posttoday

วิธีทำสมาธิเบื้องต้น (3)

11 ตุลาคม 2558

เมื่อได้รับความสบายสะดวกดีแล้ว ให้กระจายลมที่สบายนั้นไปในส่วนต่างๆ ของร่างกาย

โดย...ภัทระ คำพิทักษ์

วิธีทำอานาปานสติ แบบที่ 2

มีข้อสำคัญอยู่ 7 ข้อ คือ

1.ให้ภาวนา อรหัง ลมเข้ายาวๆ อรหัง ลมออกยาวๆ ก่อน 3 ครั้ง หรือ 7 ครั้ง (คำภาวนากับลมให้ยาวเท่ากัน)

2.ให้รู้จักลมเข้าลมออกโดยชัดเจน

3.ให้รู้จักสังเกตลมในเวลาเข้าออกว่ามีลักษณะอย่างไร สบายหรือไม่สบาย กว้างหรือแคบ ขัดหรือสะดวก ช้าหรือเร็ว สั้นหรือยาว ร้อนหรือเย็น ถ้าไม่สบายก็ให้เปลี่ยนแปลงแก้ไขจนได้รับความสะดวกสบาย เช่น เข้ายาวออกยาวไม่สบาย ให้เปลี่ยนเป็นเข้าสั้นออกสั้น เป็นต้น จนกว่าจะได้รับความสบาย

เมื่อได้รับความสบายสะดวกดีแล้ว ให้กระจายลมที่สบายนั้นไปในส่วนต่างๆ ของร่างกาย เช่น สูดลมเข้าไปที่ท้ายทอย ปล่อยลงไปในกระดูกสันหลังให้ตลอด ถ้าเป็นเพศชายให้ปล่อยไปตามขาขวา ทะลุถึงปลายเท้าแล้วกระจายไปในอากาศ แล้วก็กลับมาสูดใหม่ ปล่อยเข้าไปในท้ายทอย ปล่อยลงไปในกระดูกสันหลัง ปล่อยไปตามขาซ้าย ทะลุถึงปลายเท้าแล้วกระจายไปในอากาศ แล้วก็กลับมาปล่อยตั้งแต่ท้ายทอยผ่านไหล่ซ้ายถึงข้อศอก ข้อมือทะลุถึงปลายนิ้ว กระจายไปในอากาศ แล้วก็ปล่อยลงคอหอย กระจายไปที่ขั้วปอดขั้วตับกระจายเรื่อยลงไปจนถึงกระเพาะเบาทะลุกระจายออกไป แล้วก็สูดลมหายใจเข้าตรงกลางอกทะลุไปจนถึงลำไส้ กระจายลมสบายเหล่านี้ให้ทั่วถึงกันได้ จะได้รับความสะดวกสบายขึ้นมาก (ถ้าเป็นเพศหญิงให้กระจายลมทางซ้ายก่อน เพราะเพศหญิงและชายเส้นประสาทต่างกัน)

4.ให้รู้จักขยายลมออกเป็น 4 แบบ คือ

1) เข้ายาวออกยาว

2) เข้าสั้นออกสั้น

3) เข้าสั้นออกยาว

4) เข้ายาวออกสั้น

แบบใดเป็นที่สบายให้เอาแบบนั้น หรือทำให้สบายได้ทุกแบบยิ่งดี เพราะสภาพของบุคคล ลมหายใจย่อมเปลี่ยนแปลงได้ ทุกเวลา

5.ให้รู้จักที่ตั้งของจิต ฐานไหนเป็นที่สบายของตัวให้เลือกเอาฐานนั้น (คนเป็นโรคเส้นประสาทปวดศีรษะห้ามตั้งข้างบน ให้ตั้งอย่างสูงตั้งแต่คอหอยลงไป และห้ามสะกดจิตสะกดลม ให้ปล่อยลมตามสบาย ปล่อยใจตามลมเข้าลมออกให้สบาย แต่อย่าให้หนีไปจากวงของลม) ฐานเหล่านั้นได้แก่ 1.ปลายจมูก 2.กลางศีรษะ 3.เพดาน 4.คอหอย 5.ลิ้นปี่ 6.ศูนย์ (สะดือ) นี้ฐานโดยย่อ คือที่พักของลม

6.ให้รู้จักขยายจิต คือ ทำความรู้สึกให้กว้างขวางออกไปทั่วสรรพางค์กาย

7.ให้รู้จักประสานลม และขยายจิตออกให้กว้างขวาง ให้รู้ส่วนต่างๆ ของลมซึ่งมีอยู่ในร่างกายนั้นก่อน แล้วจะได้รู้ในส่วนอื่นทั่วๆ ไปอีกมาก คือ ธรรมชาติลมมีหลายจำพวก ลมเดินในเส้นประสาททั่วๆ ไป ลมกระจายออกจากเส้นประสาทแล่นแทรกแซงไปทั่วขุมขน ลมให้โทษและให้คุณย่อมมีปนกันอยู่โดยธรรมชาติของมัน

สรุปแล้วก็คือ 1.เพื่อช่วยพลังงานที่มีอยู่ในร่างกายทุกส่วนของคนเราทุกคนให้ดีขึ้น เพื่อต่อสู้สิ่งต่างๆ ในตัว เช่น ไม่สบายในร่างกาย เป็นต้น

2.เพื่อช่วยความรู้ที่มีอยู่แล้วในตัวของคนทุกคนให้แจ่มใสขึ้น เพื่อเป็นหลักวิชชา วิมุตติวิสุทธิ์ ความหมดจดสะอาดในทางจิตใจ

หลักอานาปานสติ ทั้ง 7 ข้อนี้ ควรถือไว้เป็นหลักสูตร เพราะเป็นเรื่องสำคัญของอานาปานสติทั้งสิ้น เมื่อรู้เรื่องสำคัญเหล่านี้แล้ว ก็เท่ากับว่าเราได้ตัดถนนเส้นใหญ่ ส่วนถนนซอยนั้นไม่สำคัญ คือส่วนปลีกย่อยของอานาปานสตินั้นยังมีอยู่อีกมาก แต่ไม่ค่อยสำคัญ

ฉะนั้นจึงควรปฏิบัติและตามแบบนี้ไว้ให้มาก ท่านจะได้รับความปลอดภัยเป็นอย่างยิ่งทีเดียว

ถ้าท่านรู้จักการปรับปรุงแก้ไขลมหายใจของตัวเองโดยสมบูรณ์เรียบร้อยแล้ว ก็เท่ากับว่าคนในบ้านของท่านเป็นคนดี ส่วนปลีกย่อยนั้นเปรียบเหมือนคนนอกบ้าน คือ แขก ถ้าคนในบ้านของเราดี คนนอกบ้านก็ต้องดีไปตามเรา

คนนอกบ้านหรือแขกในที่นี้ ได้แก่ นิมิตต่างๆ และลมสัญจรที่ต้องผ่านไปผ่านมา ในรัศมีแห่งลมของเราที่ทำอยู่ เช่น นิมิตต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากลมให้ปรากฏเป็นรูป บางทีเกิดเป็นแสงสว่างขึ้น บางทีปรากฏเป็นรูปคนหรือรูปสัตว์ เป็นตัวเองหรือคนอื่น

บางคราวเกิดนิมิตขึ้นทางหู เช่น ได้ยินเสียงคำพูดของบุคคลอื่น จำได้บ้าง ไม่ได้บ้าง

บางคราวให้ปรากฏกลิ่นต่างๆ ขึ้นทางจมูก บางทีก็เป็นกลิ่นหอม บางทีก็เหม็นเหมือนซากศพบางคราวหายใจเข้าไปให้เกิดความอิ่มเอิบซึมซาบไปทั่วสรรพางค์กาย จนไม่รู้สึกหิวข้าวหิวน้ำ

บางคราวให้เกิดสัมผัสขึ้นในทางกายให้มีอาการอุ่นๆ ร้อนๆ เย็นๆ ชาๆ ส่ายไปส่ายมาตามสรรพางค์กาย

บางทีให้ผุดขึ้นทางจิตใจ ซึ่งเราไม่เคยนึกคิดก็เกิดขึ้นได้ สิ่งทั้งหลายเหล่านี้ชื่อว่า “แขก”

ก่อนที่เราจะต้อนรับแขกล่านี้ ให้ปรับปรุงจิตและลมหายใจของตัวเองให้เรียบร้อย และมั่นคงเสียก่อนจึงค่อยรับแขก

การที่เราจะต้อนรับแขกเหล่านี้ เราต้องบังคับปรับปรุงแขกให้อยู่ในอำนาจของเราเสียก่อน

ถ้าแขกไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของเรา อย่าเพิ่งไปคลุกคลีกับเขา เขาจะนำความเสื่อมเสียมาสู่เราได้

ถ้าหากเรารู้จักปรับปรุงเขา สิ่งเหล่านั้นก็จะเป็นเครื่องสนับสนุนเราต่อไป

การปรับปรุงนั้น ได้แก่ การเจริญปฏิภาคนิมิต คือ ให้ขยายสิ่งที่ปรากฏมานั้นให้เป็นไปตามอำนาจแห่งจิต คือ ทำให้เล็ก ให้โต ให้ใกล้ ให้ไกล ให้เกิด ให้ดับ ให้มีข้างนอกข้างในก็ได้

สิ่งเหล่านี้จะเป็นประโยชน์ในการทำจิต ถ้าคล่องแคล่วชำนาญในนิมิตเหล่านี้ก็จะกลายเป็นวิชชา เช่น ตาทิพย์ เห็นรูปโดยไม่ต้องลืมตา หูทิพย์ ฟังเสียงได้ จมูกทิพย์ ดมกลิ่นไกลได้ ลิ้นทิพย์ ดื่มรสของธาตุต่าง ซึ่งมีอยู่ในอากาศธาตุอันจะเป็นประโยชน์แก่ร่างกาย สามารถป้องกันความหิวความอยากได้

สัมผัสอันเป็นทิพย์ ก็จะเกิดขึ้นในทางกาย เช่น เราต้องการความเย็นก็จะเย็นขึ้น ต้องการความร้อนก็จะร้อนขึ้น ต้องการความอุ่นก็จะปรากฏขึ้น ต้องการความเข้มแข็งของร่างกายก็จะมีขึ้น เพราะธาตุทั้งหลายที่จะเป็นประโยชน์แก่ร่างกาย ซึ่งมีอยู่ในโลกก็จะแล่นเข้ามาปรากฏในกายของเรา

ดวงใจ ก็จะเป็นทิพย์และมีอำนาจ สามารถจะทำให้เกิดญาณจักขุ เช่น ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ ระลึกชาติได้ จุตูปปาตญาณ รู้จักความเกิดตายของสัตว์ ว่ามาอย่างไรไปอย่างไรอาจทราบได้ อาสวขยญาณ ความรู้ที่จะฟอกอาสาวะกิเลสให้สิ้นไป