posttoday

ประวัติ : สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง ป.ธ.9)

17 มกราคม 2559

ประวัติโดยย่อ สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง ป.ธ.9)

โดย...สมาน สุดโต

กรรมการมหาเถรสมาคม ที่ประชุมเป็นกรณีพิเศษ เมื่อวันที่ 5 ม.ค. 2559 ที่ห้องประชุมพุทธมณฑล ได้เปล่งเสียงสาธุพร้อมกัน เมื่อสมเด็จพระะวันรัต กรรมการมหาเถรสมาคม เจ้าคณะใหญ่ธรรมยุต เสนอต่อที่ประชุมให้เห็นชอบที่จะเสนอนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เพื่อทูลเกล้าฯ ให้สถาปนาสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรปุญฺโญ ป.ธ 9) ผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช เจ้าอาวาสวัดปากน้ำ ขึ้นเป็นองค์พระประมุข สกลมหาสังฆปริณายก ของคณะสงฆ์ไทย เพราะเพียบพร้อมด้วยคุณวุฒิ วัยวุฒิ ประพฤติพรหมจรรย์ มีจริยาวัตรงดงาม เป็นปูชนียะของบุคคลทั่วไป

ต่อมา ที่ประชุมมหาเถรสมาคม (มส.) เมื่อวันที่ 11 ม.ค. 2559 ณ สถานที่เดียวกัน ได้รับรองรายงานการประชุมพิเศษ เมื่อวันที่ 5 ม.ค. 2559 โดยเอกฉันท์

ประวัติสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ โดยย่อ

สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ อายุ 90 ปี ชื่อเดิม ช่วง นามสกุล สุดประเสริฐ เกิดเมื่อวันพุธที่ 26 ส.ค. 2468 ที่บ้านเลขที่ 32 ต.ราชาเทวะ อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ โยมบิดาและโยมมารดา ชื่อ มิ่ง และ สำเภา สุดประเสริฐ

บรรพชาเมื่อวันจันทร์ที่ 1 พ.ค. 2482 ณ วัดสังฆราชา เขตลาดกระบัง กรุงเทพมหานคร อุปสมบทเมื่อวันศุกร์ที่ 11 พ.ค. 2488 ณ พัทธสีมาวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ กรุงเทพมหานคร โดยมี พระครูบริหารบรมธาตุ (ป่วน เกสโร) วัดนางชี เป็นพระอุปัชฌาย์ พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) เมื่อครั้งดำรงสมณศักดิ์ ที่ พระครูสมณธรรมสมาทาน เป็นกรรมวาจาจารย์ ได้รับฉายานามว่า “วรปุญฺโญ”

ด้านการศึกษา นอกจากจบประถมศึกษา จากโรงเรียนประชาบาลวัดสังฆราชา เมื่อบรรพชาเป็นสามเณร และอุปสมบทเป็นพระภิกษุ ได้เรียนปริยัติธรรม และสอบได้ชั้นสูงสุดคือ เปรียญธรรม 9 ประโยค โดยมีเพื่อนร่วมเรียนอีก 5 รูป ที่อาจารย์ น.อ.แย้ม ประพัฒน์ทอง เรียกว่าพระเจ้า 5 พระองค์ ได้แก่ เกี่ยว นิยม พลอย ช้อย ช่วง เพราะเรียนจบ ป.ธ.9 ไล่เลี่ยกัน (เป็นสมเด็จพระราชาคณะ 3 รูป คือ  สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว)  สมเด็จพระมหาธีราจารย์ (นิยม) สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง)

การปฏิบัติงาน

ท่านมีปฏิปทาและจริยาวัตรงดงาม ปฏิบัติศาสนกิจด้วยวิริยะ อุตสาหะ จนประสบความสำเร็จเกิดประโยชน์ต่อพระพุทธศาสนา จึงได้รับมอบหมายให้ทำงานในตำแหน่งสำคัญๆ ทางคณะสงฆ์ เช่น เมื่อ พ.ศ. 2495 เป็นเลขานุการสังฆนายก สมเด็จพระวันรัต (ปลด กิตฺติโสภโณ) พ.ศ. 2499 เป็นผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดปากน้ำ (พระอารามหลวง) พ.ศ. 2500 เป็นพระอุปัชฌาย์ พ.ศ. 2507 เป็นรองเจ้าคณะภาค 3 พ.ศ. 2508 เป็นเจ้าอาวาสวัดปากน้ำ (พระอารามหลวง) พ.ศ. 2508-2516 เป็นเจ้าคณะภาค 3 รวม 2 สมัย

พ.ศ. 2517-2528 เป็นเจ้าคณะภาค 17 รวม 3 สมัย พ.ศ. 2528-2537 เป็นเจ้าคณะภาค 7
พ.ศ. 2532-ปัจจุบัน เป็นกรรมการมหาเถรสมาคม พ.ศ. 2533-2548 เป็นกรรมการ พศป.
พ.ศ. 2533-ปัจจุบัน เป็นกรรมการ ศ.ต.ภ. พ.ศ. 2537-2558 เป็นเจ้าคณะใหญ่หนเหนือ
พ.ศ. 2548 เป็นคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช
พ.ศ. 2556 เป็นประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช
พ.ศ. 2557 เป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช

ฝ่ายการศึกษา

พ.ศ. 2492-2497 เป็นครูสอนพระปริยัติธรรมแผนกบาลี สำนักเรียนวัดปากน้ำ
พ.ศ. 2489 เป็นกรรมการตรวจประโยคธรรมสนามหลวง
พ.ศ. 2491 เป็นกรรมการตรวจประโยคบาลีสนามหลวง
พ.ศ. 2493-2497 เป็นครูสอนพระปริยัติธรรมสำนักเรียนวัดเบญจมบพิตร

พ.ศ. 2498 เป็นผู้นำประโยคบาลีสนามหลวง ไปทำการเปิดสอบในจังหวัดต่างๆ เป็นเวลาหลายปีติดต่อกัน และเป็นกรรมการอุปถัมภ์มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย

พ.ศ. 2499 เป็นอาจารย์ใหญ่สำนักเรียนวัดปากน้ำ
พ.ศ. 2508 เป็นเจ้าสำนักเรียนวัดปากน้ำ
พ.ศ. 2528-2537 เป็นผู้อำนวยการตรวจธรรมสนามหลวงชั้นตรี ภาค 7
พ.ศ. 2532 เป็นรองแม่กองบาลีสนามหลวง รูปที่ 1
พ.ศ. 2537-2558 เป็นแม่กองบาลีสนามหลวง
พ.ศ. 2538 เป็นกรรมการการศึกษาของคณะสงฆ์

งานเผยแผ่ในประเทศ

พ.ศ. 2537 เป็นรองแม่กองงานพระธรรมทูต รูปที่ 2
เป็นรองประธานคณะพระธรรมจาริก รูปที่ 1
พ.ศ. 2537 เป็นประธานคณะพระธรรมจาริก

งานเผยแผ่ในต่างประเทศ 

พ.ศ. 2527 ได้เริ่มสร้างวัดไทยในสหรัฐ ตั้งชื่อวัดว่า “วัดมงคลเทพมุนี” เมืองฟิลาเดลเฟีย ประเทศสหรัฐ
พ.ศ. 2540 ได้ริเริ่มก่อสร้างวัดไทยแห่งแรกในประเทศญี่ปุ่น ตั้งชื่อว่า “วัดปากน้ำญี่ปุ่น” เมืองชิบะ ประเทศญี่ปุ่น และได้สร้างอุโบสถสถาปัตยกรรมไทย ประกอบพิธีผูกสีมาฝังลูกนิมิต เมื่อวันที่ 9-10 เม.ย. 2548 สิ้นค่าก่อสร้างประมาณ 300 ล้านบาท
 พ.ศ. 2545 ได้ริเริ่มก่อสร้างวัดไทยในประเทศนิวซีแลนด์ ตั้งชื่อว่า “วัดปากน้ำนิวซีแลนด์” เมืองทัวรังง่า ประเทศนิวซีแลนด์ ปัจจุบันกำลังดำเนินการสร้างอุโบสถ และเสนาสนะ สิ้นค่าก่อสร้าง ประมาณ 60 ล้านบาท

ทั้งนี้ ไม่รวมงานสาธารณูปการในฐานะเจ้าอาวาสวัดปากน้ำ ที่สร้างสัปปายะแก่พระภิกษุ สามเณร แม่ชี ผู้ปฏิบัติธรรมในวัดปากน้ำ สม่ำเสมอ

ส่วนงานที่เป็นประวัติศาสตร์  จะเห็นผลงานของเจ้าพระคุณสร้าง หรือสนับสนุนให้สร้างที่เป็นถาวรวัตถุมากมาย เช่น พ.ศ. 2532 สร้างมหาวิหารประดิษฐานพระไตรปิฎกหินอ่อน และพระเจดีย์ถวายเป็นธรรมานุสรณ์ ในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 5 รอบ วันที่ 5 ธ.ค. 2530 และรัชมังคลาภิเษก ในพระบรมราชูปถัมภ์ สิ้นค่าก่อสร้าง จำนวน 200,000,000 บาท (สองร้อยล้านบาทถ้วน)

อย่างไรก็ตาม หากรวบรวมผลงานทั้งหมด ต้องเพิ่มหน้าคอลัมน์นี้ เพราะมีทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับการสร้างความเจริญ และความมั่นคงต่อพระพุทธศาสนาทั้งในประเทศแและต่างประเทศ รวมทั้งการสร้างเพื่อเฉลิมพระเกียรติสถาบันพระมหากษัตริย์ ในวาระและโอกาสสำคัญ เช่น ได้ดำเนินการก่อสร้างอาคารสมุดพระพุทธศาสนา มหาสิรินาถ ในโอกาสที่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงเจริญพระชนมพรรษา 5 รอบ 12 ส.ค. 2535 ณ พุทธมณฑล อ.พุทธมณฑล จ.นครปฐม ค่าก่อสร้าง 200,000,000 บาท (สองร้อยล้านบาทถ้วน) เป็นต้น

ส่วนเกียรติคุณที่สถาบันทั้งในประเทศและต่างประเทศยกย่อง และถวายเจ้าพระคุณสมเด็จนั้น มีมากมายเช่นเดียวกัน

ในโอกาสที่มหาเถรสมาคมเปล่งเสียงสาธุเห็นชอบให้เป็นประมุขสงฆ์องค์ที่ 20 นั้น สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ ย่อมเป็นหลักของคณะสงฆ์และของมวลมหาประชาชน อย่างไม่ต้องสงสัย