posttoday

ความมั่นคงของพระพุทธศาสนา ที่สาธุชนควรสำนึก...!!

15 พฤษภาคม 2559

เจริญพรสาธุชนผู้มีศรัทธามั่นคงในพระพุทธศาสนา... คำกล่าวที่ว่า“ปุถุชนมักมีจิตโน้มเอียงไปในทางอกุศลนั้น”

โดย...พระอาจารย์อารยะวังโส

เจริญพรสาธุชนผู้มีศรัทธามั่นคงในพระพุทธศาสนา... คำกล่าวที่ว่า“ปุถุชนมักมีจิตโน้มเอียงไปในทางอกุศลนั้น” ควรนำมาเป็นข้อพิจารณาด้วยคนเรามักจะมีสองทางเลือก คือ การทำความดี ... สร้างบุญกุศล และการทำความชั่ว ... สร้างบาปอกุศล ...ดังนั้นเมื่อใดก็ตาม หากจิตใจดำเนินไปในแนวทางหนึ่งก็จักต้องทอดทิ้งอีกด้านหนึ่ง ด้วยจิตใจจะต้องเลือกทำเพียงอย่างใดอย่างหนึ่ง จักทำพร้อมกันสองอย่างสามอย่างไม่ได้ นี่เป็นธรรมชาติของจิต

พระพุทธเจ้าได้ทรงวางรากฐานพระพุทธศาสนาของพระองค์ไว้อย่างบริสุทธิ์หมดจด ดังปรากฏในพระธรรมวินัย ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ ทั้งนี้เพื่อให้พุทธบริษัทถือปฏิบัติตาม เพื่อมุ่งเน้นสร้างความประพฤติอันเสมอกัน เรียกว่า สีลสามัญญตา... และความเห็นที่ออกจากทุกข์อันเสมอกันเรียกว่า ทิฏฐิสามัญญตา

สำหรับสีลสามัญญตานั้น ทรงแสดงลักษณะของศีลไว้ว่า ศีลที่ไม่เป็นท่อนคือ ศีลที่ไม่ขาด ถ้าขาดเรียกว่า ศีลเป็นท่อน ...หรือศีลที่เป็นช่อง คือ ไม่ถึงกับขาด แต่ว่าโหว่เต็มที เหมือนอย่างผ้าขาดที่เป็นช่องโหว่ ... ศีลด่าง ศีล

พร้อย ศีลที่ไม่เป็นไท โดยลักษณะของผู้รักษาศีลที่ดีนั้นจะต้องเป็นผู้ไม่ให้ศีลขาดเป็นท่อน... เป็นช่อง ด่างพร้อย ไม่เป็นไท คือ เป็นทาสของตัณหาการถือปฏิบัติให้เป็นผู้มีศีลสม่ำ เสมอด้วยเพื่อนสพรหมจารีทั้งหลาย จึงเรียกว่า ความมีศีลเสมอกัน... สีลสามัญญตา!

ความมั่นคงของพระพุทธศาสนา ที่สาธุชนควรสำนึก...!!

 

ในส่วนของทิฏฐิสามัญญตานั้น คือ การมีความเห็นออกจากทุกข์เสมอกัน โดยมีลักษณะทิฏฐิอันตรงต่อพระธรรมวินัย คือ มีความเห็นที่ปราศจากนิวรณ์กลุ้มรุมจิต อบรมความเห็นที่ทำให้เกิดความสงบแห่งจิต เป็นความเห็นที่เป็นไปตามพระธรรมวินัย เป็นต้น ซึ่งการที่จะอบรมความเห็นให้เป็นไปตามพระธรรมวินัยได้นั้น ก็ต้องศึกษาปฏิบัติอย่างถูกตรงตามธรรม...การฟังธรรมอย่างตั้งใจ การประมวลใจทั้งหมดเข้าสู่ธรรม กระทำธรรมที่ฟังไว้ในใจโดยแยบคาย เพื่อก่อให้เกิดปัญญา นำไปสู่ประโยชน์จากธรรมหรือให้ถึงประโยชน์แห่งธรรม นั่นเป็นที่สุด

การเข้าสู่พระพุทธศาสนาจึงจะมีคุณอันยิ่งใหญ่ ทั้งต่อตน ต่อผู้อื่น และต่อพระพุทธศาสนา ... จะก่อเกิดกำลังความสามัคคีขึ้นในหมู่คณะ อันเป็นไปเพื่อประโยชน์สุขแห่งโลกนี้

หากความเห็นและข้อปฏิบัติ คือ ทิฏฐิและศีลแตกต่างกันไป ก็ย่อมให้ผลตรงข้ามตามที่กล่าวมา

ดังปรากฏผลความแตกแยกในหมู่สงฆ์ที่แสดงสู่สาธารณชนมากขึ้นในรูปแบบต่างๆ ... และนับวันยิ่งเพิ่มกำลังขวนขวายกันมากขึ้นในแต่ละหมู่คณะหากติดตามเข้าไปในโลกโซเชียล จะพบนานาทัศนะที่ต่างฝ่ายต่างแสดงออกมา นำพาไปสู่มหาชนที่แบ่งแยกกันไปตามแต่ละทิฏฐิและการปฏิบัติ หากเป็นไปเช่นนั้นแน่นอนแม้เทวดาผู้อยู่ใกล้ชิดกับคน ก็ย่อมจะแบ่งแยกกันไปตามความเห็นและข้อประพฤติปฏิบัตินั้นๆ ... คล้ายสมัยกาลโกลาหลที่ปรากฏยาวนานถึง ๑๒ ปี ด้วยข้อโต้แย้งจากมนุษย์ที่แพร่เชื้อทิฏฐิที่แตกต่างและขยายผลให้แตกแยกไปสู่เทพยดา จนต่างฝ่ายต่างตามหาความจริงว่า อะไรคือมงคลของโลกนี้ อันสัตว์โลกควรเข้าถึงความเป็นมงคลนั้น ซึ่งในที่สุดพระพุทธองค์ทรงวิสัชนาในเรื่องดังกล่าวตามเทวปุจฉา จนเป็นที่มาของมงคล ๓๘ ประการ อันปรากฏอยู่ในมงคลสูตร

วันนี้ ความเป็นนานาสังวาสกะ คือ ภิกษุผู้มีธรรมเป็นเครื่องอยู่ร่วมต่างกัน ปรากฏชัดจนน่ากลัว และเมื่อมีความพยายามก่อความแตกแยกให้เกิดในหมู่สงฆ์ ยิ่งน่าสังเวชยิ่งนัก...เพราะนี่คือการทำลายศาสนจักร ...และอาณาจักรอย่างแท้จริง... ที่พุทธบริษัทควรสำนึกในการที่จะร่วมกันปกป้องรักษาพระพุทธศาสนาให้มีความมั่นคงในพระธรรมวินัยสืบต่อไป...เจริญพร