รู้จักกันดี นั่นคือ ก๋วยเตี๋ยวสุโขทัย ทองสุโขทัย ผ้าตีนจกสุโขทัย และผัดไทยสุโขทัย ชื่อนี้ขายได้ในตลาดโลก เชื่อมโยงโบราณสถานกับเศรษฐกิจ ดึงดูดนักท่องเที่ยวได้ จึงอยากให้นักท่องเที่ยวอยู่สุโขทัยนานๆ เพื่อความมั่นคง ยั่งยืน มีรายได้เพิ่ม สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของนายกรัฐมนตรี ดังนั้นการเสวนา 4 ทศวรรษแห่งการอนุรักษ์และพัฒนา น่าจะต้องมีครั้งต่อๆ ไป สุโขทัยยินดีต้อนรับ เพราะต้องการให้นักท่องเที่ยวอยู่สุโขทัย นานๆ จาก 2.9 วัน เป็น 5 วัน จะเพิ่มรายได้ให้สุโขทัยมากยิ่งขึ้น

อนันต์ ชูโชติ อธิบดีกรมศิลปากร กล่าวรายงานว่า สุโขทัยนั้น เป็นชื่อเมืองที่เป็นศูนย์กลาง เป็นชื่อราชอาณาจักรไทยในรุ่นแรก เป็นชื่อศิลปกรรม ที่ได้รับการยอมรับทั่วโลก ปัจจุบันเป็นชื่อจังหวัดหนึ่งของไทย เป็นเมืองเก่าที่เคยเป็นศูนย์กลางราชธานี ปัจจุบันกรมศิลปากรประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน พ.ศ. 2479 และเมื่อ พ.ศ. 2496 เริ่มดำเนินการอนุรักษ์ จนกระทั่ง พ.ศ. 2519 คณะรัฐมนตรีมีมติให้กรมศิลปากรดำเนินการพัฒนาพื้นที่ในเขตเมืองสุโขทัย เนื้อที่ 1,600 ไร่ ทั้งในและนอกเมืองเป็นอุทยานประวัติศาสตร์ เป็นโครงการแห่งแรก และดำเนินการแล้วเสร็จเมื่อ พ.ศ. 2521

พ.ศ. 2534 องค์การยูเนสโก ประกาศเป็นมรดกโลก ซึ่งถือว่าได้ทำงานให้ประโยชน์ต่อสังคม และเศรษฐกิจระดับชุมชนถึงระดับประเทศอย่างแท้จริง ต่อมาใน พ.ศ. 2548 จึงจัดทำแผนแม่บทฉบับที่ 2 ให้มีผลดำเนินการระหว่าง พ.ศ. 2550-2559

ระยะเวลา 40 ปี เป็นเวลาที่ยาวนานพอสมควร กรมจึงเห็นควรเชิญผู้ที่เกี่ยวข้องในการดำเนิการแต่แรกถึงปัจจุบันมาเสวนาร่วมกัน วันที่ 16-17 ส.ค. 2559 ณ อาคารอนุสรณ์ลายสือไท พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ รามคำแหง โดยคาดหวังว่าจะได้องค์ความรู้ในการพัฒนาให้ยั่งยืนต่อไป

วีระ โรจน์พจนรัตน์ รมว.วัฒนธรรม กล่าวเปิดงานและกล่าวว่า การทำงานตามแผนแม่บทของกรมศิลป์ที่สุโขทัยนั้นถือว่าเป็นโครงการนำร่อง เป็นต้นแบบของโครงการอื่นๆ เป็นบทเรียนทั้งความสำเร็จ ล้มเหลว และโดดเด่น ที่เราต้องเรียนรู้เพื่อนำไปปรับใช้ในโครงการอื่นๆ

นอกจากนั้น สุโขทัยยังเป็นเมืองที่สร้างบุคลากรสำคัญของกรมศิลป์ คนที่ผ่านจากที่นี่มีความเจริญรุ่งเรือง เป็นอธิบดีกรมศิลป์หลายคน เป็นศิลปินแห่งชาติ เป็นคณาจารย์ เป็นนายกสภาฯ สุโขทัยจึงเป็นที่ที่เราต้องมาเรียนรู้ ดูย้อนว่าเราเคยทำอะไรไว้ที่นี่ มิใช่เป็นบทเรียนสำหรับในประเทศเท่านั้น แต่รวมประเทศอื่นๆ ด้วย

ชัยวัฒน์ ทองศักดิ์ เจ้าพนักงานพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ รามคำแหง สรุปให้ผู้สื่อข่าวฟังว่า สภาพที่ตั้งของสุโขทัย ถ้าดูจากแหล่งน้ำ จะพบว่าที่ตั้งของสุโขทัยอยู่ระหว่างพุกามกับเขมร วัฒนธรรมของ 2 แหล่ง จึงเข้าสู่สุโขทัย กลายเป็นว่าสุโขทัยคือแหล่งตะวันตกพบตะวันออก  หลักฐานคือเจดีย์ทรงบัวตูมที่วัดมหาธาตุ และกระจายไปยังที่ต่างๆ เหนือสุดถึงเชียงใหม่ ทางใต้ ได้แก่ เมืองสรรค์

ชัยวัฒน์ กล่าวว่า การอนุรักษ์และพัฒนาอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย เริ่มตั้งแต่กรมศิลป์เข้ามาสมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม หรือ พ.ศ. 2496 แต่พัฒนาจริงจัง เมื่อ พ.ศ. 2518-2530 และ พ.ศ. 2534 ยูเนสโกได้รับยกย่องให้เป็นมรดกโลก 

เมื่อมีฐานะเป็นอุทยานประวัติศาสตร์ งานมิได้หยุด แต่มีงานขุดแต่งโบราณสถานมากกว่า 193 แห่ง เมื่พบโบราณวัตถุ ก็ทำทะเบียนส่งพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ จัดเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม และแหล่งเรียนรู้ตลอดชีวิต

งานอนุรักษ์ ยังทำต่อเนื่อง งานขุดแต่งจึงมีอยู่เรื่อยๆ ปัจจุบันขุดแต่งเตาทุเรียง ทางทิศเหนือของวัดพระพายหลวง และงานอนุรักษ์บริเวณวัดศรีชุม เป็นต้น

เมื่อถามว่าชาวโลกรู้จักเมืองสุโขทัยในฐานะอะไร ชัยวัฒน์ ตอบว่า องค์การยูเนสโกช่วยทำประชาสัมพันธ์โดยประกาศให้โลกรู้ หลังจากได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก เพราะสถาปัตยกรรมสุโขทัยไม่เหมือนใคร เช่น เจดีย์ทรงดอกบัวตูม และพระพุทธลีลาที่สวยงาม โดดเด่นเหนือศิลปะอื่นใด

ในแง่วัฒนธรรมและประเพณี สุโขทัยเป็นต้นแบบลอยกระทงที่พบเห็นได้ทั่วไป แต่เผาเทียนเล่นไฟนั้นมีที่สุโขทัยเท่านั้น ดังจารึกหลักที่ 1 ว่าเมืองสุโขทัยมี 4 ปากประตูหลวง คนเบียดเข้ามาดังเมืองจะแตกทีเดียว

พร้อมกันนั้น สรุปว่า การอนุรักษ์และพัฒนาเมืองสุโขทัยเป็นไปตามแผนแม่บท และจารึกว่า เมืองสุโขทัยนี้ดี ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว