posttoday

ความเห็นแก่ตัว สู่สังคมอยุติธรรม

24 เมษายน 2559

เจริญพรสาธุชนผู้มีใจอารีทั้งหลาย วันนี้อากาศร้อนมากจนนึกว่าอยู่แถบอินเดีย นึกถึงสมัยแขวนกลดใต้ต้นไม้

โดย...พระอาจารย์อารยะวังโส

เจริญพรสาธุชนผู้มีใจอารีทั้งหลาย วันนี้อากาศร้อนมากจนนึกว่าอยู่แถบอินเดีย นึกถึงสมัยแขวนกลดใต้ต้นไม้ใกล้พระศรีมหาโพธิ์ เพื่อปฏิบัติบูชาเนื่องในสัปดาห์วิสาขบูชา ซึ่งกลางวันมองไปด้านไหนก็โล่งไปหมด เพราะความร้อนใกล้ 50Oc แถมลมร้อนที่เต็มไปด้วยขี้ฝุ่นหน้าแล้งจากเนรัญชราพัดเข้ามาเยือนเป็นระยะๆ ให้ลองชิมเล่นว่า รสชาติความร้อนในอินเดียเป็นอย่างไร

มองไปๆ รอบตัว ก็เห็นแต่ขอทานคนวรรณะต่ำ ที่มานั่งหลบร้อนใต้โคนไม้ มองหน้ากันไป มองหน้ากันมา แกคงศรัทธาอะไรก็ไม่ทราบ จึงลุกขึ้นมาหาพร้อมทั้งหยิบเหรียญรูปีเก่ามากองถวายด้านหน้าที่นั่ง จึงได้ประสาทไปตามภาษาธรรม เพื่ออนุโมทนาน้ำใจของแกที่ยากจนแล้วยังยอมสละแม้เป็นเงินเหรียญไม่กี่รูปี...

มีอยู่รายหนึ่ง ชื่อ ศกุนตลา เป็นผู้หญิงวัยกลางคนจากรัฐมหาราษฎร์ ได้นำคณะเข้ามากราบในตอนเช้าและปวารณาถวายที่ดินเพื่อขอให้ไปสร้างวัดเป็นศูนย์วิปัสสนาฯ ที่หมู่บ้านเขา ...จึงรับอนุโมทนาไว้ แต่ไม่เคยไปติดตามเรื่อง เพราะไม่มีเจตนาไปสร้างวัดในอินเดียหรือในที่ไหน แม้ในเมืองไทย

วันนี้ในหลายๆ เมืองของอินเดีย อากาศไม่ร้อนเหมือนบ้านเรา ที่ระอุตั้งแต่เช้าจรดค่ำ คล้ายๆ กับที่พุทธคยา ราชคฤห์ ในรัฐพิหาร อินเดีย เข้าไปทุกที จนรู้สึกว่าไม่ค่อยรู้สึกต่างกันมากนัก

เรื่องอากาศร้อน... วิกฤตแล้ง ก็คงธรรมดาที่ต้องเผชิญเหมือนๆ กันไป เสมอกันเกือบทั่วโลก แต่สิ่งหนึ่งที่น่าชมเชยในชาวชมพูทวีปคือยังไม่แล้งน้ำใจ ...การช่วยเหลือเกื้อกูล การมีเมตตากรุณาต่อกัน ยังเป็นไปตามปกติ เขาจึงอยู่ร่วมกันได้แม้ในบ้านหลังเดียวกัน แถม วัว ควาย แพะ แกะ หรือสัตว์ที่เขาเลี้ยง ที่เข้าไปอยู่ร่วมชายคาเดียวกันอย่างไม่รังเกียจต่อกันเลย

ความเห็นแก่ตัว สู่สังคมอยุติธรรม

 

วันนี้ ในสังคมบ้านเรา ที่น่ากลัวกว่าอากาศร้อนจนวิกฤตแล้ง คือความเห็นแก่ตัว... ทั้งๆ ที่ ทางการประกาศว่าให้หยุดการทำนาหรือปลูกพืชที่ต้องใช้น้ำจำนวนมาก หันไปปลูกพืชผักเศรษฐกิจอย่างอื่นที่ใช้น้ำน้อย เพื่อการอยู่รอดทั้งเราและสังคม... แต่พ่อเจ้าประคุณทั้งหลายไม่ค่อยฟัง กลับดันทุรังปลูกพืชกันไปตามประสงค์ เรื่องของเรื่องจึงวุ่นวายหนักเข้าไปอีก เมื่อต้องแสวงหาน้ำ ที่บัดนี้แห้งจนเกือบจะติดก้นคลองอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน

เมื่ออากาศร้อน น้ำแล้ง... ชาวบ้านขาดน้ำใจต่อกัน อะไรๆ ก็เริ่มวุ่นวาย... สงครามชิงน้ำที่เคยเกิดขึ้นในสมัยพุทธกาลระหว่างโกลิยะกับศากยวงศ์ ที่ยุติไปด้วยพระมหากรุณาธิคุณของพระพุทธองค์... พร้อมจะกลับมาเกิดขึ้นในหลายพื้นที่... เพราะต่างฝ่ายต่างอ้างความจำเป็น จึงเป็นภาระของทางการที่ต้องจัดระบบการปันน้ำบริโภคให้เหมาะสม เพื่อป้องกันสงครามชิงน้ำในแล้ง (น้ำใจ) นี้

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่สำคัญนอกจากการวางแผนป้องกันมิให้เกิดเหตุทะเลาะวิวาทแย่งชิงกันแล้วนั้น คือ การสร้างจิตสำนึกในทางที่ดี เป็นกุศล ให้ภาคประชาชนทุกหย่อมหญ้า โดยเฉพาะการสอนหลักทำความดีเพื่อประโยชน์ตนและผู้อื่น ที่สุดของการทำความดี ต้องมีความยุติธรรมเป็นหลักค้ำชู

เมื่อจะต้องเผชิญหน้าระหว่างความดีกับความยุติธรรม จะต้องเลือกความยุติธรรมเป็นที่ตั้ง ด้วยความดีนั้นต้องอนุโลมไปตามความยุติธรรม ซึ่งหลักธรรมที่จะรักษาความดี คือ การวางใจเป็นกลาง ทำจิตให้เสมอ จนเข้าถึงอุเบกขาธรรม ที่เว้นขาดจากอคติ ๔ เพื่อการดำเนินชีวิตไปอย่างไม่ล่วงธรรม ดังที่พระพุทธองค์ทรงประกาศความดีหรือแต่งตั้งพระสงฆ์รูปใดนั้น จะเป็นไปโดยธรรม แม้พระราหุลที่เป็นราชโอรส ก็ทรงใช้หลักความยุติธรรมในการพิจารณาตัดสินหรือแต่งตั้งเป็นเอตทัคคะ... มิใช่เป็นเพราะเป็นลูกหลานหรือนามสกุลเดียวกัน แบบสังคมเฮงซวยที่ชอบเรียกร้องให้ทำความดี แต่ไร้ความยุติธรรม... ซึ่งระบบตระกูลอุปถัมภ์นี้ไม่เคยสูญหายไปจากสังคมไทยเลย... เอวัง

เจริญพร