posttoday

พระหลวงพ่อจุก กรุปฐมฤกษ์

11 ตุลาคม 2558

เชื่อว่าผู้อ่านหลายท่านคงรู้จัก “พระกรุ” หรือพระเครื่องที่คนสมัยโบราณได้สร้างไว้และนำบรรจุลงกรุ เช่น เจดีย์ ใต้ฐานพระวิหาร ฯลฯ

โดย...เอกชัย จั่นทอง

เชื่อว่าผู้อ่านหลายท่านคงรู้จัก “พระกรุ” หรือพระเครื่องที่คนสมัยโบราณได้สร้างไว้และนำบรรจุลงกรุ เช่น เจดีย์ ใต้ฐานพระวิหาร ฯลฯ ทำเพื่อสืบทอดพระพุทธศาสนา แต่ปัจจุบันเราจะเห็น “พระแตกกรุ” หรือพระที่ปรากฏเป็นข่าวตามหน้าหนังสือ พิมพ์ หรือข่าวออนไลน์ทั่วไปเป็นประจำ เช่น วัดราชบูรณะ อ.เมือง จ.พิษณุโลก ได้มีพระแตกกรุพบพระนางพญาอัดแน่นอยู่ในไหโบราณ เป็นต้น  อย่าง “พระหลวงพ่อจุก” ถือเป็น “พระแตกกรุ” องค์หนึ่ง โดยนักขุดพระกรุได้ไปพบในพระปรางค์ใหญ่ วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ เรียกว่า เป็นกรุปฐมฤกษ์ โดยอยู่รวมกับพระหูยานและพระร่วงซึ่งมีจำนวนไม่มาก สำหรับการพบพระครั้งนั้นพบว่าเป็นพระประเภทเนื้อดินทั้งหมด สาเหตุที่เรียกว่า “พระหลวงพ่อจุก” เนื่อง จากบริเวณปลายเกศาดูคล้ายกับผมจุก เซียนพระเครื่องรุ่นเก่าเห็นแปลกตาไม่เหมือนกับพระทั่วไป จึงหยิบจุดนี้ตั้งชื่อโดยนำความแปลกแตกต่างมาเป็นจุดเด่น จึงเรียกพระพิมพ์นี้ว่า “พระหลวงพ่อจุก” มาโดยตลอด

“พระหลวงพ่อจุก” นอกจากจะพบในพระปรางค์ใหญ่แล้ว ยังมีผู้พบจากกรุตามเจดีย์รายทั่วไปในบริเวณวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ มีทั้งเนื้อดินและเนื้อชินคละกันไปแต่มีจำนวนน้อยองค์ กระทั่งปี 2487 อยู่ในช่วงสงครามพอดี การควบคุมดูแลพระในกรุจึงไม่ได้เข้มงวดมากนัก ทำให้มีคนแอบลักลอบเข้าไปขโมยขุดหากัน พอถึงกลางปี “พระหลวงพ่อจุก” ก็ถูกนักขุดพระนำขึ้นมาจากกรุอีก ซึ่งพบบริเวณวิหารเก้าห้องของวัด และเป็น “พระหลวงพ่อจุก” เนื้อดินทั้งหมด เมื่อคัดแยกตามสภาพได้พระที่สมบูรณ์ไม่ชำรุดแตกหักมีจำนวน 261 องค์

ถัดมาช่วงปี 2491 มีการเปิดกรุอย่างไม่เป็นทางการในวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ บริเวณทิศใต้ของพระปรางค์ใหญ่ พบพระหลวงพ่อจุก พระร่วง และพระหูยาน คละเคล้ากันไป แต่พระที่พบนั้นเกิดความชำรุดเสียหายเป็นส่วนใหญ่ เรื่องการพบ “พระหลวงพ่อจุก” ยังมีอีก กระทั่งปี 2501 มีผู้ลักลอบเข้าไปขุดพระอีกใกล้กับบริเวณพระปรางค์ วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ ก็ยังพบว่ามีการเจอ “พระหลวงพ่อจุก” อีก แต่การเจอครั้งนี้กลับไม่มีพระเนื้อดินซึ่งตรงกันข้ามกลับเป็นเนื้อชินทั้งหมดและชำรุดเสียส่วนใหญ่ เซียนพระเครื่องส่วนใหญ่ไม่นิยมเล่นเช่าบูชา คงทำได้เพียงเก็บไว้เป็นที่ระลึกหรือบูชาเท่านั้น

ทั้งนี้ทั้งนั้น มีผู้ให้ความเห็นว่า พระพิมพ์นี้ เกิดขึ้นช่วงลพบุรีเสื่อมอำนาจ เพราะทางศิลปะแสดงให้เห็นว่าเป็นช่างฝีมืออู่ทองเท่านั้น แต่เหตุใด “พระหลวงพ่อจุก” จึงไปปะปนอยู่ในกรุเดียวกันกับศิลปะแบบลพบุรี เพราะประติมากรรมส่วนมากที่พบในกรุต่างๆ มักจะเป็นศิลปะแบบลพบุรีเกือบทั้งหมด แต่นักขุดพระได้เล่าให้ฟังว่า ภายในพระปรางค์นั้นพระเครื่องต่างๆ ไม่ได้อยู่รวมกันในจุดเดียว แต่คละแยกกันไป เช่น พบพระร่วงอยู่ตามซอกพระปรางค์ระดับบนและล่าง พระหลวงพ่อจุกกลับอยู่อีกด้านของพระปรางค์

ลักษณะและศิลปะของ “พระหลวงพ่อจุก” เป็นพระเครื่องที่มีขนาดค่อนข้างใหญ่ องค์พระประทับนั่งปางขัดสมาธิแบบครึ่งซีกรอบองค์ ด้านหลังแบนเรียบและมีรอยปาดด้วยของมีคมเป็นรอยหลายๆ ครั้ง และพบรอยมือปรากฏอยู่ด้านหลังทั่วไป พระเกศเป็นขมวดปอยผมเป็นป้านใหญ่คล้ายผมจุก จึงกลายเป็นชื่อเรียกตามเอกลักษณ์มาตลอดว่า “พระหลวงพ่อจุก” ส่วนพระเกศาหรือผม เป็นเส้นและเวียนรอบศีรษะแบบผมเวียน มีใบหน้า กลมป้อมจะปรากฏตา จมูก ปาก ชัดเจน ส่วนหูนั้นยาวจรดถึงไหล่ อกผายลำตัววาดเว้าแบบตัววีปรากฏเส้นจีวรและสังฆาฏิชัดเจน และมือประสานอยู่เหนือตัก มือด้านขวาซ้อนอยู่บนมือซ้าย

พระหลวงพ่อจุก มีด้วยกัน 2 พิมพ์ ประกอบด้วย 1.พิมพ์พระพักตร์แบบลังกา คือ มีลักษณะพระพักตร์อิ่มเอิบเงยแล้วยิ้ม และ 2.พิมพ์พระพักตร์แบบปาละ หรือบางคนก็เรียกว่าแบบอินเดีย พระพักตร์ค่อนข้างก้ม จมูกงุ้มและเคร่งเครียด และจากพิมพ์พระทั้ง 2 พิมพ์ มีข้อสังเกตว่าการสร้างได้รับอิทธิพลของลังกาไว้อย่างมาก ซึ่งสร้างความสงสัยว่าศิลปะแบบลังกาเข้ามาร่วมปนอยู่กับศิลปะแบบอู่ทองได้อย่างไร

ย้อนไปสมัยพระพุทธศาสนาอย่างลังกาวงศ์เข้ามาปฏิบัติในประเทศไทยครั้งแรก ช่วงศตวรรษที่ 18 ซึ่งลังกาทวีปกำลังเจริญเติบโตอย่างมากและรอบรู้ในพระธรรมวินัย ทำให้พระสงฆ์ไทย มอญ เมียนมา และกัมพูชา พากันไปศึกษาในเกาะลังกา ก่อนกลับมาพร้อมพระสงฆ์ชาวลังกาให้ขึ้นมาตั้งสำนักสงฆ์ที่สุโขทัย ก่อนจะเผยแผ่ศาสนาไปทั่วประเทศ เหตุนี้จึงได้รับแบบอย่างเจดีย์ลังกามาสร้างกันอย่างแพร่หลาย รวมถึงพระพุทธรูปด้วย ด้วยเหตุดังกล่าวจึงไขข้อสงสัยแล้วว่า เพราะเหตุใดศิลปะแบบอย่างลังกาเข้ามาผสมกับพระสมัยอู่ทองได้อย่างสนิทใจ

พระหลวงพ่อจุก เป็นพระที่สร้างด้วยเนื้อดินทั้งประเภทเนื้อละเอียดจัด ผสมว่าน และเนื้อหยาบ มีกรวดทรายเม็ดเล็กรวมอยู่ในเนื้อ โดยมีด้วยกันทั้งชนิด สีเขียว สีเหลือง สีแดง และสร้างด้วยเนื้อชิน สำหรับเนื้อชินเมื่อกรุแตกออกมาปรากฏว่ามีจำนวนน้อยไม่ค่อยแพร่หลายหรือพบเจอได้บ่อย อีกทั้งยังมีขนาดเล็กกว่าเนื้อดิน

อย่างไรก็ตาม ยังมีนักขุดพระกรุได้พบพระหลวงพ่อจุกของวัดเกาะแก้ว หรือวัดมณีชลขัณฑ์ แต่พระหลวงพ่อจุกวัดนี้มีลักษณะค่อนข้างสูงใหญ่ มีเฉพาะเนื้อดินเท่านั้น และจะสังเกตได้ว่า บริเวณด้านหลังปาดเรียบและบางกว่าของกรุวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ ซึ่งพระของกรุนี้ได้สร้างขึ้นมาในภายหลัง

ปัจจุบัน “พระหลวงพ่อจุก” เป็นพระที่หาชมได้ยากมาก อีกทั้งยังเป็นที่นิยมแสวงหาของนักเลงพระเครื่องแม้ราคาจะสูงก็ตาม แต่ด้วยพระพุทธคุณด้านมหาอุด คงกระพันชาตรี แคล้วคลาด และมหานิยม จนมีชื่อเสียงขจรไปทั่ว

อย่างไรก็ตาม เซียนพระผู้คร่ำหวอดอยู่ในวงการพระเครื่องให้ข้อมูลว่า การแตกกรุพระในอดีตส่วนใหญ่จะเป็นพระที่วงการพระเครื่องยอมรับกัน แต่การแตกกรุพระในปัจจุบันส่วนใหญ่วงการพระเครื่องจะไม่ยอมรับ ซึ่งในอดีตมีการสร้างกรุขึ้นกว่าร้อยกรุ