posttoday

หลวงพ่อผาง เหรียญคู่ใจชาวอีสาน

06 มีนาคม 2559

หลวงพ่อผาง เป็นพระภิกษุที่ชอบถือความสันโดษ และยึดถือการปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐาน

โดย...เอกชัย จั่นทอง

หลวงพ่อผาง เป็นพระภิกษุที่ชอบถือความสันโดษ และยึดถือการปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐาน โดยมีต้นแบบมาจากพระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถระ ซึ่งหลวงพ่อผางท่านฝากตัวเป็นลูกศิษย์และถือหลักการปฏิบัติตั้งแต่เมื่อครั้งพระอาจารย์มั่นยังมีชีวิตอยู่ ในบางครั้งเมื่อพระอาจารย์มั่นออกเดินธุดงค์ไปตามป่าตามเขา ตลอดไปจนถึงประเทศลาว หลวงพ่อผางได้ออกปฏิบัติเป็นลูกศิษย์ติดสอยห้อยตามเดินธุดงค์กับอาจารย์ตลอดเวลา จวบจนถึงวาระสุดท้าย ก่อนที่พระอาจารย์มั่นจะละสังขารลงอย่างสงบ

สำหรับหลวงพ่อผางนั้นเป็นศิษย์องค์หนึ่งที่คอยเฝ้าปฏิบัติท่านอาจารย์มั่นจนถึงวาระสุดท้าย ซึ่งนามเดิมของหลวงพ่อ คือ ผาง ครองยุทธ เกิดเมื่อปี พ.ศ. 2443 ประกอบอาชีพทำนาตามบิดามารดา มีพี่น้องร่วมสกุล 3 คน เป็นผู้หญิง 1 คน และชาย 2 คน ภูมิลำเนาเดิมที่เกิดคือ บ้านกุดเกษียร ต.เขื่องใน จ.อุบลราชธานี อุปสมบทในปี พ.ศ. 2488 ที่วัดบ้าน
กุดเกษียร รวมพรรษาได้ 28 พรรษา หลังจากนั้นได้เริ่มปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐานพร้อมออกธุดงค์ ต่อมาได้ตั้งสำนักสงฆ์วัดอุดมคงคาคีรีเขต ซึ่งอยู่ในป่าห่างไกลและไร้ความเจริญ อยู่ระหว่าง จ.ขอนแก่นกับชัยภูมิ

เหรียญหลวงพ่อผางเป็นที่รู้จักเลื่องลือในด้านแคล้วคลาดปลอดภัยและกำลังสนใจของหมู่นักเลงพระเครื่อง เพราะ พ.อ.เฉลิม คำรพวงศ์ รองเจ้ากรมการขนส่ง (ในสมัยอดีต) ได้สั่งเจ้าหน้าที่ดำเนินการพัฒนาเคลื่อนที่ โดยร่วมพระธรรมทูต คือ ท่านพระครูโอภาสสมณกิจ ได้พิจารณาที่จะสร้างโบสถ์วัดป่าธรรมวิเวก เพราะขณะนั้นยังไม่มีโบสถ์วัดที่ใช้สำหรับการประกอบพิธีสงฆ์ 

อีกประการหนึ่งก็เพื่อให้ประชาชนในแถบนั้นได้มีความยึดมั่นในบวรพุทธศาสนา จึงขอให้มีการจัดสร้างเหรียญรุ่นแรกจำนวน 8.4 หมื่นเหรียญ เพื่อให้ประชาชนได้มีไว้ครอบครองและมีไว้เพื่อสักการบูชายึดเหนี่ยวทางจิตใจ นับว่าประสบความสำเร็จอย่างมากเพราะเหรียญรุ่นแรกหมดลงภายในระยะเวลาอันรวดเร็ว เนื่องจากมีประชาชนให้ความสนใจอย่างมาก

จากความนิยมและศรัทธาเหรียญหลวงพ่อผาง เมื่อนำติดตัวไปและบูชาจนเกิดผลสำเร็จเจริญรุ่งเรือง ปลอดภัยแคล้วคลาดการเดินทางอย่างน่าอัศจรรย์ ที่สุดการระดมทุนหาเงินสร้างโบสถ์วัดป่าธรรมวิเวก ก็ลุล่วงสำเร็จทุกประการ

ถัดมาได้มีการจัดสร้างรูปหล่อเหมือนหลวงพ่อผาง ขนาดบูชา 5 นิ้ว และสำหรับบูชาติดตัวเพื่อป้องกัน ขนาด 1.5 เซนติเมตร ซึ่งจัดสร้างนับว่าเป็นครั้งแรกและครั้งสุดท้ายในการจัดสร้างรูปหล่อเหมือนหลวงพ่อผาง โดยมอบให้ช่างฝีมือจากกรมศิลปากรเป็นผู้ออกแบบ ก่อนจะนำแบบให้หลวงพ่อได้พิจารณา พร้อมกับแก้ไขจนเป็นที่น่าพอใจแก่หลวงพ่อแล้ว จึงได้นำแบบไปหล่อ

โดยรายได้ทั้งหมดสมทบทุนสร้างเจดีย์แก้ว พร้อมกับเงินที่เหลือให้เป็นของมูลนิธิสำหรับวัดป่าอุดมคงคาคีรีเขต จ.ขอนแก่น จำนวนการจัดสร้างรูปหล่อขนาด 5 นิ้ว นั้นสร้างเพียง 700 องค์เท่านั้น เท่ากับจำนวนผู้สั่งจอง ส่วนขนาด 1.5 เซนติเมตร จัดสร้างจำนวน 1 หมื่นองค์เท่านั้น รายได้ทั้งหมดนำไปสร้างศาลาการเปรียญ วัดอุดมคงคาคีรีเขต

อย่างไรก็ตาม ในการจัดสร้างครั้งนี้จะสร้างเพียงเฉพาะผู้สั่งจองเท่านั้น เนื่องจาก พ.อ.เฉลิม ผู้เป็นศิษย์ก้นกุฏิของหลวงพ่อผาง พร้อมด้วยลูกศิษย์ที่มีความเชื่อมั่นได้รับอนุญาตในการจัดสร้างครั้งนี้ได้อย่างเรียบร้อยจากหลวงพ่อผาง เพราะในการจัดสร้างวัตถุมงคลของหลวงพ่อแต่ละครั้ง พ.อ.เฉลิม จะต้องเป็นผู้ขออนุญาตต่อหลวงพ่อผางก่อนเสมอ เหมือนกับเมื่อครั้งจัดสร้างเหรียญรุ่นแรก จำนวน 8.4 หมื่นเหรียญ เมื่อปี พ.ศ. 2508 และมีรุ่นเดียว

ทั้งนี้ ในการจัดสร้างก็ไม่เพียงพอแก่ญาติโยมที่สนใจ เพราะมีผู้ที่เคารพในองค์หลวงพ่อ ต่างรีบจับจองเช่าบูชาจนหมดเกลี้ยง เนื่องจากผู้ครอบครองมักประสบมากับตัวว่าแคล้วคลาดปลอดภัยจากภยันอันตรายอย่างดี ไม่ว่าการเดินหรือจะถูกใครทำร้ายก็ตาม เหรียญหลวงพ่อผางจะคอยคุ้มครองป้องกันอยู่ตลอดเวลา

แม้แต่ทหารในกรมการขนส่งทหารบก ที่ได้นำเหรียญหลวงพ่อผางบูชาติดตัวอยู่ประจำ เมื่อครั้งเดินทางไปรบศึกในประเทศเวียดนาม ทหารทุกคนก็ปลอดภัยด้วยดีตลอดจนเดินทางกลับประเทศไทย เหรียญหลวงพ่อเป็นที่นิยมสะสมในแถบภาคอีสานอย่างยิ่ง เพราะแทบทุกคนมักจะพกเหรียญหลวงพ่อผางติดตัวอยู่ตลอดเวลา และเมื่อมีเหตุการณ์ใดๆ ที่ไม่ดีเกิดขึ้นแก่ผู้บูชา มักจะนำเหรียญหลวงพ่อผางแช่ในขันน้ำ และตั้งจิตอธิษฐานนึกถึงหลวงพ่อขอให้ช่วยขจัดปัดเป่าภัยที่เกิดขึ้นแก่ตัวเขาและประสบความสำเร็จตลอดเวลา จนเป็นที่รู้จักกันอย่างดี นอกจากนี้ยังสร้างความเป็นสิริมงคลให้แก่ผู้เคารพและศรัทธาบูชา

หลวงพ่อท่านได้รับการถ่ายทอดวิชาคาถาอาคมมาจากพระอาจารย์มั่น ในสมัยที่พระอาจารย์มั่นยังมีชีวิตอยู่ได้ถ่ายทอดการปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐานให้แก่หลวงพ่อผางทุกวัน ซึ่งหลวงพ่อผางก็ยึดถือปฏิบัติอยู่เป็นประจำไม่ว่างเว้น ในทุกๆ วันของเช้าวันใหม่ท่านจะออกเดินจากกุฏิไปยังที่ปฏิบัติเป็นระยะทางเกือบ 2 กิโลเมตร ซึ่งตั้งอยู่บนภูเขา และเดินทางกลับในตอนเย็นทำเป็นกิจวัตรประจำวันเช่นนี้ทุกวัน ส่วนการฉันอาหารนั้น หลวงพ่อผางท่านฉันอาหารเจ เพียงวันละ 1 มื้อเท่านั้น

หลวงปู่ผางท่านมีอุดมคติอยู่ว่า “มีชื่อบ่อยากให้ปรากฏ มียศบ่อยากให้ลือชา” ศีลข้อ 5 เป็นข้อที่หลวงปู่ย้ำเน้นตลอดมา หลวงปู่มักจะให้โอวาทให้พรว่า “อย่าสิเอาพระรัตนตรัยไปกินเหล้า เด้อ” “ให้สำบายๆ เด้อ”  “ให้อยู่ดีมีแฮง เด้อ” เนื่องจากหลวงปู่ไม่เป็นพระนักพูดนักเทศน์ที่ดี แต่สอน
คนอื่นแล้วตนเองไม่ปฏิบัติตาม ด้วยเหตุนี้จึงไม่สามารถจะนำบทเทศนาสั่งสอนมาลงให้เป็นเรื่องเป็นราวได้

หลวงพ่อผางได้เข้ารักษาตัวเมื่อวันที่ 28 พ.ย. 2524 ขณะจำพรรษาที่วัดอุดมคงคาคีรีเขต ต.นางาม อ.มัญจาคีรี จ.ขอนแก่น และได้ถึงแก่มรณภาพเมื่อวันที่ 24 มี.ค. 2528 สิริรวมอายุได้ 81 ปี