posttoday

ศาสนาช่วยส่องทาง ปลุกจิตสำนึก 'พลเมืองตื่นรู้'

09 กุมภาพันธ์ 2559

ทั่วโลกมีผู้นับถือศาสนาคริสต์มากที่สุด รองลงมาคือ ศาสนาอิสลาม ศาสนาฮินดู และศาสนาพุทธ

โดย...พริบพันดาว ภาพ...คลังภาพโพสต์ทูเดย์

ทั่วโลกมีผู้นับถือศาสนาคริสต์มากที่สุด รองลงมาคือ ศาสนาอิสลาม ศาสนาฮินดู และศาสนาพุทธ ส่วนในประเทศไทยมีผู้นับถือศาสนาพุทธมากที่สุด รองลงมาคือ ศาสนาอิสลาม ศาสนาคริสต์  ศาสนาฮินดู และศาสนาซิกข์  การเข้าใจหลักคำสอนของศาสนา ช่วยให้ประพฤติปฏิบัติตนอยู่ในกรอบจารีตประเพณีเป็นคนดีของสังคม

หากเข้าใจหลักคำสอนของศาสนาอื่นๆ ด้วย ยิ่งจะทำให้เข้าใจผู้อื่น และอยู่ร่วมกันในสังคมได้อย่างเข้าใจและมีความสงบสุข

ศาสนาถือเป็น 1 ใน 3 ของสถาบันหลักของชาติ ซึ่งประกอบด้วย ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ เพราะฉะนั้นศาสนาทุกศาสนาที่มีผู้คนนับถือจึงเป็นเบ้าหลอมของความเป็นพลเมืองที่ดีของประเทศได้

"พลเมือง" ซึ่งประกอบด้วยคำว่า พละ + เมือง นั้น หมายถึง “กำลังของเมือง” โลกยุคปัจจุบันไม่ได้ต้องการพลเมืองเพียงอย่างเดียว แต่ต้องการพลเมืองที่มีความกระตือรือร้น ใคร่ใฝ่หาความรู้ และพร้อมที่จะมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนสังคมไปสู่ความถูกต้องดีงามอย่างยั่งยืน ซึ่งเรียกกันว่า Active Citizen มีคำแปลเป็นภาษาไทยที่แตกต่างกันไป อาทิ พลเมืองตื่นรู้ พลเมืองสร้างสรรค์ หรือแม้กระทั่งพลเมืองดี

พลเมืองเหล่านี้ล้วนต้องมีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม เรียนรู้และเข้าใจเรื่องของสิทธิและความรับผิดชอบ รู้หน้าที่ มีเป้าหมาย ทำตามคำมั่นสัญญา ไม่หวังสิ่งตอบแทน เคารพความแตกต่างของผู้อื่น ไม่เอาเปรียบ ไม่ตัดสินจากภายนอก ไม่หลงตัวเอง คิดนอกกรอบ คิดเป็น ทำเป็น รู้จักตั้งคำถาม คิดวิเคราะห์ ลงมือทำอย่างมีเป้าหมาย และอีกมากมาย

คนที่เรียกว่าเป็นพลเมืองตื่นรู้จะมีบทบาทในชุมชน มีจิตอาสา กระทำสิ่งต่างๆ โดยไม่หวังผลตอบแทนแก่ตนเอง และจิตสาธารณะ มีจิตที่เห็นแก่ประโยชน์ของสังคมเป็นหลัก ศรัทธาในการรีไซเคิลทรัพยากรเพื่อถนอมสิ่งแวดล้อม รักสันติภาพ ร่วมบริจาคทรัพยากร เพราะตระหนักดีว่าเป็นความรับผิดชอบของตน

การปลุกพลังข้างในสู่การรู้หน้าที่เพื่อเปลี่ยนสังคม เพื่อประเทศน่าอยู่ ศาสนาเป็นพื้นฐานสำคัญในการที่จะขัดเกลาและปลุกจิตสำนึกของพลเมืองให้เข้าสู่บทบาทของ “พลเมืองตื่นรู้”

ศาสนาช่วยส่องทาง ปลุกจิตสำนึก 'พลเมืองตื่นรู้'

ทุกศาสนาล้วนมีคำสอนที่งดงามและมีคุณค่า

การสัมมนาในหัวข้อ “เรียนรู้ เข้าใจ เข้าถึง ศาสนาและวัฒนธรรมสำคัญของโลก พุทธ คริสต์ อิสลาม” วีระ โรจพจนรัตน์ รมว.วัฒนธรรม กล่าวในการแสดงปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ “ศาสนา...พื้นฐานสำคัญสู่บทบาทการเป็น active citizen” ว่าได้เขียนนโยบายด้านศาสนา ศิลปะ และวัฒนธรรม โดยจะทำใน 3 มิติ

“ในมิติที่หนึ่งคือ ต้องใช้ศาสนา ศิลปะ และวัฒนธรรมสร้างคนให้เป็นคนดี สร้างสังคมให้เป็นสังคมแห่งความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ปรองดอง สมานฉันท์ มิติที่สองคือ จะใช้วัฒนธรรมในเรื่องของการสร้างรายได้และสร้างความมั่งคั่งให้ชาติ คือการนำทุนทางวัฒนธรรมมาเป็นสินค้า การส่งเสริมการใช้ผลิตภัณฑ์มีต้นทุนทางวัฒนธรรมทางภูมิปัญญา รวมทั้งแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม ประเพณีต่างๆ มิติที่สามคือ การใช้วัฒนธรรมในการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ สร้างเกียรติภูมิของไทยและภาพลักษณ์ไทยในเวทีโลก

การสร้างคนให้เป็นคนดีและสร้างสังคมให้เป็นสังคมที่ดี ในฐานะพลเมืองตื่นรู้ วีระ บอกว่าทำใน 2 มิติ คือ ศาสนาและวัฒนธรรม

“เรื่องของศาสนา ผมเพิ่งกลับจากอินเดีย ไปศูนย์กลางศาสนาซิกข์ เพื่อศึกษาธรรมะ และเชื่อมความสัมพันธ์ คนในศาสนาซิกข์ส่วนใหญ่ไม่รู้จักกัน แล้วก็ได้เดินทางไปสุวรรณวิหารเพื่อพบผู้นำศาสนา แล้วก็ได้คุยเรื่องความร่วมมือเพื่อให้คนในศาสนาซิกข์ที่อยู่ในสังคมไทยมีส่วนร่วมกับสังคมต่างๆ และอีกที่ที่ไปคือศูนย์กลางศาสนาฮินดู สาเหตุที่ไปเรียนรู้สองศาสนานี้เนื่องจากในปีหน้าจะครบรอบ 70 ปี ความสัมพันธ์ไทย-อินเดีย เพราะฉะนั้นศาสนาที่กรมการศาสนารับรองมี 5 ศาสนา คือ พุทธ คริสต์ อิสลาม พราหมณ์-ฮินดู และซิกข์ แต่ว่าจาก 5 ศาสนานี้ มี 3 ศาสนาอยู่ในอินเดีย เหมือนเป็นต้นทางของ 3 ศาสนา”

วีระ ชี้ว่าในยุคนี้ต้องส่งเสริมให้คนเข้าถึงศาสนาได้จริงๆ กระทรวงวัฒนธรรมก็ต้องส่งเสริมให้คนใช้หลักธรรมในการดำเนินชีวิต ทุกศาสนามีการพูดถึงเรื่องกรรมดีกรรม และสอนให้คนทำความดีด้วยกันทั้งสิ้น

“ศาสนิกชนที่อยู่ในเมืองไทยทั้ง 5 ศาสนา ผมคิดว่าเราอยู่กันอย่างสันติมาก หากแม้มีความเดือดร้อน ผู้นำศาสนาทั้ง 5 ศาสนาก็จะมาร่วมมือกัน เห็นได้ว่าตอนนั้นที่มีการรณรงค์จัดคอนเสิร์ตออกทีวีเชิญชวนคนมาบริจาคเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่เฮติ หลังจากนั้นก็เกิดสึนามิที่ญี่ปุ่น ต่อมาคือแผ่นดินไหวที่เนปาล ผู้นำศาสนาและศาสนิกชนทุกศาสนาก็จะมาร่วมกันทำกิจกรรมและรณรงค์หาเงินบริจาคร่วมกัน เราได้เงินเป็นจำนวนมากทุกครั้ง

“เพราะฉะนั้นเราส่งเสริมให้ผู้คนมีส่วนร่วมในการทำสาธารณประโยชน์ สาธารณกุศลร่วมกันเป็นอย่างดี ล่าสุดเราก็ไปจัดมาทุกครั้งจะมี 3 ศาสนาร่วมกัน คือ โบสถ์คริสต์ มัสยิดของอิสลาม และวัดของพุทธ และผู้คนต่างศาสนาก็อยู่กันอย่างสันติสุข และผมคิดว่าตรงนี้เป็นสีสันของชุมชน และผู้นำของ 3 ศาสนาก็สามัคคีกัน”

ทางด้าน คิม จงสถิตย์วัฒนา รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท นานมีบุ๊คส์ พูดถึงพลเมืองตื่นรู้กับศาสนาที่จะมาเป็นพื้นฐานขัดเกลา โดยอ้างถึง ลินดา เค.เวอร์เธียเมอร์ นักเขียนของหนังสือพิมพ์วอชิงตันโพสต์ ที่เขียนบทความชื่อ “โรงเรียนไม่ควรเทศน์ แต่ควรสอนเด็กๆ เกี่ยวกับศาสนา”

“บทความนี้บอกว่าการสอนเรื่องศาสนาต่างๆ ในโรงเรียน จะช่วยให้เด็กๆ สร้างความคิดเห็นแบบมีความรู้และปลูกฝังให้พวกเขาเป็นพลเมืองของโลกที่มีสำนึกรู้ได้ ในการพัฒนาระบบการศึกษาของประเทศ จำเป็นที่ต้องคุยกันถึงวิธีการสอนศาสนาแบบ Best Practice จะพัฒนาครูอย่างไร ควรเริ่มสอนตั้งแต่เมื่อไร เราต้องเข้าใจว่าการสอนศาสนาในโรงเรียน ไม่ใช่แค่เป็นเรื่องที่โอเค แต่เป็นเรื่องที่ต้องทำ เพราะถึงแม้ว่าระบบการศึกษาไม่อาจขจัดความขลาดเขลาได้ แต่อย่างน้อยก็ช่วยลดระดับได้”

ศาสนาช่วยส่องทาง ปลุกจิตสำนึก 'พลเมืองตื่นรู้'

พุทธ คริสต์ อิสลาม กับบทบาทการสร้างพลเมืองตื่นรู้

ต้องยอมรับกันว่าศาสนาทุกศาสนาในเมืองไทยสามารถเข้าถึงและกล่อมเกลาจิตใจของผู้คนในศาสนานั้นๆ ได้มากที่สุด ซึ่งเป็นพื้นฐานที่สำคัญในการที่จะสร้างพลเมืองตื่นรู้ทั้งด้านคุณภาพและปริมาณ โดยไม่มีข้อจำกัดในเรื่องอายุและเพศ พระศรีธรรมภาณี พระราชาคณะชั้นสามัญ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร มองว่าการใช้วิถีพุทธมาสร้างพลเมืองสร้างสรรค์ต้องเน้นนำผ่านครูและการศึกษา

“บทบาทของครูคือผู้ที่ชี้แนะแนวทาง หรือชี้นำความสว่างไสวให้กับลูกศิษย์ สังคมได้เปลี่ยนไปมาก ดังนั้นพุทธปรัชญาการศึกษาจึงพูดคำว่า โรงเรียนวิถีพุทธ เพื่อที่จะไปช่วยลูกหลานให้เป็นไปตามแผนการศึกษา 'เก่ง ดี มีความสุข' วิธีเป็นคนเก่งทำไม่ยาก คนเก่งมีเต็มไปหมด แต่กลายเป็นส่วนมากคนเก่งจะมีปัญหา”

สมัยนี้คนโดยมากมักคิดว่าการสอนศาสนาเป็นเรื่องมัวเมา พระศรีธรรมภาณี ชี้ว่าเป็นความเข้าใจผิด ซึ่งการสร้างคนให้เป็นพลเมืองตื่นรู้ต้องมุ่งไปสู่สติในหลักพื้นฐานคือ “กิน” “อยู่” “ดู” “ฟัง”

“ในการสอนเด็กตามแนววิถีพุทธ คือ กิน อยู่ ดู ฟัง ที่เป็นพฤติกรรมประจำวันของเด็กโดยใช้หลักไตรสิกขา คือ ศีล สมาธิ ปัญญา นำไปร้อยเรียงเป็นกิจกรรม เพราะทุกอย่างในเด็กต้องผ่านกิจกรรมอยู่แล้ว ซึ่งวิธีเหล่านี้จะดีได้ต้องผ่านการฝึกอบรม แล้วสอนให้เขาคิดเป็นต่อไปข้างหน้า ต้องทำให้อยู่กับสังคมได้อย่างปลอดภัยและมีความสุข ดังนั้นคำว่าสันติภาพมันเกิดขึ้นที่ใจ ซึ่ง 3 ศาสนาพูดตรงกัน คือ มีเมตตา มีความรัก รู้จักอดกลั้น ซึ่งเมตตากับอดกลั้นทำให้อยู่เย็นเป็นสุข โลกมีเมตตา โลกโสภีเพราะคนมีเมตตา โลกไร้โสภาเพราะเมตตาของคนไม่มี”

ประธานคณะอนุกรรมการคณะผู้ทรงคุณวุฒิจุฬาราชมนตรี สันติ เสือสมิง ที่มองว่า สันติ ซึ่งภาษาอาหรับออกเสียงว่า ซาลาม คือต้นธารของพลังพลเมืองตื่นรู้

“การทักทายสำหรับชาวมุสลิมทั่วโลก ไม่ว่าจะภาษาใด สีผิวใด เวลาเจอกันหรือจากลากันจะมีประโยคที่ใช้เฉพาะซึ่งเป็นคำภาษาอาหรับหรือภาษาอารบิก นั่นคือคำว่า 'อัสซาลามมาเลกุม' ซึ่งแปลว่า สันติจงมีแด่ท่าน ซึ่งเป็นการอวยพร เวลาเจอหน้ากันถ้าเขารู้ว่าเป็นมุสลิมเขาก็จะทักทายด้วยคำว่า 'อัสซาลามมาเลกุม' ดังนั้นคำว่า 'ซาลาม' มีความหมายว่า สันติ”

สันติ ขยายความว่า คำว่า “อัสซาลาม” ถูกกล่าวไว้ในพระมหาคัมภีร์อัลกุรอานถึง 32 ครั้ง

“การกล่าวว่า 'ซาลาม' ยังเป็นการตอบโต้กลับไปยังคนที่โง่เขลา ไม่ใช่ว่าเขาด่าเรา เราก็ด่ากลับตอบโต้ เพราะผลการพูดซาลามมันก็จะกลับมายังตัวเรา มารยาทในชาวมุสลิม เช่น คนที่เดินต้องให้ซาลามแก่คนที่นั่ง คนจำนวนน้อยให้ซาลามแก่คนจำนวนมาก ผู้น้อยให้ซาลามแด่ผู้อาวุโสหรือกลับกันก็ได้ หรือเมื่อตอนมาชุมนุม คนที่มาถึงต้องให้ซาลาม และเมื่อจะออกจากที่ชุมนุมก็ให้จากบุคคลเหล่านั้นด้วยการให้ซาลาม”

ศาสนาช่วยส่องทาง ปลุกจิตสำนึก 'พลเมืองตื่นรู้'

มุขนายกยอแซฟ ชูศักดิ์ สิริสุทธิ์ เลขาธิการสภาประมุขบาทหลวงโรมันคาทอลิกแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ผลกระทบในยุคโลกาภิวัตน์มีทั้งด้านบวกและด้านลบ เห็นความขัดแย้งที่มาสู่ความรุนแรงและการคุกคามของสงครามให้เห็นอย่างต่อเนื่อง

“สมัยก่อนถ้าอยู่ต่างฝ่ายต่างศาสนาแล้วพายเรือแข่งกัน เอาแพ้เอาชนะ พยายามสกัดไม่ให้คนอื่นเด่นกว่า เห็นต่างศาสนาเป็นศัตรู แต่วันนี้ไม่ใช่ ตามที่ท่านพุทธทาสได้บอกไว้ว่า เราเป็นมิตร ศัตรูที่แท้จริงคือเอามนุษย์ออกจากโลกของศาสนา ดังนั้นศาสนิกชนในยุคนี้ไม่ได้มีหน้าที่แข่งขันกันอีกต่อไป แต่จะต้องหาความร่วมมือพัฒนาสังคมโลกให้มีความเจริญก้าวหน้าต่อไป และเกิดสันติสุขอย่างแท้จริง”

ยุคนี้ต้องชำระศาสนา มุขนายกยอแซฟ มองว่าจะต้องปฏิบัติตามหลักศาสนาอย่างถูกต้องไม่สุดโต่ง โดยเฉพาะการสร้างให้พลเมืองตื่นรู้ขึ้น

“สันติภาพเป็นอะไรที่ต้องลงทุน ต้องปกปักรักษา ต้องออกแรงและเสียสละ ซึ่งจะทำคนเดียวไม่ได้ ต้องช่วยกันหมดทั้งฝ่ายการเมืองและฝ่ายศาสนา เพราะเราทุกคนมีความเกี่ยวข้องเชื่อมโยง ยังจำเป็นอย่างยิ่งที่จะตั้งองค์การที่ส่งเสริมสันติภาพในสังคม ซึ่งปัจจุบันยังมีไม่เพียงพอ ต้องสอนประชาชนให้แข็งขันที่จะเคารพยกย่องกันและกัน หากคิดเห็นไม่ตรงกัน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ก็ควรรำลึกไว้เสมอว่า เราต่างก็เป็นพี่น้องหญิงชายของกันและกัน ดังนั้นจะสอนกันและกัน และสอนตัวเราเอง ไม่ให้มองเพื่อนบ้านเป็นศัตรูหรือคู่อริที่ต้องกำจัดออกไป ปฏิเสธการแก้แค้น และรู้จักการให้อภัยมากขึ้น”

ปิดท้ายด้วยศาสนาจารย์ ดร.ศึกษา เทพอารีย์ ศิษยาภิบาลคริสตจักรวัฒนา บอกว่า เมื่อเราจะสร้างพลเมืองตื่นรู้ที่จะต้องไปสร้างประเทศชาติ ในศตวรรษที่ 21 นี้ จึงขอเสนอทฤษฎีของ โฮเวิร์ด การ์ดเนอร์

“นักการศึกษาจะรู้จักคนนี้ดี เป็นปรมาจารย์ด้าน Five Minds for the Future หรือห้าจิตคิด ซึ่งเป็นเรื่องของการสอนความรัก สอนศาสนาในโรงเรียน โดยต้องเริ่มจาก Disciplinary Mind คือสอนให้มีจิตคิดเรื่องของทักษะ การมีวินัยในการเรียนรู้ การจัดระเบียบของชีวิต การหาความรู้อย่างมีระบบทำให้สามารถพัฒนาทักษะความรู้ด้านนี้ เมื่อมีสิ่งนี้จะนำไปสู่การมี Synthesizing Mind คือจิตสังเคราะห์ ทุกวันนี้เรามีข้อมูลเยอะมาก แต่จะสอนยังไงให้คนสามารถสังเคราะห์ความดี ให้รู้จักแยกแยะว่าอะไรคือความดี อะไรคือความชั่ว”

พลเมืองที่ดีจะมีกฎอยู่ในใจ ไม่ว่าจะเป็นกฎหมาย กฎบัญญัติ ธรรมบัญญัติ หรือกฎเกณฑ์ต่างๆ ที่ควบคุมสังคมอยู่ ศาสนาจารย์ ดร.ศึกษา ชี้ว่า สิ่งที่เหนือกว่านั้นคือกฎเกณฑ์ทางจริยธรรม

“เพราะฉะนั้นต้องสอนให้คนรู้จักสังเคราะห์ และตกผลึกความคิดในเชิงจริยธรรมให้ได้ โดยผ่านจิตอันที่ 3 คือ Creating Mind คือ จิตสร้างสรรค์ คิดต่อยอด หมายความว่าเขาจะคิดสร้างสรรค์ให้สังคมดีกว่านี้ได้ยังไง เราจะต้องเรียนรู้จากประวัติศาสตร์ ต่อมาคือ Respectful Mind คือจิตเคารพ ให้เกียรติซึ่งกันและกัน ทั้ง 3 ศาสนาต้องให้เกียรติซึ่งกันและกัน อยู่ร่วมกันได้ สุดท้ายคือ Ethical Mind คือจิตรู้จริยธรรม ซึ่งเป็นสิ่งที่สูงที่สุด และจิตรู้จริยธรรมในทางศาสนาคริสต์คือเรื่องของความรัก ทั้งห้าลักษณะนี้สามารถสร้างคนให้เป็นคนดี”

การปลูกฝังการยอมรับซึ่งกันและกัน ศาสนาจารย์ ดร.ศึกษา บอกว่า หมายความว่าสามารถอยู่ได้แม้มีความเชื่อที่แตกต่าง แต่จะไม่แตกแยก ต้องเคารพซึ่งกันและกัน

“ควรมีการเวิร์กช็อปของความขัดแย้ง หรือปฏิเสธวิทยา คือเราจะทำอย่างไรให้เขาสามารถอยู่ในความขัดแย้งได้อย่างมีความสุข เป็นฟอรั่มของความคิดเห็นที่แตกต่าง ต้องทำให้อยู่ด้วยกันได้ด้วยความรักภายใต้กฎจริยธรรมการเรียนรู้ที่พัฒนาขึ้นเรื่อยๆ ศาสนาทุกศาสนาสอนให้ทุกคนเป็นคนดี แต่ปัญหาคือเราจะสอนอย่างไรให้คนเป็นคนดีถ้าไม่เริ่มจากตัวเองก่อน ต้องเริ่มต้นที่ตัวเราก่อน เริ่มที่ครอบครัว เริ่มที่สังคมของเรา ถ้าทุกศาสนาจับมือกันแล้วชูประเด็นคุณธรรมและจริยธรรมประเทศชาติของเราจะมีความหวัง”