posttoday

วิสัยทัศน์ ของท่านทูตอินเดีย ที่ควรอนุโมทนา!

01 พฤษภาคม 2559

เจริญพรสาธุชน... อ่านข่าวตามหน้าสื่อในสัปดาห์นี้ พบแต่เรื่องดีเอสไอ ธัมมชโย ... แทรกด้วยวิกฤตดินฟ้าอากาศ

โดย...พระอาจารย์อารยะวังโส

เจริญพรสาธุชน... อ่านข่าวตามหน้าสื่อในสัปดาห์นี้ พบแต่เรื่องดีเอสไอ ธัมมชโย ... แทรกด้วยวิกฤตดินฟ้าอากาศที่ว่าด้วยภัยแล้งในฤดูร้อน ที่อุณหภูมิไต่เพดานสูงขึ้นไปจนทะลุ ๔๐  &O3249;C...

เรื่องราวทั้งหลาย ไม่ว่าจะน่ายินดีหรือไม่น่ายินดี ก็ยากที่จะหลีกเลี่ยง จึงควรเผชิญหน้าด้วยสติที่รู้จักพิจารณาในอารมณ์ที่บังเกิดขึ้นในจิตนั้นๆ ...เรียกว่า พร้อมสรรพด้วยสติปัญญา เพื่อเผชิญกับทุกปัญหาในชีวิต

องค์คุณความรู้ในสติจะนำไปสู่การรู้จักเลือกเฟ้นวิจัยธรรม ว่า อะไรเป็นกุศล ... อกุศล หรืออัพยากตธรรม เพื่อการประกอบความเพียรชอบ โดยสิ่งใดเป็นกุศลธรรมก็นำมาประกอบกับจิต เพื่อความเป็นกุศลจิต... ส่วนอกุศลนั้นให้ละทิ้งไป

เมื่อวันที่ ๒๕ เม.ย. ๒๕๕๙ อาตมาได้รับนิมนต์ไปเป็นมงคลกับทางสถานทูตอินเดียที่กรุงเทพฯ เนื่องในโอกาสที่ H.E. Mr. Bhagwant Singh Bishnoi มารับหน้าที่ เอกอัครราชทูตอินเดียประจำประเทศไทย โดยท่านทูต Bhagwant ได้กล่าวกับอาตมาในเบื้องต้นว่า “หากจะมีสิ่งใดที่บุคคลเช่นพระอาจารย์จะได้กรุณาแนะนำ เพื่อให้ประเทศของเราทั้งสองสามารถประสานสัมพันธ์เข้าหากันได้แน่นแฟ้นมากขึ้น ในยุคสมัยแห่งโลกปัจจุบันนี้แล้ว ขอกราบอาราธนา...”

อาตมาได้อนุโมทนาและกล่าวเรียงความเกี่ยวเนื่องต่อกัน จนเข้าสู่การขอให้ช่วยสนับสนุนกิจการพระพุทธศาสนาในแผ่นดินชมพูทวีป แด่พระสงฆ์ที่เดินทางเข้าไปทำหน้าที่... ไม่ว่าจะเป็นส่วนบุคคลหรือไปในนามองค์กรสงฆ์ หากพระคุณเจ้าเหล่านั้นประพฤติปฏิบัติถูกต้องทั้งตามพระธรรมวินัยและตามกฎหมาย ...และได้กล่าวในอีกหลายเรื่องที่เป็นประโยชน์ต่อความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศซึ่งได้ถูกบันทึกไว้ทั้งหมด

วิสัยทัศน์ ของท่านทูตอินเดีย ที่ควรอนุโมทนา!

 

ในส่วนท่านเอกอัครราชทูตอินเดีย ก็ได้กล่าวแสดงทัศนะในบางตอนที่น่าพิจารณายิ่งว่า “...พวกเรามีความปีติยินดีมากที่ท่านได้นำร่มเงาแห่งปัญญาของท่านมาให้แก่พวกเรา ...เรารู้สึกได้ว่าหุ้นส่วนของเรา เพื่อนของเราโดยธรรมชาติ ทั้งในเชิงความสืบเนื่องของภาษา วัฒนธรรม ศาสนา และความเป็นพี่น้องกันโดยธรรมชาติ คือ ชาวไทย ดังนั้น ประเทศไทยจึงเป็นศูนย์กลาง เป็นแกนกลางที่สำคัญสำหรับนโยบายการต่างประเทศของอินเดีย และสิ่งที่ท่านกูรูจีได้แสดงออกตลอดมานั้น นับเป็นเสาหลัก เป็นเสาเอกที่สำคัญยิ่งต่อการนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายในทางการเมืองที่พวกเรามีหน้าที่ต่อประชาชนของเรา...”

“อีกประเด็นหนึ่ง คือ หากจะมีกรณีใดหรือความยุ่งยากใดที่พระสงฆ์ไทยต้องประสบในการเดินทางไปอินเดีย ก็ขอให้ท่านได้แจ้งให้เราทราบด้วย แม้จะไม่อาจมั่นใจได้ว่า เราจะสามารถแก้ปัญหาได้ทุกปัญหาที่เกิดขึ้น ด้วยอินเดียมีกฎหมายบังคับใช้หลายฉบับที่ว่าด้วยเชื้อชาติและชาติพันธุ์ที่ให้การคุ้มครองดูแลอยู่...”

ต่อมาสุดท้ายการพูดคุยกัน อาตมาได้เรียนให้ท่านทูตทราบเรื่องการเชิดชูเกียรติประวัติของ ดร.บี อาร์ อัมเบ็ดการ์ ที่นำชาวฮินดูกลุ่มจัณฑาลมากกว่าห้าแสนคนเปลี่ยนมาเป็นชาวพุทธ และด้วยผลงานการต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน ด้วยการออกแบบรัฐธรรมนูญการปกครองแผ่นดินของอินเดีย ที่มีการบรรจุหัวใจพระพุทธศาสนาลงไป จึงควรได้รับการชื่นชมจากประเทศพุทธศาสนาและประเทศในระบบประชาธิปไตยจากทั่วโลก ที่ปรารถนาการสร้างอำนาจธรรมเพื่อสิทธิเสรีภาพ ความเสมอภาค และภราดรภาพ ที่แท้จริง... ทั้งนี้ ทางรัฐมหาราษฎร์และศาสนิกชนที่เลื่อมใสในปฏิปทาของ ดร.อัมเบ็ดการ์ จะร่วมกันจัดมุมอนุสรณ์อัตโนประวัติของ ดร.อัมเบ็ดการ์ ไว้ในมุมสวนสาธารณะที่เหมาะสม...

ท่านเอกอัครราชทูตอินเดียได้แสดงความยินดีสนับสนุนและได้กล่าวปิดสรุปว่า “ขอกราบขอบพระคุณพระอาจารย์อีกครั้ง... แน่นอนว่าหากจะกล่าวถึงสัญลักษณ์ความร่วมมือระหว่างสองประเทศทั้งไทยและอินเดียในปัจจุบันแล้ว เราสามารถสื่อผ่าน ดร.อัมเบดการ์ ได้... อีกประการหนึ่งสำหรับพวกเรา (อินเดีย) พระอาจารย์ คือ พระอาจารย์ (Guruji) ของชาวอินเดีย เท่าๆ กับการเป็นพระอาจารย์ของชาวไทย เพราะท่านได้ทำสิ่งต่างๆ ให้แก่ประเทศอินเดียมากเสมอกับที่ทำให้กับประเทศไทยตามที่ปรากฏมา...”

เจริญพร