posttoday

สู่สารธรรมแห่งการฟื้นฟู พระพุทธศาสนาในชมพูทวีป

20 มีนาคม 2559

เจริญพรสาธุชนผู้มีศรัทธาในพระพุทธศาสนา...เช้านี้ต้องอุทานว่า... ใดใดในโลกล้วนอนิจจัง จริงๆๆ... กำลังเตรียมตัวเดินทาง

โดย...พระอาจารย์อารยะวังโส

เจริญพรสาธุชนผู้มีศรัทธาในพระพุทธศาสนา...

เช้านี้ต้องอุทานว่า... ใดใดในโลกล้วนอนิจจัง จริงๆๆ... กำลังเตรียมตัวเดินทางจากพระธาตุภูหว้า ภูเก็ต ไปวัดป่าญาณสัมปันโนฯ เชียงแสน เชียงราย เพื่ออำนวยความสะดวกให้คณะศรัทธาของเกศนี (ตุ๊ก) ที่จะเดินทางไปวางแบบสร้างพระพุทธรูปองค์ใหญ่ แบบเดียวกับที่อุบลราชธานี ลงบนเนินย่อมๆ ในเขตวัดป่าฯ จะได้เป็นลานปฏิบัติธรรมของพระเณรและชาววัดทั้งหลายที่จะเดินทางไปเตรียมงานใน ๑๙ มี.ค.นี้

พอดีได้รับโทรศัพท์จากท่านเจ้าคุณพระธรรมปาโมกข์ วัดราชผาติการาม (ธ) กรุงเทพฯ เรื่องสรุปรายงานการจัดงานมาฆบูชาเวฬุวันมหาวิหาร แห่งพระนครราชคฤห์ แคว้นมคธ ที่จัดขึ้นเป็นครั้งที่ ๗ ซึ่งมีพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา เป็นองค์ประธาน และได้มีการทำพิธีเปิดป้าย บอกเขตอุโบสถโอวาทปาติโมกข์ ณ สถานที่ศักดิ์สิทธิ์ดังกล่าว

บัดนี้ป้ายแสดงเขตอุโบสถแห่งเวฬุวันมหาวิหารได้ประดิษฐานอยู่ด้านหน้าสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ดังกล่าว อันแสดงถึงการอนุญาตให้ใช้พื้นที่เป็นเขตอุโบสถเพื่อประกอบศาสนกิจได้ ซึ่งปกติคณะสงฆ์และพุทธศาสนิกชนก็ได้ใช้สถานที่ประกอบศาสนกิจอยู่แล้วโดยทั่วไป แต่ยังไม่สมบูรณ์เต็มร้อย จนกว่าจะสวดถอนบอกเขตหมายลูกนิมิตโดยคณะสงฆ์ดำเนินการไปตามธรรมวิธี

ความสำเร็จแห่งการได้เวฬุวันมหาวิหารคืนกลับมาสู่การจัดงานมาฆบูชาต่อเนื่องทุกปีนั้น ได้เริ่มต้นมาตั้งแต่ปีพุทธศักราช ๒๕๕๓ ในครั้งแรกแห่งการฟื้นฟูวันมาฆบูชาให้คืนกลับมาสู่พุทธภูมินั้น ได้รับความเมตตาจากพระสังฆราชาแห่งคณะสงฆ์ศรีลังกา จากสยามอุบาลีวงศ์ ฝ่ายอรัญวาสี ที่ได้ทรงละสังขารไปแล้ว มาเป็นองค์ประธานฝ่ายสงฆ์ ท่ามกลางพระสงฆ์นานาชาติจากทั้งสองนิกายใหญ่ และคณะสงฆ์ไทยจากทั้งมหานิกายและธรรมยุต

ในครั้งนั้นยังได้รับความเมตตาจากพระธรรมกิตติเมธี ซึ่งปัจจุบันคือ พระพรหมเมธี โฆษกกรรมการมหาเถรสมาคม วัดสัมพันธวงศ์ (ธ) พระเทพโมลี ซึ่งปัจจุบันคือ พระธรรมปาโมกข์ แห่งวัดราชผาติการาม (ธ) และหลวงพ่อบุญส่ง ซึ่งปัจจุบันคือ พระราชวินัยโสภณ แห่งวัดล้านนาญาณสังวราราม (ธ) เชียงใหม่ พร้อมคณะสงฆ์ (ธ) ไปร่วมงานนำประกอบศาสนกิจเนื่องในวันมาฆบูชา ณ เวฬุวันมหาวิหาร แห่งพระนครราชคฤห์ แคว้นมคธ

พระพรหมเมธีได้แสดงสัมโมทนียกถาธรรมในครั้งนั้นไว้อย่างน่าประทับใจมาก โดยเฉพาะน้ำใจ-น้ำคำของท่านที่หลั่งไหลลงสู่ใจของพระสงฆ์และศรัทธาญาติโยม โดยเฉพาะการสนับสนุนในการประกอบศาสนกิจที่อาตมาปฏิบัติอยู่ในขณะนั้น อันนำมาสู่ความสำเร็จในการจัดงานมาฆบูชาถึง ๗ ครั้ง และความสำเร็จในการได้รับอนุญาตให้ฟื้นฟูสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ลานพระโอวาทปาติโมกข์ จากสนามหญ้าลานดินธรรมดา มาเป็น ลานหินอ่อนสวยงาม มีพระมหาธรรมเจติยะฯ ปรากฏขึ้นใจกลางแผ่นดินศักดิ์สิทธิ์ดังกล่าว

พระพรหมเมธีได้กล่าวครั้งนั้นกับอาตมาว่า... “ค่อยๆ แหย่เข้าไปทีละเท้า จนกว่าจะกลืนเข้าไปได้ทั้งหมด” ...ซึ่งเป็นยุทธวิธีที่ต้องอดทนต่อสู้ด้วยคุณความดี จนกว่าเจ้าบ้านชาวฮินดูและหน่วยงานรัฐบาลอินเดียเขาจะยอมรับ เชื่อถือ เชื่อมั่น ยินยอมให้เราเข้าไปได้เต็มตัว

...การได้เวฬุวันคืนกลับมานั้น คือ การได้ฟื้นฟูสถานที่ศักดิ์สิทธิ์แห่งเวฬุวัน ให้มีสภาพเหมาะสมกับความเป็นพุทธสถานที่ทรงประทานพระโอวาทปาติโมกข์ และทรงประทับอยู่ ๕ พรรษา ณ เวฬุวันมหาวิหารแห่งนี้ ได้เสร็จสิ้นสมบูรณ์แล้ว และมีแถมพิเศษอย่างยากจะคาดถึง คือ การที่สงฆ์ได้มีมติเห็นชอบการประกาศเป็นเขตสังฆกรรมอันสมบูรณ์ด้วยการตั้งญัตติทุติยกรรม นำโดยพระธรรมปาโมกข์ เสร็จสิ้นไปด้วยดีแล้วเมื่อ ๒๒ ก.พ. ๒๕๕๙ ต่อหน้าเบื้องพระพักตร์พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ...ต่อหน้าตัวแทนรัฐบาลอินเดีย ...ต่อหน้าหัวหน้าหน่วยงานป่าไม้ของรัฐบาลอินเดียที่กำกับสวนป่าเวฬุวันฯ

ที่สำคัญคือ ท่ามกลางพุทธศาสนิกชนชาวอินเดียเจ้าของประเทศและศาสนิกชนจากประเทศไทย เมื่อวันมาฆบูชาที่ผ่านมา ...ซึ่งควรแก่การบันทึกไว้ในแฟ้มความจำของพุทธศาสนาสืบไป...

เจริญพร