posttoday

ความสำเร็จแบบยั่งยืน ต้องใช้ใจแบบโพธิ

06 มีนาคม 2559

ทุกครั้งที่ถูกรับเชิญให้ไปบรรยายธรรมตามองค์กรในเชิงอาศัยธรรมะมาพัฒนาตนเอง

โดย...ราช รามัญ

ทุกครั้งที่ถูกรับเชิญให้ไปบรรยายธรรมตามองค์กรในเชิงอาศัยธรรมะมาพัฒนาตนเอง หัวข้อธรรมที่หยิบยกไปพูดเสมอเป็นแนวโน้มทางด้านโลกียธรรม พูดแล้วก็ยกตัวอย่างให้เห็นภาพเพื่อพัฒนาตนเอง หลายคนหัวเราะชอบใจ บอกไม่เหมือนธรรมะที่ฟังแล้วก็หลับ

คนทั่วไปต่างเข้าใจว่า พระพุทธเจ้ามุ่งเน้นสอนแต่เรื่องให้หลุดพ้นไปสู่นิพพานเพียงอย่างเดียว นั่นอาจเป็นเพราะอิทธิพลของนักบรรยายธรรมะในฐานะนักบวชที่มาเผยแพร่

คำสอนในหลักธรรม มีเบื้องต้น ท่ามกลาง และที่สุด แต่ถ้าหากหยิบแต่มุมที่สุดมาสอนกันมากๆ เข้า คำสอนของพระพุทธศาสนาอาจจะเป็นของคนกลุ่มเดียว คือ กลุ่มคนที่ต้องการเข้าวัดเพื่อหลุดพ้น ซึ่งจะกลายเป็นของที่แคบลงทันที

แต่ความจริงคนใช้ชีวิต พระพุทธเจ้าก็สอนสูตรแห่งความสำเร็จเอาไว้มากมาย เพียงแต่เราอาจจะไม่เคยได้ยินได้ฟังมาก่อนเท่านั้นเอง

หนังสือจิตวิทยาพัฒนาตนเอง หลายเล่มที่ผมได้อ่าน บทสรุปสุดท้ายละม้ายคล้ายคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งสิ้น พระพุทธเจ้าเคยสอนเอาไว้ชัดเจนสำหรับผู้คนที่ทำการงานและอยากประสบความสำเร็จ โดยเฉพาะเจ้าของกิจการทั้งหลาย พระพุทธเจ้าสอนเอาไว้ดังนี้

1.เป็นผู้มีจักษุดี 2.เป็นผู้จัดการธุระได้ดี 3.เป็นบุคคลที่ผู้อื่นพึ่งได้และพึ่งผู้อื่นได้

ใครทำ 3 ข้อนี้ได้สำเร็จ ในชีวิตทุกคนถ้าหากเป็นเจ้าของกิจการ ถ้าเรามองให้ดีๆ

ข้อแรก เป็นผู้มีจักษุดี ถ้าเขียนเป็นภาษาให้เกิดความร่วมสมัย คือ การเป็นผู้มีวิสัยทัศน์ที่ดี มองการณ์ไกลนั่นเอง

ข้อที่สอง เป็นผู้จัดการธุระได้ดี ภาษาร่วมสมัย คือ เป็นผู้ที่สามารถบริหารจัดการสิ่งต่างๆ ได้ดี

ข้อที่สาม เป็นบุคคลที่ผู้อื่นพึ่งได้และพึ่งผู้อื่นได้ ภาษาร่วมสมัย คือ มีคอนเนกชั่น

ทั้ง 3 ข้อนี้ เป็นสิ่งที่พระพุทธเจ้าสอนเอาไว้ตั้งแต่เมื่อ2000 ปีก่อนโน้นแล้ว คนสำเร็จต้องมีวิสัยทัศน์ ต้องมีการบริหารจัดการที่ดี และมีคอนเนกชั่นที่ยอดเยี่ยม แต่คนที่จะทำทั้ง 3 ข้อนี้สำเร็จอย่างแท้จริง จะต้องมีหัวใจแบบโพธิ หมายถึง ดำเนินทุกอย่างไปด้วยหลักของความกรุณา

องค์ทะไลลามะ สอนว่า ความกรุณา เป็นพื้นฐานแห่งจิตวิญญาณของมนุษย์ทุกคน ถ้าเรามีความกรุณาในหัวใจเมื่อไหร่ใจเราเป็นโพธิทันที

ความกรุณา คือ ความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น แม้เราต้องการความสำเร็จในชีวิตก็สามารถนำเอาความเป็นโพธิมาใช้ได้

ความกรุณาแห่งหัวใจ หรือ ซี-วา ในภาษาทิเบต หมายถึง การฝึกจิตวิญญาณเพื่อให้รู้จักเห็นอกเห็นใจผู้อื่นโดยที่ไม่มุ่งหวังสิ่งใดตอบแทน แม้แต่คำว่าขอบคุณ หรือวิธีคิดที่ทำร้ายจิตใจตัวเอง เมื่อใครสักคนที่เราช่วยไปแล้วแต่ไม่เคยมองเห็นความดีของเรา ตลอดทั้งไม่เคยคิดที่จะตอบแทนด้วยความกตัญญูอะไรเลยอย่างใดอย่างหนึ่ง คนที่มีความกรุณาจริงๆ จะไม่คิดเรื่องเหล่านี้เลย

เพราะถือว่าจบหน้าที่ไปแล้ว ในเมื่อทำแล้วก็ทำไปช่วยแล้วก็ช่วยไป ให้แล้วก็ให้ไป ดังนั้นการที่เราปรารถนาความสำเร็จแบบยั่งยืน ใจเราควรเป็นโพธิด้วยธรรมข้อนี้ด้วย

เมื่อเรามีวิสัยทัศน์ที่มองอะไรก็ไม่มองแบบคนเห็นแก่ตัวเห็นแก่ได้ แต่มองแบบปรารถนาที่จะทำให้เกิดประโยชน์แก่ผู้อื่นมากกว่าที่เราได้ประโยชน์อยู่เพียงผู้เดียว การบริหารจัดการธุระก็ไม่ได้ทำในลักษณะที่ทุกอย่างทำเพื่อให้ได้เงินได้ทองเพียงอย่างเดียวเสมอไป และสุดท้ายไม่ใช่ช่วยเหลืออะไรกับใครแล้วก็ต้องการผลตอบแทนหรือน้ำใจตอบแทนทันที แบบนี้เรียกว่า ทำงานด้วยใจเป็นโพธิ

การทำงานเพื่อความสำเร็จแบบโพธิ เป็นความสำเร็จแบบยั่งยืน ไม่ใช่ความสำเร็จแบบไฟไหม้ฟาง คือ สำเร็จเร็วแต่วูบเดียวก็จบ

‘ยิ่งให้ยิ่งได้ แต่ถ้าให้เพื่อหวังว่าจะได้ ย่อมไม่ได้’

อาจารย์ณรงค์วิทย์ แสนทอง ครูสอน HR ด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ระดับแนวหน้าของเมืองไทย มีลูกศิษย์มากมายหลายพันคน หลังจากจบมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (มอ.) หาดใหญ่ แล้วจากบ้านเกิดที่ จ.สงขลา มาเรียนต่อปริญญาโทที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

สิ่งหนึ่งที่อาจารย์ณรงค์วิทย์นำเอามาใช้และสอนลูกศิษย์เสมอ คือ ความกรุณา ในการช่วยเหลือผู้อื่นอย่างไม่หวังผลสิ่งใดตอบแทน ลูกศิษย์หลายคนที่ได้ดีมีเวทีที่ยืนในสังคมวิทยากรมาจนถึงทุกวันนี้ ส่วนหนึ่งมาจากการผลักดันและสนับสนุน ทั้งให้โอกาสและความรู้อย่างเนื่อง

“คนที่มุ่งให้ผู้อื่นเพียงเพื่อต้องการให้ผู้อื่นกลับคืนมาให้ตนเอง ผมมองว่าสิ่งนั้นไม่ใช่ธรรมะ และมันเป็นการคิดที่ฝืนธรรมชาติอย่างหนึ่ง เพราะธรรมะ คือ ธรรมชาติ เมื่อเราคิดเป็นผู้ให้ก็ต้องปล่อยทั้งมือและใจกับสิ่งที่เราให้เขาไปแล้ว แค่นี้ก็มีความสุขเราก็มีความสำเร็จแล้วที่เราได้ให้ไป”

มุมคิดเล็กๆ ของอาจารย์ณรงค์วิทย์ แสนทอง แบบอย่างที่ดีของการเป็นครูผู้ให้ด้วยหัวใจแห่งความกรุณา ด้วยการมีวิสัยทัศน์ การบริหารจัดการที่ดีตลอดทั้งเป็นที่พึ่งของผู้อื่นและพึ่งผู้อื่นได้ ตามคำสอนของพระพุทธเจ้าจึงทำให้ประสบความสำเร็จ