posttoday

สังฆราชา...การแต่งตั้งที่ต้องศักดิ์สิทธิ์!!

17 มกราคม 2559

ปุจฉา : การแต่งตั้งพระสังฆราช องค์ที่ ๒๐ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์/ไทย จะเป็นอย่างไร...

โดย...พระอาจารย์อารยะวังโส

ปุจฉา : การแต่งตั้งพระสังฆราช องค์ที่ ๒๐ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์/ไทย จะเป็นอย่างไร...

วิสัชนา : เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธามั่นคงในพระศาสนา... จากพระพุทธดำรัสที่ว่า “ดูก่อนอานนท์ ธรรมและวินัยใดที่เราตถาคต แสดงไว้ดีแล้ว บัญญัติไว้ดีแล้ว, ธรรมและวินัยนั้นจะเป็นศาสดาของพวกเธอ เมื่อเราตถาคตล่วงลับไปแล้ว...”

คณะสงฆ์ในอดีตจึงให้ความสำคัญต่อการรักษาพระธรรมวินัย ซึ่งเป็นศาสดาของคณะสงฆ์อย่างแท้จริง... ไม่ใช่ตัวตนบุคคล ในพระพุทธศาสนาจึงมิได้มอบหมายให้พระสงฆ์รูปใดทำหน้าที่แทนศาสดา...

คณะสงฆ์จึงให้ความเคารพสูงสุดที่พระธรรมวินัย ดุจดังพระบรมศาสดาจารย์ จึงถือปฏิบัติ... และให้ความเคารพต่อพระธรรมวินัย ดุจดังเป็นสังฆราชาที่แท้จริง...

คณะสงฆ์จึงอยู่ใต้การปกครองของพระธรรมวินัย ประพฤติปฏิบัติอย่างมีระเบียบแบบแผน เพื่อความเจริญรุ่งเรืองเข้มแข็งของสังฆมณฑล...

การทุ่มเทกำลังความรู้ความสามารถแม้ชีวิต เพื่อปกป้องพระธรรมวินัย จึงเป็นเรื่องที่ปรากฏเป็นหลักฐานจากการสังคายนาพระธรรมวินัย ครั้งที่ ๑-๒-๓ เป็นต้นมาในชมพูทวีป ดังคำกล่าวชักชวนกันในหมู่สงฆ์ที่ว่า “...ผู้มีอายุทั้งหลาย ก็ธรรมอันใดเล่าที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ดีแล้ว ประกาศไว้ดีแล้ว เป็นธรรมที่จะนำผู้ปฏิบัติออกจากทุกข์ได้ เป็นไปเพื่อความสงบระงับ เป็นธรรมอันพระสัมมาสัมพุทธเจ้าประกาศไว้ดีแล้ว พวกเราทั้งหมด (คณะสงฆ์ในพระพุทธศาสนาทั้งหมด) ด้วยกันฟังสังคายนา ไม่พึงกล่าวแย่งกันในธรรมนั้น การที่พรหมจรรย์ (พระพุทธศาสนา) นี้จะพึงยั่งยืนอยู่ได้นานนั้น พึงเป็นไปเพื่อประโยชน์แก่ชนมาก เพื่อความสุขแก่ชนมาก เพื่อความอนุเคราะห์แก่โลก เพื่อประโยชน์ เพื่อเกื้อกูล เพื่อความสุขแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย...”

ภายใต้กระบวนการสังคายนาพระธรรมวินัยที่ดำเนินไปโดยความรับผิดชอบของคณะสงฆ์ โดยการนำของพระมหาเถระผู้ทรงคุณธรรม... ผู้เป็นรัตตัญญู... ผู้เป็นสังฆปริณายก ที่ได้รับการยอมรับนับถือจากคณะสงฆ์ ตลอดจนถึงอุบาสก-อุบาสิกา เพื่อดำเนินงานสืบอายุพระพุทธศาสนาให้มั่นคงสืบต่อไป ภายใต้พระธรรมวินัยเดียวกัน มีความเสมอภาคกันในหมู่สงฆ์

สิทธิและเสรีภาพภายใต้พระธรรมวินัยจึงเป็นธรรมลักษณะที่สำคัญ เมื่อมีเรื่องราวใดๆ ที่ต้องตัดสิน ก็จะใช้หลักเสียงข้างมากเป็นเกณฑ์ เรียก... วิธีเยภุยยสิกา ฝ่ายใดได้เสียงข้างมาก ฝ่ายนั้นก็เป็นผู้ชนะอย่างบริสุทธิ์ สง่างาม เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย เพื่อต้องการให้คณะสงฆ์มีความเป็นหนึ่งเดียวกัน สมานสามัคคีกันโดยพระธรรมวินัย จึงทรงประทานความเป็นใหญ่ให้แก่สงฆ์ในกิจทั้งปวง แม้พระองค์ก็ทรงเคารพมติสงฆ์ ดังที่ทรงยืนยันว่า “เมื่อใดสงฆ์เติบโตขึ้น เมื่อนั้น เราตถาคตก็เคารพสงฆ์”

สงฆ์โดยภาพรวมจึงมีความสำคัญยิ่งกว่าสิ่งอื่นใดทั้งหลาย แต่นั่นหมายถึง สงฆ์อันมีคุณธรรมตามพระธรรมวินัย... ไม่ใช่หมายถึงบุคคลที่บวชเข้ามาเป็นภิกษุ แต่ละเมิดพระธรรมวินัย จึงไม่สามารถนับเข้ามาเป็นหนึ่งเสียงแห่งสงฆ์ได้...

สังฆมณฑล... จึงถูกสถาปนาขึ้นด้วยพระธรรมวินัย ที่มุ่งเน้นความเสมอภาคกัน มีข้อปฏิบัติที่เป็นอริยประเพณี เป็นแบบแผนอันควรแก่การศรัทธาของผู้ได้พบเห็น จึงเป็นที่ยอมรับทั้งในหมู่ชน ทวยเทพยดา และสัตว์ทั้งหลาย ...แม้ในพวกต่างศาสนาก็ให้การยอมรับ

การแต่งตั้งพระสังฆราชในประเทศไทย จึงเป็นพิธีกรรมที่ศักดิ์สิทธิ์ บริสุทธิ์ และจักต้องเปิดเผยต่อสังฆมณฑล อันรวมถึงพุทธบริษัททุกฝ่ายในพระศาสนา ไม่ต้องมีวาระซ่อนเร้น ...ไม่ต้องมีการประชุมลับ นั่นไม่ใช่วิธีการในระบบธรรมาธิปไตยในพระศาสนานี้ อันไม่เป็นไปตามระเบียบแบบแผนและอริยประเพณีในพุทธศาสนานี้... จึงควรที่ทุกฝ่ายผู้มีส่วนร่วมรับผิดชอบต่อสถาบันพระพุทธศาสนาในประเทศ ได้พิจารณาถึงเกียรติคุณแห่งคณะสงฆ์ เพื่อความไม่เสื่อมศรัทธา และเพื่อทำความมีศรัทธาให้ยิ่งขึ้นในศาสนิกชนในพระพุทธศาสนานี้!

เจริญพร