posttoday

วิธีทำสมาธิเบื้องต้น (4)

18 ตุลาคม 2558

ตอนที่แล้วจบที่เรื่องว่าด้วยญาณ 3 คือ ปุพเพนิวาสา นุสติญาณ จุตูปปาตญาณ และอาสวักขยญาณ

โดย...ภัทระ คำพิทักษ์

ตอนที่แล้วจบที่เรื่องว่าด้วยญาณ 3 คือ  ปุพเพนิวาสา นุสติญาณ จุตูปปาตญาณ และอาสวักขยญาณ ความรู้ที่จะฟอกอาสวะกิเลสให้สิ้นไป

ตอนนี้เริ่มที่ถ้าเราเป็นผู้มีสติปัญญา ย่อมรับแขกมาทำงานในบ้านของเราได้เป็นอย่างดี นี่เป็นส่วนปลีกย่อยในการปฏิบัติอานาปานสติโดยย่อ

ฉะนั้นสิ่งทั้งหลายที่กล่าวมาให้ทบทวนดูให้ดีอย่าเพิ่งยินดีในสิ่งที่ปรากฏ อย่าเพิ่งยินร้ายหรือปฏิเสธในสิ่งที่ปรากฏ ควรตั้งจิตเป็นกลาง ทบทวนดูให้รอบคอบละเอียดลออเสียก่อนว่าเป็นของควรเชื่อถือได้หรือไม่

มิฉะนั้นจะเป็นเหตุให้สำคัญผิดไปก็มี ดี ชั่ว ถูก ผิด สูง ต่ำ ทั้งหมดมันสำคัญอยู่ที่ดวงจิตของเรา ฉลาดหรือโง่ รู้จักพลิกแพลงดัดแปลงแก้ไข

เมื่อดวงจิตของเราเป็นผู้โง่อยู่แล้ว แม้ของสูงอาจจะกลายเป็นของต่ำ ของดีอาจจะกลายเป็นของชั่ว ถ้าหากเราได้รู้เรื่องราวต่างๆ ของลมและส่วนปลีกย่อยของลม ก็จะได้รู้ในอริยสัจธรรม นอกจากนั้นยังเป็นหนทางบรรเทาทุกข์ของร่างกายได้อย่างดีอีก

ตัวสติเป็นตัวยา ลม อานาปาฯ เป็นกระสาย เมื่อสติเข้าไปฟอกแล้วย่อมบริสุทธิ์ จะส่งไปฟอกโลหิตต่างๆ ในร่างกายให้สะอาด เมื่อโลหิตสะอาดแล้วเป็นเหตุจะบรรเทาโรคภัยต่างๆ ในตัวได้

ถ้าเป็นผู้มีโรคเส้นประสาทประจำอยู่แล้ว ก็จะหายได้อย่างดีทีเดียว

นอกจากนี้ ก็ยังจะสามารถสร้างความเข้มแข็งของร่างกายให้ได้รับความสุขยิ่งขึ้น เมื่อร่างกายได้รับความสุข จิตใจก็สงบได้อย่างดี เมื่อจิตสงบได้เช่นนั้น ย่อมเกิดกำลัง สามารถที่จะระงับเวทนาในเวลาที่นั่งสมาธิให้ทนทานได้หลายชั่วโมง เมื่อกายสงบเวทนาจิตย่อมสงบปราศจากนิวรณ์ได้อย่างดี กายก็มีกำลัง ใจก็มีกำลัง เรียกว่า “สมาธิพลัง”

 เมื่อสมาธิมีกำลังเช่นนั้นแล้ว ย่อมเกิดปัญญา สามารถจะแลเห็น ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค แจ้งประจักษ์ขึ้นในลมหายใจของตัวที่มีอยู่ทุกคน

ถ้าจะอธิบายก็ได้ความอย่างนี้ คือ ลมหายใจเข้าออกเป็นทุกขสัจ ลมเข้าเป็นชาติทุกข์ ลมออกเป็นมรณทุกข์ ไม่รู้จักลมเข้าไม่รู้จักลมออก ไม่รู้จักลักษณะของลม เป็นสมุทัยสัจ ลมออกรู้ว่าออก ลมเข้ารู้ว่าเข้า รู้ลักษณะของลมโดยชัดเจนเป็นสัมมาทิฐิองค์อริยมรรค คือมีความเห็นถูกต้องตามความเป็นจริงของลมหายใจ

หายใจแบบใดไม่สบายก็รู้ และรู้จักวิธีแต่งลมหายใจของตัวว่าแบบนี้ไม่สบาย เราจะต้องหายใจแบบนี้ จึงจะเป็นที่สบาย นี้เรียกว่า สัมมาสังกัปปะ ดำริชอบ

จิตสังขารซึ่งนึกคิดวิตกวิจารณ์ในกองลมทั้งปวงอยู่โดยชอบ ชื่อว่า สัมมาวาจา วาจาชอบ รู้จักวิธีปรับปรุงลมหายใจของตนโดยวิธีการต่างๆ เช่น หายใจเข้ายาวออกยาว หายใจเข้าสั้นออกสั้น หายใจเข้าสั้นออกยาว หายใจเข้ายาวออกสั้น จนไปถูกลมเป็นที่สบายแห่งตน ดังนี้ ชื่อว่า สัมมากัมมันตะ การงานชอบ

รู้จักทำลมหายใจฟอกโลหิตในร่างกายให้สะอาดบริสุทธิ์ แล้วส่งไปหล่อเลี้ยงหทัยวัตถุ รู้จักแต่งลมให้เป็นที่สบายของร่างกาย รู้จักประกอบลมให้เป็นที่สบายแห่งดวงจิต หายใจเข้าไปอิ่มกายอิ่มจิต นี้เรียกว่า สัมมาอาชีวะ เลี้ยงชีวิตชอบ

รู้จักพยายามเปลี่ยนลมหายใจของตน จนเป็นที่สบายกายสบายจิต ถ้ายังไม่ได้รับความสบายเกิดขึ้นในตัวก็พากเพียรพยายามอยู่เรื่อยไปอยู่อย่างนั้น นี้เรียกว่า สัมมาวายามะ เพียรชอบ

รู้ลมหายใจเข้าออกทุกขณะเวลา และรู้กองลมต่างๆ ที่มีอยู่ในร่างกาย เช่น ลมพัดขึ้นเบื้องบน ลมพัดลงเบื้องต่ำ ลมพัดในท้อง ลมพัดในลำไส้ ลมพัดไปตามชิ้นเนื้อซาบซ่าน ไปทั่วทุกขุมขน มีสติสัมปชัญญะ ตามรู้อยู่ทุกขณะลมหายใจเข้าออก นี้เรียกว่า สัมมาสติ ระลึกชอบ

ดวงจิตสงบอยู่ในเรื่องของลมอย่างเดียว ไม่ไปเหนี่ยวเอาอารมณ์อย่างอื่นเข้ามาแทรกแซงทำไปจนลมละเอียดเป็นอัปปนาฌาน จนกว่าจะเกิดวิปัสสนาญาณขึ้นในที่ที่นั้น เรียกว่า สัมมาสมาธิ

นึกถึงลม เรียกว่า วิตก กระจายลมขยายลม เรียกว่า วิจารณ์ ลมได้รับความสะดวกทั่วถึงแล้วก็อิ่มกายอิ่มจิต เรียกว่า ปีติ กายไม่กระวนกระวาย ใจไม่กระสับกระส่ายก็เกิดสุข เมื่อได้รับความสุขแล้ว จิตย่อมไม่ส่ายไปอยู่สู่อารมณ์อื่น ย่อมแนบสนิทอยู่กับอารมณ์เดียว เรียกว่า เอกัคคตารมณ์ ตั้งใจไว้ชอบ นี้เรียกว่า สัมมาสมาธิเบื้องต้น ในองค์อริยมรรค มรรคสัจ

ทั้งหมดที่กล่าวมา คือ ศีล สมาธิ ปัญญา เข้ามาสันนิบาตในดวงจิตได้แล้วโดยสมบูรณ์ย่อมทำให้รู้แจ้งในกองลมทั้งปวงว่า หายใจอย่างนี้เป็นเหตุให้เกิดอกุศลจิต หายใจอย่างนั้น เป็นเหตุให้เกิดกุศลจิต และไม่ติดอยู่ในกายสังขารคือลม ไม่ติดอยู่ในวจีสังขาร ไม่ติดอยู่ในจิตสังขารทั้งฝ่ายดีและฝ่ายชั่ว ปล่อยวางไปตามสภาพแห่งความเป็นจริง นี้เรียกว่า นิโรธสัจ

 ถ้าจะย่นอริยสัจ 4 ให้สั้นเข้าไปอีกอย่างหนึ่ง ก็คือ ลมหายใจเข้าออกเป็นทุกขสัจ ไม่รู้จักลมหายใจเข้า ไม่รู้จักลมหายใจออก เป็นสมุทัยสัจ หรืออวิชชาโมหะ ทำให้แจ้งในกองลมทั้งปวงจนละได้ ไม่ยึด เรียกว่า นิโรธสัจ ที่มีสติสัมปชัญญะประจำอยู่ในกองลม เรียกว่า มรรคสัจ เมื่อปฏิบัติได้เช่นนี้ ก็ชื่อว่าเป็นผู้ปฏิบัติถูกต้องตามแนวทางของอานาปาฯ เป็นผู้มีวิชชา อาจรู้ของจริงทั้ง 4 อย่างได้อย่างชัดเจน ย่อมถึงวิมุตติ

วิมุตตินั้น คือ ดวงจิตที่ไม่เข้าไปติดอยู่ในเหตุฝ่ายต่ำ ผลฝ่ายต่ำ อันได้แก่ ทุกข์ สมุทัย ไม่ติดอยู่ในเหตุฝ่ายสูง ผลฝ่ายสูง คือ มรรคและนิโรธ ไม่ติดอยู่ในสิ่งที่ให้เรารู้ ไม่ติดอยู่ในความรู้ ไม่ติดอยู่ในรู้ แยกสภาพธรรมไว้เป็นส่วนๆ ได้เช่นนี้ ชื่อว่าเป็นผู้มีวิชชาวิมุตติ คือ รู้จักเบื้องต้น เบื้องปลาย และท่ามกลาง วางไปตามสภาพแห่งความเป็นเองที่เรียกว่า สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา การติดอยู่ในสิ่งที่ให้เรารู้ คือ ธาตุขันธ์ อายตนะเหล่านี้เป็นกามุปาทาน ติดวิชชาความรู้ของตัวเป็น ทิฏฐุปาทาน ไม่รู้จักตัวรู้ คือ พุทธะ เป็นสีลพัตตุปาทาน ย่อมเป็นเหตุให้หลงกายสังขาร วจีสังขาร และจิตสังขาร อันเกิดจากอวิชชา