posttoday

พระศาสนกิจตามเถรธรรม 10 ประการ

13 ธันวาคม 2558

เนื่องในงานออกพระเมรุ พระศพสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก วันที่ 16 ธ.ค. 2558

โดย...ส.สต

เนื่องในงานออกพระเมรุ พระศพสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก วันที่ 16 ธ.ค. 2558 โดยวัดบวรนิเวศวิหาร ซึ่งสมเด็จพระสังฆราชทรงเป็นเจ้าอาวาส จัดพิมพ์หนังสือ บวรธรรมบพิตร จำนวน 1 แสนเล่ม เพื่อมอบแก่สาธุชนที่มาร่วมงาน และสถาบันการศึกษา รวมทั้งห้องสมุดทั่วประเทศ เพื่อเผยแพร่พระเกียรติคุณ สมเด็จพระสังฆราช ที่ทรงงานและปฏิบัติศาสนกิจในที่ต่างๆ สอดรับกับเถรธรรม 10 ประการ ของพระภิกษุ เป็นหนังสือหนา 432 หน้า

บวรธรรมบพิตร เป็นหนึ่งในจำนวนหนังสือที่ระลึก 20 เล่ม ที่คณะสงฆ์ รัฐบาล องค์กร และภาคเอกชน จัดพิมพ์เพื่อถวายเป็นพระกุศลในงานออกพระเมรุครั้งนี้ 

ส่วนเถรธรรมทั้ง 10 ที่เป็นแกนเล่าพระประวัติของสมเด็จพระสังฆราชพระองค์นั้น ได้แก่

พระศาสนกิจตามเถรธรรม 10 ประการ เถรธรรมที่ 1 คือรัตตัญญู เมื่อเป็นผู้บวชนาน ยังแสดงบทบาทในฐานะผู้นำที่ทรงมีประสบการณ์ โดยเสด็จไปเป็นประธานในการประชุมนานาชาติ The First World Buddhist Propagation ระหว่าง 5-10 เม.ย. 2541

1.รัตตัญญู เป็นภาพที่เสด็จไปทรงเป็นประธานในการประชุมนานาชาติในต่างประเทศ นับเป็นประวัติศาสตร์ที่สมเด็จพระสังฆราชไทยทรงแสดงบทบาทในระดับนานาชาติ The First World Buddhist Propagation Conference 5-10 เม.ย. 2541

พระศาสนกิจตามเถรธรรม 10 ประการ เถรธรรมที่ 2 ทรงเป็นผู้ทรงศีลสมบูรณ์ด้วยสีลสิกขา ในภาพทรงพินทุผ้าที่ได้มาใหม่ก่อนทรงใช้สอยเพื่อให้ถูกต้องตามพระวินัยบัญญัติ

2.สีลวา แสดงภาพที่เอาใจใส่ในพระวินัย แม้จะเป็นเรื่องเล็กน้อย เช่น ทรงพินทุ ผ้าจีวร ซึ่งตามพระวินัยเมื่อพระได้ผ้ามาใหม่และประสงค์จะใช้สอย ต้องพินทุ คือการทำจุด หรือเครื่องหมายลงบนผ้า เพื่อไม่ให้ยึดติดว่าเป็นของใหม่ 

3.พหุสสุตา เป็นพหูสูต ทรงความรู้ แสดงภาพความที่เป็นผู้ใคร่ศึกษา เป็นผู้ใฝ่เรียนมาตั้งแต่เป็นพระเปรียญ โดยเฉพาะด้านภาษา ที่ทรงศึกษาภาษาต่างๆ เช่น อังกฤษ ฝรั่งเศส จีน และสันสกฤต จนสามารถใช้ประโยชน์ได้เป็นอย่างดี

พระศาสนกิจตามเถรธรรม 10 ประการ เถรธรรมที่ 4 สวาคตปาฏิโมกโข ทรงพระปาฏิโมกข์ ในภาพสมเด็จพระสังฆราชทรงแสดงอาบัติกับพระภิกษุรูปหนึ่ง ก่อนจะร่วมสังฆกรรมฟังสวดพระปาฏิโมกข์ ที่วัดวังพุไทร 8 มิ.ย. 2537

 

4.สวาคตปาฏิโมกโข ทรงปาฏิโมกข์ รู้หลักพระวินัยแห่งวินัย ชำนิชำนาญ และสามารถวินิจฉัยได้ดี จะเห็นภาพสมเด็จพระสังฆราชทรงปลงอาบัติเพื่อให้เกิดความบริสุทธิ์ก่อนลงปาฏิโมกข์ ภาพนี้ฉายที่วัดวังพุไทร 8 มิ.ย. 2537

พระศาสนกิจตามเถรธรรม 10 ประการ เถรธรรมที่ 5 อธิกรณสมุปปาทวูปสมกุสโล เมื่อเกิดวิกฤตทางการเมือง14 ต.ค. 2516 ทรงคลี่คลายเหตุการณ์ โดยทรงออกแถลงการณ์ให้ทุกคนมีสัมมาสติ นอกจากนั้นยังทรงร่วมเป็นกรรมการตรวจบาลี ป.ธ.9กับพระเถระอื่นๆ ด้วย

5.อธิกรณสมุปปาทวูปสมกุสโล ฉลาดในการระงับอธิกรณ์ ซึ่งในฐานพระภิกษุในพระพุทธศาสนา ย่อมมีภาระหลักในการศึกษา ปฏิบัติ เผยแผ่ศาสนธรรม และแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในพระพุทธศาสนา ภาพที่เสนอมีหลายภาพ แต่ที่ผู้เขียนพอใจยิ่ง เพราะเป็นภาพหายาก คือภาพที่ทรงปฏิบัติหน้าที่เป็นกรรมการตรวจบาลีสนามหลวงกองที่ 1 (ป.ธ.9) ที่วัดสามพระยา 10-15 มี.ค. 2517

พระเถระที่ร่วมเป็นกรรมการตรวจและชี้ขาดผู้ที่สอบผ่านหรือไม่ผ่าน ป.ธ.9 ประกอบด้วย สมเด็จพระธีรญาณมุนี (ธีร์ ป.ธ.9) วัดจักรวรรดิราชาวาส สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (วิน ป.ธ.9) วัดราชผาติการาม สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ฟื้น ป.ธ.9) แม่กองบาลีสนามหลวง วัดสามพระยา พระธรรมวโรดม (บุญมา ป.ธ.9) วัดเบญจมบพิตร สมเด็จพระวันรัต (จับ ป.ธ.9) วัดโสมนัสวิหาร และสมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ ป.ธ.9) วัดบวรนิเวศวิหาร

พระศาสนกิจตามเถรธรรม 10 ประการ เถรธรรมที่ 6 ธัมมกาโม เป็นผู้ใคร่ในธรรม สมเด็จพระสังฆราชทรงแสดงมุทิตาจิต พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตโต) ที่องค์การยูเนสโก ถวายรางวัลการศึกษาเพื่อสันติภาพ 21 ธ.ค. 2537

6.ธัมมกาโม เป็นผู้ใคร่ในธรรม รักการฟังธรรม มีความปราโมทย์ยิ่งในพระธรรมวินัย เป็นภาพที่สมเด็จพระสังฆราชทรงเคารพนอบน้อมพระเถระที่อาวุโส และเมตตาพระที่พรรษาน้อย เช่น ทรงแสดงมุทิตาจิตพระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต) ในโอกาสที่องค์การยูเนสโกถวายรางวัลการศึกษาเพื่อสันติภาพ ณ หอประชุมพุทธมณฑล 21 ธ.ค. 2537

7.สันตุษโฐ เป็นผู้สันโดษด้วยปัจจัย 4 ตามมีตามได้ แสดงภาพบริขารที่พระองค์ทรงใช้ เช่น บาตร อังสะ อันตรวาสก หรือผ้าสบง ที่น่าสนใจคือ อาสนะ หรือที่รองนั่ง อาสนะนี้พระชนนีเย็บถวายแต่ครั้งเป็นพระมหาเปรียญ ทรงใช้เรื่อยมา แม้จะเก่าและชำรุดก็ทรงเก็บไว้ใต้อาสนะผืนใหม่ที่เป็นที่ประทับทำวัตรสวดมนต์ประจำวัน สุดท้ายทรงนำมาวางไว้ใต้ผ้ารองกราบหน้าโต๊ะบูชา ที่ทรงทำวัตรสวดมนต์ประจำวัน

พระศาสนกิจตามเถรธรรม 10 ประการ เถรธรรมที่ 8 ปาสาทิโก ผู้ที่เห็นภาพศิษย์ที่มีศักดิ์สูงอ่อนน้อมต่ออาจารย์ที่มีศักดิ์ต่ำย่อมสรรเสริญ ภาพดังกล่าวนี้ พระสาสนโสภณ(เจริญ) รองสมเด็จ อ่อนน้อมต่อพระเทพมงคลรังษี พระราชาคณะชั้นเทพ ซึ่งเป็นพระอาจารย์

8.ปาสาทิโก เป็นผู้ประกอบด้วยกิริยาอันน่าเลื่อมใส ไม่ว่าอยู่ในอิริยาบถใดๆ ก็สำรวมด้วยดี เป็นภาพเมื่อครั้งดำรงสมณศักดิ์ที่พระสาสนโสภณ ทรงแสดงกิริยาความเคารพอ่อนน้อมต่อพระเทพมงคลรังษี (หลวงพ่อดี วัดเทวสังฆราม) พระอุปัชฌาย์

พระศาสนกิจตามเถรธรรม 10 ประการ เถรธรรมที่ 9 ฌานลาภี เป็นพระอิริยาบถในการบำเพ็ญภาวนาซึ่งเป็นกิจวัตรของสมเด็จพระสังฆราช พระองค์นี้

9.ฌานลาภี เป็นผู้สามารถเข้าฌานอันเป็นธรรมที่ทำให้อยู่เป็นสุขในปัจจุบันได้ตามปรารถนาโดยไม่ยาก ภาพที่สอดคล้องกับข้อนี้

พระศาสนกิจตามเถรธรรม 10 ประการ เถรธรรมที่ 10 ว่าด้วยวิมุตโต คือสิ้นอาสวะ หรือนิพพาน วันที่สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สิ้นพระชนม์ จึงมีคณะศิษย์ทั้งหลายกราบพระศพด้วยความอาลัย

 

10.วิมุตโต บรรลุเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ สิ้นอาสวะ ดังพระสัมโมทนียกถา ณ วัดบูรพาราม จ.สุรินทร์ 3 มิ.ย. 2516 ว่า พระภิกษุสามเณร เมื่อเข้ามาบวชเรียนก็ควรอธิษฐานใจมุ่งต่อพระนิพพานและปฏิบัติให้บ่ายหน้าไปสู่นิพพาน แม้ว่าจะอยู่ไกลสุด แต่ปฏิบัติบ่ายหน้าไปสู่พระนิพพานแล้ว แม้เดินเข้าสู่พระนิพพานทีละก้าวๆ ก็ย่อมถึงพระนิพพานได้ในที่สุด แต่ถ้าไม่ปฏิบัติบ่ายหน้าไปสู่พระนิพพาน แต่ปฏิบัติหันหลังให้พระนิพพาน ก็ยิ่งจะเดินห่างพระนิพพานออกไป ...เถรธรรม ที่ 10 จึงเป็นภาพที่คณะศิษย์ เช่น พระศากยวงศ์วิสุทธิ์ (ท่านอนิล) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร กราบพระศพด้วยความอาลัยเป็นครั้งสุดท้าย เมื่อ 24 ต.ค. 2556 วันที่สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สิ้นพระชนม์ หรือบรรลุเจโตวิมุตติ ณ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์