posttoday

แด่ครูผู้ให้ ...คารวาลัย "ศาสตราจารย์อุบาสิกาคุณรัญจวน อินทรกำแหง"

03 พฤษภาคม 2559

ประวัติและคำสอนที่ฝากไว้ให้พุทธศาสนิกชนของ "อุบาสิกาคุณรัญจวน อินทรกำแหง"

ประวัติและคำสอนที่ฝากไว้ให้พุทธศาสนิกชนของ "อุบาสิกาคุณรัญจวน อินทรกำแหง"

วงการพุทธศาสนาเมืองไทยได้สูญเสียปูชนียบุคคลผู้ทรงคุณค่าอีกหนึ่ง

หลังจาก "ศาสตราจารย์อุบาสิกาคุณรัญจวน อินทรกำแหง" วิปัสสนาจารย์ชื่อดังวัย 96 ปี ได้ถึงแก่อนิจกรรมอย่างสงบด้วยโรคชรา ณ โรงพยาบาลศิริราช เมื่อช่วงบ่ายของวันจันทร์ที่ผ่านมา

ศาสตราจารย์อุบาสิกาคุณรัญจวน อินทรกำแหง เกิดเมื่อวันที่ 28 พ.ค. 2464 ที่บ้านบางรัก อ.บางรัก จ.พระนคร เป็นบุตรีของพันเอก พระศรีพิชัยบริบูรณ์ (เหมือน) และนางเชย อินทรกำแหง มีพี่ชายน้องชายร่วมบิดาคือ นายอมร  อินทรกำแหงและนายสาทิส  อินทรกำแหง

จบการศึกษาที่ โรงเรียนวัฒนาวิทยาลัย โรงเรียนสุรนารีวิทยา โรงเรียนสวนสุนันทาวิทยาลัย  วิทยาลัยครูสุนันทา ก่อนจะเดินทางไปศึกษาชั้นปริญญาตรีและโทที่คณะบรรณารักษ์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยฟลอริด้า สเตท สหรัฐอเมริกา

หลังจากกลับเมืองไทยเข้ารับราชการสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ เป็นครูโรงเรียนสตรีกัลยาณวัตร จ.ขอนแก่น โรงเรียนสุรนารีวิทยา จ.นครราชสีมา โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย ตามลำดับ ศึกษานิเทศก์ห้องสมุดโรงเรียน เลขานุการกรมวิสามัญศึกษา ผู้อำนวยการกองการสัมพันธ์ต่างประเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ นอกจากนี้ยังเคยเป็นอาจารย์พิเศษวิชาบรรณารักษศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และมหาวิทยาศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร

สำหรับงานสมาคม เคยดำรงตำแหน่งนายกสมาคมห้องสมุดแห่งประเทศไทย กรรมการสมาคมสตรีอุดมศึกษาแห่งประเทศไทย กรรมการสมาคมการศึกษาแห่งประเทศไทย ประธานศูนย์ความเข้าใจอันดีระหว่างชาติ ก่อนจะลาออกจากราชการ ในปีพ.ศ. 2515

หลังจากลาออกจากราชการ เข้าทำงานเป็นอาจารย์พิเศษประจำภาควิชาบรรณารักษศาสตร์ อาจารย์พิเศษคณะมนุษย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง และประธานสภาคณาจารย์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง (พ.ศ.2517-2519)

เกียรติคุณที่ได้รับ ปริญญาปรัชญาดุษฏีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาบรรณารักษศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง พ.ศ. 2524 รางวัลและประกาศเชิดชูเกียรติในฐานะบุคคลผู้มีผลงานดีเด่นในการเสริมสร้างสันติภาพและสันติสุขในสังคมไทย จากคณะกรรมการกองทุนการศึกษาเพื่อสันติภาพ  พระธรรมปิฏก (ป.อ. ปยุตฺโต)  พ.ศ. 2542 รางวัล “นราธิป”  วรรณกรรมดีเด่น สำหรับนักเขียนอาวุโส  สมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2546 และรางวัล “Outstanding Woman in Buddhism” เนื่องในวาระวันสตรีสากลโลกขององค์การสหประชาชาติเมื่อวันที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2548

ศาสตราจารย์อุบาสิกาคุณรัญจวน อินทรกำแหง ได้สละชีวิตทางโลกหันมาศึกษาและเจริญธรรม ปฏิบัติเป็นเวลากว่า 30 ปี อุทิศตนในการเผยแพร่พระพุทธศาสนาอย่างเต็มความสามารถ ณ วัดหนองป่าไผ่ ต.ดงมะไฟ จ.สกลนคร จวบจนสิ้นอายุขัยของชีวิต สิริอายุรวม 94 ปี 11 เดือน 2 วัน

ในฐานะที่เป็นครูผู้ให้มาทั้งชีวิต ท่านอาจารย์รัญจวนเคยเขียนบทความชื่อ "ครูคือผู้สร้างโลก" ลงในหนังสือดอกหญ้า ฉบับเดือนม.ค. - ก.พ. 2548 โดยระบุว่า ครูคือ ผู้นำทางจิตวิญญาณที่จะนำพาศิษย์ไปในทิศทางที่ถูกต้อง ด้วยการพัฒนาจิตให้เกิดสัมมาทิฐิ มีความคิด ความเห็นที่ถูกตรง อันจะนำไปสู่การคิด พูด และทำในสิ่งที่ถูกต้อง

ท่านได้สรุปคุณสมบัติของผู้เป็นครูไว้ว่า ต้องมีความเมตตากรุณาอย่างแท้จริง มีความเป็นกัลยาณมิตรต่อศิษย์ตลอดชีวิต มีความซื่อตรงต่ออุดมคติของความเป็นครู อดทนและเสียสละ ไม่เห็นแก่ตัว เป็นเสมือนประภาคารหรือดวงประทีปของศิษย์ เป็นตัวอย่างที่ดีแก่ศิษย์

ครูต้องสามารถกระทำได้อย่างที่สอนศิษย์ ใครจะทำอย่างไรก็ช่างเขา แต่ผู้เป็นครู จะต้องมีจุดยืนให้เห็นว่า นี่คือความถูกต้อง ถ้าลูกศิษย์ไปประสบปัญหาชีวิต แล้วกลับมาหาครูเพื่อขอคำปรึกษา ครูต้องยืนอยู่บนความถูกต้อง ต้องชี้ให้ลูกศิษย์เห็น และกลับไปสู้ใหม่ ด้วยความถูกต้อง โดยธรรม นี่คือวิธีที่เราจะยกฐานะของสังคมให้เป็นโลกของมนุษย์ มิใช่เป็นเพียง โลกของคน

ท่านกล่าวถึงอานิสงส์ของความเป็นครูไว้หลายประการ แต่ขอหยิบยกมา 2 ข้อดังนี้

1. เป็นอาชีพที่ได้บุญได้กุศลยิ่งกว่าอาชีพใดๆ วิเศษกว่าอาชีพทั้งหลายในโลก อาชีพหมอยังรักษาได้แต่เพียงกาย แต่อาชีพครูรักษาได้ทั้งกายและจิต รักษาชีวิตของลูกศิษย์ทั้งชีวิต ให้ได้อยู่อย่างปลอดภัย มีสติปัญญาที่ถูกต้อง เงินเดือนที่ให้มาตีราคาไม่ได้ ประเมินไม่ได้กับงาน ที่ครูทำ

2. เป็นอาชีพที่ได้รับการเคารพยกย่องจากบุคคลทุกชั้นวรรณะ ทุกตำแหน่งหน้าที่ เขาจะไปเป็นแม่ทัพ เป็นนายกรัฐมนตรี หรือเป็นอะไรก็ตาม เขารับไหว้คนอื่น แต่เขายกมือไหว้ครูก่อน

ท่านให้ข้อคิดการเป็นครูในยุคใหม่ผ่านตัวท่านเองว่า

"ถ้าดิฉันกลับไปเป็นครูได้ใหม่อีกครั้ง ดิฉันจะไม่สอนลูกศิษย์แต่เพียงว่าให้เป็นคนดี แต่จะสอนให้มี สติปัญญา ที่ฉลาดกว่านั้น จะช่วยอบรม ช่วยหล่อหลอม ช่วยกระตุ้นให้เขาเป็นคนมีจิตใจเข้มแข็ง แข็งแกร่งพอที่จะยืนอยู่ได้ด้วยการกระทำ ที่แน่ใจว่า ถูกต้อง คำว่า "ถูกต้อง" ในที่นี้คือ ถูกต้องโดยธรรม เพราะการกระทำนั้น เป็นประโยชน์ทั้งต่องานที่ทำ และผู้ที่เกี่ยวข้อง ตัวผู้ทำเองก็ไม่ทุกข์ มีแต่ความ เบิกบาน แจ่มใส เพราะมันอิ่มใจ พอใจ ว่าสิ่งที่ได้ทำลงไปด้วยความแน่ใจว่า ถูกต้องนี้ จะมีคนได้ รับประโยชน์ โดยไม่จำเป็นจะต้อง มีใครมารู้มาเห็น ว่าเป็นการกระทำของเรา"

หากเราต้องการเป็น ครูผู้สร้างโลก ก็จำเป็นเหลือเกินที่เราจะต้องรักษาเกียรติ ศักดิ์ศรีของความเป็นครู ไว้ให้ได้ เหมือนอย่างเกลือรักษาความเค็ม ด้วยการรักษาความถูกต้องและมั่นคง ของการศึกษา วัฒนธรรม จริยธรรม และศีลธรรมของสังคมไว้ นี่คือการทำหน้าที่ของครู"

ทั้งหมดนี้เป็นหนึ่งในคำสอนที่ศาสตราจารย์อุบาสิกาคุณรัญจวน อินทรกำแหง ฝากไว้ให้พุทธศาสนิกชนรุ่นหลัง     

ภาพจาก www.facebook.com/ramkhamhaeng.ru