posttoday

ร่วมอธิษฐานจิต สืบอายุพุทธศาสนา ในมาฆบูชา ปี’๕๙

21 กุมภาพันธ์ 2559

เจริญพรสาธุชนผู้มีศรัทธาในพระพุทธศาสนา ๒๒ ก.พ. ๒๕๕๙ ซึ่งในปีนี้ตรงกับวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๓

โดย...พระอาจารย์อารยะวังโส

เจริญพรสาธุชนผู้มีศรัทธาในพระพุทธศาสนา ๒๒ ก.พ. ๒๕๕๙ ซึ่งในปีนี้ตรงกับวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๓ ชาวพุทธรู้จักในชื่อวันมาฆบูชา ...อันเป็นวันประกาศหลักธรรมเพื่อสันติภาพโลก ด้วยหลักคำสั่งสอนในพระพุทธศาสนาที่แสดง อุดมการณ์ ๓ หลักการ ๔ ข้อปฏิบัติ ๖ ไว้อย่างชัดเจนในบทพระโอวาทปาติโมกข์ ที่พระพุทธองค์ทรงประทานให้กับพระสงฆ์สาวก เพื่อการสถาปนาสังฆมณฑลให้มั่นคงเข้มแข็ง เพื่อการสืบพระธรรมวินัยไว้ให้ยิ่งยาวนานในโลกนี้สืบไป

ก่อนปีพุทธศักราช ๒๕๕๓ ผู้เดินทางไปราชคฤห์จะได้พบเห็นความสงบเงียบอยู่ในท่ามกลางความมืดของเวฬุวันมหาวิหาร แม้ในวันมาฆบูชา... ที่ถูกทอดทิ้งไว้อย่างเงียบเหงา ไร้ศาสนิกชน/ไม่มีพุทธบริษัทเดินทางร่วมกันประกอบศาสนกิจ แม้วันสำคัญทางพุทธศาสนาที่เรียกว่า วันมาฆบูชา อันอุบัติเกิดขึ้นในดินแดนศักดิ์สิทธิ์ที่พระพุทธองค์ทรงประทับถึง ๕ พรรษา และทรงเป็นสถานที่ประดิษฐานหัวใจพระพุทธศาสนา รองรับพระโอวาทปาติโมกข์ ซึ่งเป็นดุจธรรมนูญแม่บทของพระธรรมวินัย

พระอาจารย์อารยะวังโส จึงได้นำคณะสงฆ์นานาชาติ โดยมีพระสังฆราชาจากศรีลังกา แห่งสยามอุบาลีมหานิกายฝ่ายอรัญญวาสี ที่เพิ่งทรงละสังขารไปเป็นองค์ประธาน ท่ามกลางคณะสงฆ์จากทั้งสองนิกายใหญ่จำนวนมากมายที่เดินทางมาร่วมประชุมกันเนื่องในวันมาฆบูชาเป็นครั้งแรก ณ เวฬุวันมหาวิหาร ระหว่างวันที่ ๒๖-๒๘ ก.พ. ๒๕๕๓ โดยมีตัวแทนจากรัฐบาลแห่งรัฐพิหาร อินเดีย ซึ่งเป็นหัวหน้าวิปรัฐบาลในขณะนั้น พร้อมเอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงเดลี (นายกฤต ไกรจิตติ) มาร่วมงานร่วมกับบุคคลสำคัญอีกจำนวนมาก ทำให้การจัดงานมาฆบูชาในปีแรกนั้นสำเร็จไปด้วยดี โดยเฉพาะการจัดงานมาฆบูชาคู่ขนานที่ดิคชาภูมี นครนาคปุระ รัฐมหาราษฎร์ ที่ชาวพุทธในอินเดียจำนวนหลายหมื่นคนลุกขึ้นมาจัดเป็นครั้งแรก ภายใต้การนำของพระอาจารย์อารยะวังโส เพื่อแสดงให้เห็นความสำคัญที่สุดของพระโอวาทปาติโมกข์ที่ชาวพุทธไม่ควรลืมเลือน เพราะนั่นคือประธานของพระธรรมคำสั่งสอนในพระพุทธศาสนาที่สำคัญที่สุด

ร่วมอธิษฐานจิต สืบอายุพุทธศาสนา ในมาฆบูชา ปี’๕๙

 

สื่อมวลชนในอินเดียได้ตอบรับงานมาฆบูชาด้วยการเผยแพร่ข่าวสารไปทั่ว โดยสรุปตรงกันเกือบทุกสื่อว่า การจัดงานครั้งนี้เป็น “... marks the historic day of Buddhist in India” ...การจัดงานมาฆบูชาจึงดำเนินมาอย่างต่อเนื่องภายใต้การสนับสนุนของทุกฝ่ายในอินเดีย ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายรัฐบาลอินเดีย องค์กรพุทธศาสนานานาชาติ เช่น มหาโพธิสมาคม ฯลฯ และศาสนิกชนชาวไทย โดยเฉพาะสถานทูตอินเดียประจำประเทศไทย จะขาดอยู่บ้างคือ ความสนใจจากคณะสงฆ์ไทยที่มุ่งเดินหน้าไปตามความสนใจของแต่ละกลุ่ม ...แต่ละคณะ จนยากที่จะมารวมตัวกัน

ปีพุทธศักราช ๒๕๕๙ เป็นการจัดงานมาฆบูชาโลกครั้งที่ ๗ เกิดขึ้น ณ เวฬุวันมหาวิหาร อีกครั้ง ในวันที่ ๒๒ ก.พ. ๒๕๕๙ โดยมี พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา เสด็จเป็นองค์ประธาน จึงเป็นปีแห่งการเฉลิมฉลองอย่างยิ่งใหญ่ที่สุด ด้วยพระโอวาทปาติโมกข์ที่ทรงแสดงถึงความเป็นหลักธรรมเพื่อสันติและความสุขอย่างแท้จริง อันเป็นประโยชน์แก่มหาชน... และเพื่ออนุเคราะห์โลกนี้ จึงมีศาสนิกชนชาวไทยที่หลั่งไหลไปรวมกันที่เวฬุวันมหาวิหาร ร่วมกับคณะชาวพุทธในอินเดียที่เดินทางมาจากหลายแห่ง เพื่อการเฉลิมฉลองพระธรรมเจติยะโอวาทปาติโมกข์ เพื่อร่วมกันอธิษฐานประกาศเขตสังฆกรรมในเวฬุวันฯ ที่จะอุบัติขึ้นอย่างศักดิ์สิทธิ์ ด้วยเจตจำนงที่มุ่งหวังให้พระพุทธศาสนามีอายุสืบต่อไปตราบนานเท่านาน ...จึงควรอย่างยิ่งที่สาธุชนจะได้ร่วมกันส่งใจไปถวายการสักการบูชาพระผู้มีพระภาคเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ เนื่องในวันมาฆบูชาประจำปีนี้โดยพร้อมเพรียงกัน เพื่อตั้งจิตอธิษฐาน... ขอให้พระพุทธศาสนาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่แสดงหนทางแห่งความหมดจดแก่เหล่าสัตว์ผู้สมควร จงดำรงอยู่ในโลก สิ้นกาลนานเทอญ...

เจริญพร