posttoday

อานิสงส์แห่งกุศล... ณ เวฬุวันฯ/อินเดีย

29 พฤศจิกายน 2558

เจริญพรสาธุชนผู้มีศรัทธามั่นคงในพระพุทธศาสนา...อาตมาเพิ่งกลับมาจากแผ่นดินเกิดพระพุทธศาสนา ที่ในอดีตเรียกว่า ชมพูทวีป

โดย...พระอาจารย์อารยะวังโส

เจริญพรสาธุชนผู้มีศรัทธามั่นคงในพระพุทธศาสนา...อาตมาเพิ่งกลับมาจากแผ่นดินเกิดพระพุทธศาสนา ที่ในอดีตเรียกว่า ชมพูทวีป ปัจจุบันมักจะรู้จักในนามของสาธารณรัฐอินเดีย...ด้วยเหตุเพราะพื้นที่ส่วนใหญ่ของชมพูทวีปอยู่ในขอบเขตของอินเดีย จึงเหมารวมไปว่า อินเดีย คือ ชมพูทวีป ก็ไม่ได้ผิดอะไรหากพิจารณาตามลักษณะที่ตั้งของภูมิศาสตร์ แต่ก็ใช่ว่าจะถูกทั้งหมด ถ้าไล่เลียงดูประเทศต่างๆ ที่ปรากฏอยู่ในพื้นที่ชมพูทวีปเดิม ที่มีอาณาเขตจรดทะเล กว้างxยาว ด้านละหมื่นโยชน์

ในอดีตเป็นทวีปที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติ ตลอดจนทรัพยากรบุคคลที่ทรงคุณค่า เป็นศูนย์รวมการเรียนรู้ในศิลปวิทยาการด้านต่างๆ โดยเฉพาะแคว้นคันธาระ ที่ตั้งของนครตักสิลา ที่เลื่องลือในความเป็นแหล่งความรู้ ที่หมู่ชนขวนขวายเดินทางไปเพื่อศึกษาเล่าเรียนในแต่ละสาขาวิชา...

ว่ากันว่า ชมพูทวีปในสมัยสองพันกว่าปีที่ผ่านมานั้น อากาศเย็นสบายเสมอกันทั้งกลางวัน-กลางคืน สัตว์น้อยใหญ่ชุกชุมในเขตมหาวัน (ป่าใหญ่) ที่แผ่กว้างขวางไปจนจรดป่าหิมพานต์ ที่ตั้งของภูเขาหิมาลัย ที่มียอดเขาสูงจรดฟ้า ที่ชาวโลกรู้จักในนาม เอเวอเรสต์ ในปัจจุบัน

อานิสงส์แห่งกุศล... ณ เวฬุวันฯ/อินเดีย

 

ด้วยธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ อากาศมีภาวะเสมอกัน ไม่เปลี่ยนแปลงไปมาในเชิงผกผันอย่างเช่นปัจจุบัน จึงทำให้ต้นไม้มีอายุเป็นร้อย...เป็นพันปี ป่าไม้น้อยใหญ่จึงรักษาสมดุลธรรมชาติไว้ดีมาก ก่อเกิดประโยชน์แก่สิ่งมีชีวิตทั้งหลาย โดยเฉพาะมนุษย์ สัตว์ และเทวดา...

แต่ในวันนี้ของชมพูทวีป (อินเดีย เนปาล ปากีสถาน ฯลฯ) ล้วนแต่อยู่ในภาวะวิกฤตธรรมชาติ...ยามร้อนก็ร้อนจัด...ยามลมหนาวมาเยือนก็หนาวจัด ช่วงเวลากลางคืนกับกลางวัน มีความต่างกันของสภาวะอากาศสูงมาก แตกต่างกันมากกว่า ๑๐ องศา แถมยังเต็มไปด้วยฝุ่นละอองนานาชนิดที่เกิดจากธรรมชาติล้มเหลว อันเกิดจากน้ำมือของมนุษย์เป็นสำคัญ

การเดินทางไปเยือนอินเดีย-เนปาล ยามนี้จึงควรระวังโรคภัยไข้เจ็บที่จะได้รับติดตัวกลับมาเป็นของแถม...ดังเช่นที่อาตมาเพิ่งกลับมา ด้วยต้องไปซ่อมแซมฉัตรเหนือพระมหาธรรมเจดีย์โอวาทปาติโมกข์ ในใจกลางวัดเวฬุวันมหาวิหาร แห่งพระนครราชคฤห์ แคว้นมคธในอดีต จึงได้ทำพิธีอัญเชิญขึ้นประดิษฐานเหนือพระมหาธรรมเจดีย์ฯ เมื่อวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒ ตรงกับสุดเขตฤดูฝนและเป็นวันนิพพานของพระสารีบุตรเถระ

อานิสงส์แห่งกุศล... ณ เวฬุวันฯ/อินเดีย

 

เสร็จจากงานการพัฒนาเวฬุวันมหาวิหารแล้ว ได้เดินทางไปประกอบศาสนพิธีที่สถูปเจดีย์นาลันทา อันเป็นสถานที่ถวายเพลิงสรีระพระสารีบุตรเถระเจ้า เนื่องในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒ ที่เป็นวันนิพพานของพระมหาเถระ ก่อนจะรีบกลับมาให้ทันขึ้นเคเบิลคาร์ที่ภูเขาคิชฌกูฏ เพื่อขึ้นไปที่สันติสถูปบนยอดเขารัตนคีรี และค่อยเดินลงมาที่ภูเขาคิชฌกูฏ เพื่อถวายการสักการบูชาพระผู้มีพระภาคเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ เสร็จสิ้นเอามืดค่ำ เดือดร้อนถึงเจ้าหน้าที่ตำรวจที่รักษาความปลอดภัยอยู่ตีนเขา ต้องขึ้นไปตาม ด้วยกลัวอันตรายในเขตป่าแห่งนครราชคฤห์ ซึ่งมีอยู่ ๓ ประการ คือ ๑.สัตว์ร้าย ๒.โจร/ผู้ร้าย และ ๓.คนท้องถิ่นที่ต่อต้านศาสนา...

เมื่อกลับไปถึง เวฬุวันมหาวิหาร ก็มืดค่ำแล้ว แต่ด้วยอาตมาได้สิทธิพักที่มหาวิหารแห่งนี้ จึงคุ้นเคยกับ รปภ. หรือยามผู้เฝ้าดูแลประตู จึงเข้าออกได้สะดวก ในคืนดังกล่าวนั้น พระจันทร์เต็มดวงสวยงามที่สุดในรอบปี อาตมาจึงนำหินที่พระเจ้าพิมพิสารใช้รองสระน้ำกลันทกนิวาปะ เพื่อถวายน้ำสรงน้ำใช้แด่พระพุทธเจ้า...พระสงฆ์สาวก มาก่อเป็นรูปเจดีย์ขึ้นใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์ ในเขต Meditation Hut ที่มีกุฏิเล็กๆ ซึ่งอาตมาพักอาศัยอยู่ เพื่ออุทิศถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระเจ้าพิมพิสาร จอมกษัตริย์แห่งแคว้นมคธ... จึงนำเรื่องบุญกุศลมาบอกกล่าวให้สาธุชนได้อนุโมทนาร่วมกัน

เจริญพร