posttoday

สัมผัสรู้...ละวางในมายา แห่งโลก...ด้วยจิตรู้!

15 พฤศจิกายน 2558

เจริญพรสาธุชนผู้มีศรัทธามั่นคงในพระพุทธศาสนา...

โดย...พระอาจารย์อารยะวังโส

เจริญพรสาธุชนผู้มีศรัทธามั่นคงในพระพุทธศาสนา... มีวิสัชนาจากอุบาสิกาแก้วท่านหนึ่งว่า... “หัวข้อธรรม เรื่อง สัมผัสรู้และละวาง ที่อาตมาจะบรรยายในวันก่อตั้งธนาคารแห่งประเทศไทย วันที่ ๖ ม.ค. ๒๕๕๙ เวลา ๑๓.๐๐ น. เป็นหัวข้อที่น่าสนใจและทันสมัยแก่กาลยิ่งนัก ด้วยเนื่องจากในปัจจุบันคนเรามักใช้คำว่า ‘ปลง’ โดยเกร่อ เช่น เมื่อเจอเรื่องที่ทำให้ท้อ ทำให้เซ็ง ก็ไม่อยากใช้ปัญญาแล้ว ไม่อยากเพียรแล้ว...

...ข้ออ้างที่ฟังดูดีคือใช้คำว่า ปลง แต่เมื่อพิจารณาจากคำ สัมผัส รู้ และละวางนั้น ทำให้รู้สึกได้ว่า เมื่อมีผัสสะใดเข้ามากระทบจิต เมื่อได้มีการตั้งสติไว้พร้อมหน้าแล้ว จะสามารถสัมผัสรู้และพิจารณาได้โดยใช้ปัญญา...ว่า สิ่งใดดำเนินการได้หรือไม่ได้อย่างไร อย่างเป็นธรรม... อย่างเป็นเหตุเป็นผล และเมื่อพิจารณาด้วยสติปัญญาแล้วจึงเท่ากับได้สัมผัสรู้อย่างถ้วนถี่แล้ว จึงวางลงได้โดยสงบ และสามารถที่จะมีความเบิกบาน พร้อมที่จะปฏิบัติกิจอื่นต่อไปได้ตามความเหมาะควร ...ขอหลวงพ่อได้โปรดกรุณาแสดงธรรมด้วยค่ะ...”

ตามที่อ่านมาทั้งหมด แม้เขียนโดยสรุป ก็ถือว่าถูกต้องตรงธรรมตามที่วินิจฉัยความหมายธรรมในเรื่อง สัมผัสรู้และละวาง อันควรแก่อนุโมทนา...

ชีวิตคือธรรมะ... ธรรมะคือหน้าที่อันควรปฏิบัติ... การมีชีวิตก็เพื่อการทำหน้าที่อันสุจริตด้วยการปฏิบัติตามธรรม เพื่อการเรียนรู้ในชีวิตอันถูกต้องตรงธรรม อันจะนำไปสู่การพัฒนาชีวิตให้เปลี่ยนแปลง มุ่งสู่ธรรมเป็นธงชัยแห่งชีวิต

โลก สังขาร สภาวธรรม หรือสรรพสิ่งทั้งหลาย ทั้งที่มีชีวิตหรือไม่มีชีวิต ล้วนดำเนินไปพร้อมความเปลี่ยนแปลงในทุกขณะ อันเป็นไปตามกฎเกณฑ์แห่งพระไตรลักษณ์ หากไม่พัฒนาชีวิตให้มีสติปัญญา ก็ยากจะรู้เข้าใจในหลักธรรมดังกล่าว... สติปัญญา จึงเป็นธรรมอุปการะชีวิตอันสำคัญมากกว่าของมีค่าใดๆ ที่โลกสมมติขึ้น

ด้วยสัตว์โลกมีสติปัญญาที่แตกต่างกันไป ทำให้มีการจัดแบ่งชีวิตของสัตวโลกออกเป็น ๒ ฝ่าย ได้แก่ ๑.ชีวิตแห่งความยึดถือ (ขาดสติปัญญา) ๒.ชีวิตแห่งปัญญา ที่เป็นอิสระจากความยึดถือ

ไม่ว่าสัตว์โลกจะดำเนินชีวิตไปในฝ่ายใด แต่แท้จริงสัตว์ทั้งหลายล้วนไม่ต้องการประสบกับปัญหาหรือความทุกข์ ...การหลุดพ้นจากปัญหาและความทุกข์ เพื่อชีวิตที่มีอิสระ พบกับสันติภาพที่แท้จริง จึงเป็นยอดปรารถนาของทุกชีวิต ไม่เว้นแม้สัตว์ในอบายภูมิ

อะไรทำให้เกิดอุปสรรคปัญหาต่อการพัฒนาชีวิตเพื่อก้าวสู่อิสรภาพ-สันติภาพ ความสุขสงบที่แท้จริงในการดำเนินชีวิต... คำตอบคือ ความไม่รู้จักพอเหมาะ พอควร พอเพียง และพอดี...

ความไม่รู้จักพอนั้นเกิดขึ้นด้วยอำนาจแห่งตัณหา ที่คุกคามควบคุมชีวิตให้สัตว์ทั้งหลายดำเนินไปตามกำลังแรงของความอยาก จนทะยานออกไปแสวงหาสรรพสิ่งทั้งหลายมาสนองตอบตัณหาที่เป็นเหตุให้ชีวิตไม่รู้จักคำว่า พอเหมาะ... พอควร... พอเพียง... และพอดี ด้วยตัณหาสร้างความพอใจไว้ดักหน้า จนไม่สามารถเดินเติมเต็มชีวิตให้รู้จักคำว่าพอ... ด้วยอำนาจตัณหา ยากที่จะถมให้เต็มทะเลความอยาก... ดังคำบาลีที่ว่า นัตถิ ตัณหา สมานที. ศีลธรรมเพื่อพัฒนาไปสู่ความพอดีอย่างมีกฎเกณฑ์ จึงสำคัญอย่างยิ่งต่อการจัดระเบียบชีวิตให้มีคุณค่า และจะต้องเร่งพัฒนาให้ชีวิตเพิ่มพูนสติปัญญา จนภาวะจิตเกิดคุณธรรมสามารถควบคุมชีวิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อการเข้าถึงสันติธรรม

ปัญหาทั้งปวง ทุกข์ทั้งหลาย จึงดับสิ้นได้ด้วยจิตใจดวงเดียวที่มีธรรม คือ สติปัญญา อุปการะอย่างมีประสิทธิภาพ ตั้งอยู่ในความไม่ประมาท จนสามารถสัมผัสรู้และละวางได้ทันในมายาทั้งปวงแห่งโลกนี้...เจริญพร