posttoday

มาฆะ’๕๙ ... เวฬุวัน อินเดีย!

07 กุมภาพันธ์ 2559

เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธามั่นคงในพระพุทธศาสนา ...ย่างเข้าสู่เดือน ก.พ.ของทุกปี

โดย...พระอาจารย์อารยะวังโส

เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธามั่นคงในพระพุทธศาสนา ...ย่างเข้าสู่เดือน ก.พ.ของทุกปี อาตมามีศาสนกิจที่ถือปฏิบัติมาโดยตลอด คือ การเชิญชวนชาวพุทธในอินเดีย รวมถึงชาวพุทธนานาชาติมาร่วมจัดงานมาฆบูชา ที่ชาวอินเดียเรียก Magha Purnima...

ด้วยความสำคัญของวันมาฆบูชาในพระพุทธศาสนา ที่แสดงพระโอวาทปาติโมกข์ อันเป็นดุจธรรมนูญแม่บทของพระธรรมคำสั่งสอนในพระผู้มีพระภาคเจ้า... จึงเป็นแรงบันดาลใจให้อาตมาลุกขึ้นมาทำงานดังกล่าว อย่างมิต้องมีใครมาบัญชา...

จึงนำไปสู่การฟื้นฟูวันมาฆบูชาในชมพูทวีป (อินเดียฯ) ให้คืนกลับมาอีกครั้งหนึ่งอย่างเป็นทางการ เมื่อปีพุทธศักราช ๒๕๕๓ ในครั้งนั้น... พระสังฆราชาแห่งคณะสงฆ์ศรีลังกา-สยามวงศ์/อรัญญวาสี ได้มีพระเมตตารับเป็นองค์ประธาน งานมาฆบูชาในปีแรกจึงมีคณะสงฆ์จากทั้งมหายานและเถรวาทจากประเทศต่างๆ เข้าร่วมกันจำนวนมาก ณ เวฬุวันมหาวิหาร หรือ สวนป่าเวฬุวันในปัจจุบัน

การจัดงานมาฆบูชาในครั้งแรก ท้าทายความรู้สึกของหมู่คณะมาก โดยเฉพาะพระผู้ใหญ่บางรูปที่กล่าวว่า... ยากที่จะจัดได้ในเวฬุวันฯ ด้วยรัฐบาลฮินดูคงไม่ยอม... และมหาเถรสมาคมของไทยไม่มีมติอนุญาต...

ทำให้รูปแบบของการจัดงานมาฆบูชา ที่แม้ว่าจะเกิดจากอาตมาที่เป็นพระสงฆ์ไทย แต่กลับสนับสนุนโดยมหาโพธิสมาคมในอินเดียและองค์กรพุทธศาสนานานาชาติ... จึงไม่แปลกที่ชื่อพระสังฆราชาของคณะสงฆ์ศรีลังกา (สยามวงศ์) เป็นองค์ประธาน

มาฆะ’๕๙ ... เวฬุวัน อินเดีย!

 

จุดสำคัญของการจัดงานมาฆบูชาในปีแรกบนแผ่นดินพุทธภูมินั้น ปรากฏอยู่สองกรณี ได้แก่...

๑.การรวมตัวกันจัดงานมาฆบูชาของคณะสงฆ์นานาชาติทั้งสองนิกายใหญ่จากชาติต่างๆ ที่เวฬุวันมหาวิหาร แห่งพระนครราชคฤห์ แคว้นมคธในอดีต (รัฐพิหาร/อินเดีย) โดยได้รับการอนุญาตจากหน่วยงานของรัฐบาลอินเดีย ซึ่งมีบุคคลระดับสูงฝ่ายรัฐบาลแห่งรัฐพิหาร/อินเดีย มาร่วมงานกล่าวต้อนรับและแสดงเจตนาการสนับสนุนการจัดงานมาฆบูชาในครั้งต่อๆ ไป...

๒.การนำชาวพุทธในอินเดีย รวมถึงพระภิกษุในรัฐมหาราษฏระ/อินเดีย มาร่วมกันจัดงานมาฆบูชาโลกเป็นครั้งแรก ณ ดิคชาภูมี นครนาคปุระ... ในครั้งนั้นมีชาวอินเดียที่แสดงตนเป็นชาวพุทธจำนวนหลายหมื่นคนเดินทางมาร่วมงาน มีกิจกรรมการให้ความรู้ตามหลักธรรมคำสั่งสอนของพระผู้มีพระภาคเจ้าตลอดวันจนถึงภาคค่ำ ก่อนจะประทักษิณเวียนเทียนกันครั้งแรกที่ยิ่งใหญ่ ชาวพุทธในอินเดียได้เข้าใจและเห็นความสำคัญของพระโอวาทปาติโมกข์ นับเป็นครั้งแรก

ในครั้งนั้น สื่อมวลชนในอินเดียสนใจติดตามข่าวสารการจัดงานมาฆบูชาครั้งแรกในชมพูทวีปกันมาก จนมีการพาดหัวเป็นภาษาอังกฤษ แปลว่า “วันประวัติศาสตร์ของชาวพุทธในอินเดียเกิดขึ้นแล้ว...”

ในปีนี้นับเป็นครั้งที่ ๗ แห่งการจัดงานมาฆบูชาที่เวฬุวันมหาวิหาร คณะกรรมการจัดงานที่เป็นศิษย์ศรัทธาในอาตมา ได้พร้อมใจกันกับองค์กรสงฆ์นานาชาติ ที่เพิ่งประชุมไปที่พุทธคยา ณ มหาโพธิสมาคมของอินเดีย ได้เตรียมขับเคลื่อนวันมาฆบูชา เนื่องในความเป็นวันสันติภาพโลกอย่างยิ่งใหญ่ ด้วยการเฉลิมฉลองเขตสังฆกรรม ณ ลานพระโอวาทปาติโมกข์ ที่ประดิษฐานพระมหาธรรมเจดีย์ “โอวาทปาติโมกข์” ที่สร้างแล้วเสร็จในปีพรรษาพุทธศักราช ๒๕๕๗ และพัฒนาอย่างต่อเนื่องจนสมบูรณ์ในปัจจุบัน พร้อมต่อการสมโภชเฉลิมฉลองเนื่องในวันมาฆบูชาประจำปี ๒๕๕๙

คณะศรัทธาชาวไทยจำนวนมาก จึงพร้อมใจกันเดินทางไปร่วมงานมาฆบูชา ... เวฬุวันมหาวิหารในครั้งนี้ โดยจะมีบุคคลระดับสูงของประเทศ เสด็จเป็นองค์ประธานการเปิดงาน... ซึ่งจะนำมาเขียนเล่าสาระสำคัญของการจัดงานมาฆบูชาครั้งที่ ๗ ประจำปีนี้ในตอนต่อไป โดยเฉพาะในความหมายแห่งครั้งสุดท้าย ก่อนจะส่งมอบให้ชาวพุทธในอินเดียและนานาชาติ... รับสืบสานวันมาฆบูชา ณ เวฬุวันมหาวิหารต่อไปและต่อๆ ไป...

เจริญพร