posttoday

ประวัติศาสตร์ มาฆบูชา ปี’๕๙ ณ เวฬุวันมหาวิหาร/อินเดีย

28 กุมภาพันธ์ 2559

เจริญพรสาธุชนผู้มีศรัทธาในพระพุทธศาสนา ...ภาพข่าว พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา เสด็จปฏิบัติศาสนกิจ

โดย...พระอาจารย์อารยะวังโส

เจริญพรสาธุชนผู้มีศรัทธาในพระพุทธศาสนา ...ภาพข่าว พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา เสด็จปฏิบัติศาสนกิจเนื่องในวันมาฆบูชาที่ ๒๒ ก.พ. ๒๕๕๙ ณ เวฬุวันมหาวิหาร พระนครราชคฤห์ แคว้นมคธ (ในอดีต)/รัฐพิหาร อินเดีย แพร่สะพัดไปทั่วทั้งในอินเดียและบ้านเรา นำมาซึ่งความปลาบปลื้มยินดีของศาสนิกชนชาวไทยและชาวฮินดูที่ได้ร่วมอยู่ในเหตุการณ์หรือติดตามข่าวทางสื่อ

ต้องกล่าวว่าเป็นครั้งแรกที่ชาวพุทธในอินเดียเดินทางมาจากรัฐต่างๆ เช่น มหาราษฎร์ ฯลฯ เพื่อมาร่วมงานมาฆบูชาโลกครั้งที่ ๗ ที่เวฬุวันฯ วัดแห่งแรกในพระพุทธศาสนา โดยเฉพาะภายใต้การนำของประธานคณะกรรมการ ป.ป.ช. แห่งรัฐมหาราษฎร์ อินเดีย จึงมีสมาชิกสภาผู้แทนของรัฐพิหาร รัฐมหาราษฎร์ และจากลาดักห์ โดยมีรัฐมนตรีแห่งรัฐบาลรัฐพิหารมากล่าวถวายการต้อนรับและร่วมเปิดงาน ภายใต้การอำนวยการของหน่วยงานป่าไม้ของรัฐบาลอินเดีย ทั้งยังมีองค์กรพุทธศาสนานานาชาติ (IBC) ร่วมกับองค์กรพุทธศาสนานานาชาติในพุทธคยาเข้าร่วมงานกันครบถ้วน...

พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา มีพระศรัทธารับการถวายพระพรทูลเชิญจากพระอาจารย์อารยะวังโส/พระวิปัสสนาจารย์ เสด็จไปเปิดงานมาฆบูชาและได้มีพระดำรัสที่ทรงกล่าวเปิดงานอันมีคุณค่าในธรรมะอย่างยิ่ง ที่ควรแก่การนำมาเผยแพร่ เพื่อศาสนิกชนจะได้ร่วมอนุโมทนาและร่วมถวายพระพรแด่พระองค์ ในพระศรัทธาปัญญาที่เพียบพร้อม มีสาระธรรมสำคัญโดยสรุปดังนี้

ประวัติศาสตร์ มาฆบูชา ปี’๕๙ ณ เวฬุวันมหาวิหาร/อินเดีย

 

“...๑๕ ค่ำ เดือน ๓ ที่เรียกว่า วันมาฆบูชา เพื่อการสถาปนาคณะสงฆ์ในพระพุทธศาสนาให้มั่นคง แข็งแรง จะได้ทำหน้าที่สืบพระพุทธศาสนาให้สืบเนื่องต่อไปในโลกนี้...

การประชุมคณะสงฆ์ครั้งแรก ที่เรียกว่า มหาสังฆสันนิบาต จึงได้เกิดขึ้นในวันมาฆบูชา ก่อนเข้าสู่พรรษาที่ ๒ ย้อนกลับไป ๒,๖๐๓ ปี นับจากปีพุทธศักราช ๒๕๕๙ นี้ ณ สถานที่ศักดิ์สิทธิ์แห่งนี้ ที่พระเจ้าพิมพิสาร จอมกษัตริย์แห่งแคว้นมคธ ได้มีพระราชศรัทธาในพระพุทธศาสนา ได้น้อมถวายซึ่งเดิมคือพระราชอุทยานเวฬุวัน อันตั้งอยู่ใกล้ประตูเมืองพระนครราชคฤห์ทางด้านทิศเหนือ เพื่อเป็นมหาวิหารของคณะสงฆ์ อันมีพระพุทธเจ้าเป็นประธาน ด้วยพระราชดำรัสที่ว่า

เอตาหัง ภันเต เวฬุวะนัง อุยยานัง พุทธัปปะมุขขัสสะ ภิกขุสังฆัสสะ ทัมมีติฯ.

แปลความว่า “หม่อมฉัน ขอน้อมถวายพระราชอุทยานเวฬุวันแห่งนั้น... แก่ภิกษุสงฆ์ อันมีพระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นประมุข พระพุทธเจ้าข้า...”

การประดิษฐานพระพุทธศาสนาจึงเกิดขึ้นครั้งแรกบนดินแดนศักดิ์สิทธิ์ดังกล่าว ที่ชาวโลกรู้จักต่อมาในชื่อ เวฬุวันมหาวิหาร หรือสวนป่าเวฬุวันในปัจจุบัน ที่ยังคงรักษาความบริสุทธิ์ด้วยอำนาจแห่งธรรมมาจนถึง ณ วันนี้

บัดนี้ เมื่อความพร้อมเพรียงแห่งคณะสงฆ์สมบูรณ์ดีแล้ว ขออาราธนาได้พึงประกอบศาสนกิจอันถูกต้องตรงตามพระธรรมวินัย ในเขตพระอุโบสถพระโอวาทปาติโมกข์ดังกล่าวนี้เถิด อันเป็นที่ควรแก่การกระทำสังฆกรรมตามพระพุทธประสงค์ และพึงได้ดำเนินศาสนกิจอันเป็นไปตามพุทธานุญาตเนื่องในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๓ หรือ วันมาฆปุรณมี ประจำปีพุทธศักราช ๒๕๕๙ นี้ ณ เขตอุโบสถพระโอวาทปาติโมกข์แห่งนี้ บัดนี้ กาลมงคลได้เกิดขึ้นแล้ว จึงกราบอาราธนาอัญเชิญ พระพุทธคุณ พระธรรมคุณพระสังฆคุณ ที่ได้ประดิษฐาน ณ เวฬุวันมหาวิหาร สืบเนื่องมาตั้งแต่สมัยพุทธกาลจนถึงปัจจุบัน พึงได้พิทักษ์รักษาเขตแดนศักดิ์สิทธิ์ดังกล่าวนี้เพื่อรองรับพระพุทธศาสนา เพื่อสืบพระธรรมวินัยให้สืบเนื่องต่อไปเทอญ...”

นี่คือ พระดำรัสกล่าวเปิดงานอันเป็นประวัติศาสตร์ เนื่องในวันมาฆบูชา ปี ๒๕๕๙ ที่เราชาวพุทธควรจดจำและร่วมกันอนุโมทนา...

เจริญพร