posttoday

นิพพานเป็นเป้าหมายสุดท้ายของการอุปสมบท

15 พฤษภาคม 2559

วิปัสสนาธุระเป็นหน้าที่ของผู้อุปสมบท เพราะการอุปสมบทเป็นพระภิกษุประพฤติพรหมจรรย์มีเป้าหมายสุดท้าย คือ การบรรลุพระนิพพาน

โดย...สมาน สุดโต

บรรยากาศวัดนาหลวง (อภิญญาเทสิตธรรม) ที่ตั้งอยู่บนยอดเขาภูย่าอู่ ในกลุ่มเทือกเขาภูพานอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าน้ำโสมนายูง ในช่วงสายของวันที่ 7 พ.ค. 2559 อบอวลไปด้วยรอยยิ้ม และเสียงอุทาน อโห พุทโธ อโห ธัมโม อโห สังโฆ กึกก้องจากพระสงฆ์นับร้อย แม่ชี โยคี ชายหญิงในชุดขาวนับสิบที่ตั้งแถวต้อนรับพระเถระผู้ใหญ่ คือ สมเด็จพระพุทธชินวงศ์ เจ้าคณะใหญ่หนกลาง ประธานศูนย์เผยแพร่พระพุทธศาสนาแห่งชาติ กรรมการมหาเถรสมาคม เจ้าอาวาสวัดพิชยญาติการาม ที่เดินทางมาเป็นประธานเปิดอบรมพระวิปัสสนาจารย์จากเขตภาค 8 ซึ่งมี 6 จังหวัด ได้แก่ อุดรธานี สกลนคร หนองคาย บึงกาฬ เลย และหนองบัวลำภู ซึ่งพระสงฆ์ทั้งหมดต้องเข้าอบรม 45 วัน นับแต่วันที่ 6 พ.ค.สิ้นสุดวันที่ 19 มิ.ย. 2559

ที่ตั้งวัดอยู่ห่างจากตัว อ.บ้านผือ ไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือประมาณ 46 กิโลเมตร ห่างจากหมู่บ้านนาหลวงประมาณ 5 กิโลเมตร โอบล้อมด้วยป่าไม้เบญจพรรณ อยู่บนที่สูง ขึ้นลงลำบาก แต่เป็นที่สัปปายะของผู้ใฝ่ธรรม ถือศีลบำเพ็ญภาวนา ทั้งนี้เพราะมีหลวงปู่พระราชสิทธาจารย์ (หลวงปู่ทองใบ ปภสฺสโร อายุ 80 ปี) เป็นประธานในการฝึกอบรมและปฏิบัติธรรม และมีพระครูภาวนาธรรมาภินันท์ เจ้าอาวาส เป็นผู้อำนวยการ

ในพิธีเปิดอบรมพระวิปัสสนาจารย์อย่างเป็นทางการของสมเด็จพระพุทธชินวงศ์นั้น ฝ่ายสงฆ์มีพระราชเมธี รองเจ้าคณะภาค 8 เป็นผู้กล่าวรายงาน สุชัย บุตรสาระ รองผวจ.อุดรธานี และณัฐสิทธิ์ วงค์ตลาด ผู้อำนวยการสำนักพระพุทธศาสนาจังหวัดอุดรธานี ถวายเครื่องสักการะ โดยมี พระเทพรัตนากร เจ้าคณะจังหวัดพระนครศรีอยุธยา และพระเทพศาสนาภิบาล รองเจ้าคณะจังหวัดนครปฐม เป็น พระอนุจร

พระราชเมธี รองเจ้าคณะภาค 8 รายงานว่า พระสงฆ์จาก 75 อำเภอ ใน 6 จังหวัด ที่อยู่ในภาค 8 มาเข้าอบรมพระวิปัสสนาจารย์ตามโครงการของศูนย์เผยแผ่พระพุทธศาสนาแห่งชาติ ร่วมกับโครงการกองทุนเล่าเรียนหลวง และสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) เพื่อสร้างพระวิปัสสนาจารย์ภาคละ 60 รูป ให้ครบ 18 ภาค

นิพพานเป็นเป้าหมายสุดท้ายของการอุปสมบท

สมเด็จพระพุทธชินวงศ์ กล่าวถึงความจำเป็นในการอบรมพระวิปัสสนาจารย์ ว่าปัจจุบันการปฏิบัติธรรมตามแนวสติปัฏฐาน 4 ได้รับความนิยมอย่างกว้างขวางทั้งชาวพุทธในประเทศและต่างประเทศ สถานปฏิบัติธรรมจึงหาพระวิปัสสนาจารย์ไปประจำ ส่วนวัดที่ขอตั้งเป็นสำนักปฏิบัติธรรม ยิ่งมีความจำเป็น เพราะต้องมีพระวิปัสสนาจารย์ประจำเพื่อแนะนำ อบรมในการปฏิบัติธรรมเป็นประจำเช่นกัน

สมเด็จพระพุทธชินวงศ์กล่าวปิดประชุม โดยตั้งเป็นคำถามว่า

1.ทำไมต้องเป็นวิปัสสนาจารย์

2.ทำไมต้องเป็นวัดนาหลวง

เมื่อกำหนดประเด็นดังนี้ สมเด็จพระพุทธชินวงศ์ในฐานะประธานศูนย์เผยแพร่ได้อธิบายว่า วิปัสสนาธุระเป็นหน้าที่ของผู้อุปสมบท เพราะการอุปสมบทเป็นพระภิกษุประพฤติพรหมจรรย์มีเป้าหมายสุดท้าย คือ การบรรลุพระนิพพาน

การจะบรรลุเป้าหมายได้นั้นต้องมีวิธีการ ซึ่งพระพุทธองค์ตรัสว่ามีวิธีเดียว คือ การปฏิบัติวิปัสสนาตามแนวสติปัฏฐาน 4 จากนั้นพระเดชพระคุณได้อธิบายหลักสติปัฏฐาน 4 ว่ามีอะไรบ้าง และคุณประโยชน์ในการปฏิบัติตาม ที่พระพุทธองค์ตรัสว่าเป็นทางสายเดียวที่จะนำพาให้บรรลุได้อย่างบริสุทธิ์ บริบูรณ์ ก้าวล่วงโสกะ ปริเทวะ ได้ทั้งหมด เพราะการปฏิบัติวิปัสสนานั้นรวมเป็นกลุ่มเดียวกันในอริยมรรค 8 จึงก่อให้เกิดศีล สมาธิ ปัญญา

พระสังฆาธิการทั้งหลายที่มาปฏิบัติตามแนวสติปัฏฐาน 4 ใน เวลา 45 วัน ได้ชื่อว่า มาร่วมปฏิบัติกับพระสัมมาสัมพุทธเจ้า กับพระธรรม และพระสงฆ์สาวก

นิพพานเป็นเป้าหมายสุดท้ายของการอุปสมบท

สมเด็จพระพุทธชินวงศ์ ได้ยกบทกวีที่พระรูปหนึ่งจากภาค 17 ประพันธ์มา เรื่อง 45 วัน อัศจรรย์วิปัสสนา มาบอกผู้เข้าประชุม ว่าช่วงปฏิบัติ 45 วันนั้นอัศจรรย์นัก ซึ่งเจ้าพระคุณสมเด็จฯ บอกว่าถ้ามีสติกำหนดสภาวะธรรมเสมอ ท่านต้องได้รับความอัศจรรย์ตามบทประพันธ์แน่นอน

ประเด็นที่ 2 ว่าทำไมต้องเป็นวัดนาหลวง

สมเด็จฯ อธิบายว่า วัดนี้เป็นภูมิสถานของภูมิพระอริยะ โดยกล่าวว่า

ภูมิมี 2 คือ 1.ปุถุชนภูมิ หมายถึง ที่อยู่ของบุคคลธรรมดาที่ยังมีความเห็นผิด เช่น เห็นว่าในสิ่งที่เที่ยงว่าเที่ยง สิ่งเป็นทุกข์ว่าเป็นสุข ในสิ่งที่ไม่เป็นตัวเป็นตนว่าเป็นตัวเป็นตน ปุถุชนทั่วไปจึงวิปลาส เรียกว่า ทิฐิวิปลาส เป็นสัญญาวิปลาส เป็นจิตวิปลาส ฉะนั้นปุถุชนทั้งหลายที่เห็นผิด คิดผิด รู้ผิด จึงไม่หลุดพ้นจากสังสารวัฏ

2.อริยภูมิ คือ ภูมิของพระอริยเจ้า ที่ตึกอภิญญาเทสิตธรรม ในวัดนาหลวง มีข้อความนี้ อริยภูมิ แปลว่า ภูมิของพระอริยะ หมายถึง ภูมิของผู้ปฏิบัติธรรม เจริญสติปัฏฐาน 4 ผู้ปฏิบัติธรรมเจริญ วิปัสสนาภาวนา จึงเห็นธรรม สามารถกำหนดรู้รูป-นามได้

วัดนาหลวง เป็นภูมิสถานของพระอริยะ จึงจัดอบรมขึ้นที่วัดนี้ โดยพระครูภาวนาธรรมาภินันท์ เจ้าอาวาสวัดนาหลวง รับภาระทุกประการ ส่วนทุนสนับสนุนโครงการได้จากกองทุนเล่าเรียนหลวงสำหรับพระสงฆ์ไทย จาก พศ. และทุนพระธรรมสิงหบุราจารย์ (หลวงพ่อจรัญ) ที่มอบให้มา 4 ปีแล้ว เพื่อจัดการบริหารเรื่องวิปัสสนาภาวนาโดยเฉพาะ

เนื่องจากโครงการนี้ได้รับการสนับสนุนจากโครงการทุนเล่าเรียนหลวงสำหรับพระสงฆ์ไทย จึงขอให้ผู้เข้าอบรมทุกท่านได้ตั้งใจถวายพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ขอให้ทั้งสองพระองค์ทรงพระเกษมสำราญ มีพระพลานามัยสมบูรณ์ แข็งแรง ปราศจากโรคาพาธทั้งปวง

นิพพานเป็นเป้าหมายสุดท้ายของการอุปสมบท