posttoday

วิธีทำสมาธิเบื้องต้น (2)

04 ตุลาคม 2558

เมื่อจับนิมิตได้แล้วให้ขยายนิมิตนั้นออกไปให้โตเท่าศีรษะ นิมิตที่ขาวสว่างนั้นมีประโยชน์แก่กายแก่ใจ

โดย...เอกชัย จั่นทอง

หมายเหตุ : เนื้อหาต่อไปนี้เป็นวิธีทำสมาธิเบื้องต้น จากหนังสือ พระมหาตำรับ ธรรมปัสสนา รวบรวมและเรียบเรียงโดย พระครูบาธรรมชัย ธัมมชโย วัดทุ่งหลวง อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ ซึ่งเป็นหนังสือเก่าหายาก จึงขอนำมาเผยแผ่ต่อเพื่อสืบอายุธรรมเทศนาดีๆ โดยมีความละเอียด ดังต่อไปนี้

เมื่อจับนิมิตได้แล้วให้ขยายนิมิตนั้นออกไปให้โตเท่าศีรษะ นิมิตที่ขาวสว่างนั้นมีประโยชน์แก่กายแก่ใจ คือเป็นลมบริสุทธิ์สะอาด ลมบริสุทธิ์สะอาดนี้ย่อมเป็นเครื่องฟอกโลหิตในร่างกายของท่านได้อย่างดี สามารถจะบรรเทาหรือกำจัดทุกขเวทนาในร่างกายได้ เมื่อทำได้เท่าศีรษะของตนแล้ว ให้เลื่อนลงไปตั้งไว้ในฐานที่ 5 คือทรวงอก แล้วให้นึกเอานิมิตแห่งลมไปตั้งไว้ขยายออกให้เต็มทรวงอก ทำลมอันนั้นให้ขาวสว่าง กระจายลม กระจายแสงสว่างไปทั่วขุมขน จนกว่าจะมองเห็นส่วนต่างๆ ของร่างกายปรากฏเป็นภาพขึ้นมาเอง ถ้าไม่ต้องการภาพอันนั้นก็สูดลมหายใจยาวๆ เสีย 2-3 ครั้ง ภาพนั้นก็จะหายไปทันที แล้วกระทำจิตให้นิ่งอยู่โดยกว้างขวาง แม้จะมีนิมิตอะไรผ่านมาในรัศมีแห่งลมอย่าเพิ่งไปจับเอา อย่าทำจิตหวั่นไหวไปตามนิมิต ประคองจิตไว้ให้ดี ทำจิตให้เป็นหนึ่ง พยายามตั้งจิตไว้ในอารมณ์อันเดียว คือลมหายใจอันละเอียด และขยายลมอันละเอียดนั้นให้กว้างขวางออกไปทั่วสรรพางค์กาย

เมื่อทำจิตถึงตอนนี้จะค่อยเกิดวิชชาความรู้ขึ้นตามลำดับ กายของเราก็จะเบาเหมือนปุยนุ่น ใจก็จะเอิบอิ่มนิ่มนวลวิเวกสงัดได้รับความสุขกายสบายจิตเป็นอย่างยิ่ง เมื่อต้องการวิชชาความรู้แล้ว ให้ทำอย่างนี้จนกว่าจะชำนาญในการเข้า ในการออก และในการตั้งอยู่เมื่อทำได้อย่างนี้แล้ว นิมิตของลมคือแสงสว่างขาวๆ เป็นก้อนเป็นกลุ่มเหล่านั้น จะทำเมื่อไรก็เกิดได้ เมื่อต้องการวิชชาความรู้ต่างๆ ก็ให้ทำจิตนิ่ง วางอารมณ์ทั้งหมดให้เหลืออยู่แต่ความสว่างความว่างอย่างเดียว

เมื่อประสงค์สิ่งใดในส่วนวิชชาความรู้ภายในและภายนอกตนเองและผู้อื่น ก็ให้นึกขึ้นในใจครั้งหนึ่งหรือสองครั้ง ก็จะเกิดความรู้หรือนิมิตเป็นภาพปรากฏขึ้นทันที เรียกว่า มโนภาพ ถ้าจะให้ดีและชำนาญในสิ่งเหล่านี้ ให้ศึกษากับผู้ที่เคยปฏิบัติในทางนี้จะดีมาก เพราะวิชชาตอนนี้เป็นวิชชาที่เกิดขึ้นจากสมาธิอย่างเดียวเท่านั้น

วิชชาในเรื่องสมาธินั้นมีอยู่ 2 แผนก คือ เป็นไปด้วยโลกีย์อย่างหนึ่ง เป็นไปด้วยโลกุตตรอย่างหนึ่ง วิชชาโลกีย์ คือ ติดความรู้ความเห็นของตนเองนี้หนึ่ง ติดสิ่งทั้งหลายที่มาปรากฏให้เรารู้ เราเห็น ด้วยอำนาจแห่งวิชชาก็ดี เป็นของจริงและของไม่จริง เจือปนอยู่ด้วยกันทั้งสิ้น แต่ของจริงในที่นี้เป็นส่วนสังขารธรรมทั้งสิ้น ขึ้นชื่อว่าสังขารแล้วย่อมไม่เที่ยง ไม่มั่นคงถาวร

ฉะนั้นเมื่อต้องการโลกุตตรต่อไป ให้รวมสิ่งที่เรารู้ เราเห็นทั้งหมด เข้ามาเป็นจุดอันเดียว คือ เอกัคคตารมณ์ ให้เป็นสภาพอันเดียวกันทั้งหมด เอาวิชชาความรู้ทั้งหลายเหล่านั้นเข้ามารวมอยู่ในจุดอันนั้น จนรู้แจ้งเห็นจริงว่าสิ่งทั้งหลายเหล่านี้ เกิดขึ้นแล้วย่อมดับไปเป็นธรรมดา แล้วอย่ายึดในสิ่งที่รู้ที่เห็นมาเป็นของๆ ตน ให้ปล่อยวางไปเสียตามสภาพ ถ้าไปยึดเอาอารมณ์ก็เท่ากับยึดทุกข์ ยึดความรู้ของตน จะเกิดเป็นเหตุแห่งทุกข์ คือ สมุทัย

ฉะนั้นจิตที่นิ่งเป็นสมาธิแล้วเกิดวิชชา วิชชานั้นเป็นมรรค สิ่งที่ให้เรารู้ต่างๆ ที่ผ่านไปผ่านมาเป็นทุกข์ จิตเราอย่าเข้าไปยึดเอาวิชชา อย่าเข้าไปยึดเอาอารมณ์ที่มาแสดงให้เรารู้ ปล่อยวางไปตามสภาพ ทำจิตให้สบายๆ ไม่ยึดจิต ไม่สมมติจิตของตนเองว่าเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ถ้ายังสมมติตนเองอยู่ตราบใดก็เป็นอวิชชาอยู่ตราบนั้น เมื่อรู้ได้โดยอาการอย่างนี้ ก็จะกลายเป็นโลกุตตรขึ้นในตน จะเป็นบุญกุศลอย่างประเสริฐสูงสุด

ในฐานะที่เป็นมนุษย์พุทธบริษัทของพระพุทธเจ้า ถ้าจะสรุปให้สั้นเข้าแล้ว หลักในการปฏิบัติก็มีดังนี้ คือ 1.กำจัดอารมณ์ที่ชั่วออกจากจิตให้หมด 2.ทำจิตให้อยู่ในอารมณ์ที่ดี 3.อารมณ์ที่ดีต่างๆ ให้ต้อนเข้าไปรวมอยู่ในจุดอันเดียว ที่เรียกว่า เอกัคคตารมณ์ 4.พิจารณาอารมณ์หนึ่งนั้นให้เป็น อนิจจัง ไม่เที่ยง ทุกขัง เป็นทุกข์ อนัตตา ไม่ใช่ตัวตน สัตว์ บุคคล ว่างเปล่า 5.วางอารมณ์ที่ดีและอารมณ์ชั่วไปตามสภาพของอารมณ์ เพราะดีและชั่วย่อมอยู่ด้วยกัน มีสภาพเสมือนกัน วางจิตไว้ตามสภาพของจิต รู้ไว้ตามสภาพแห่งรู้ รู้นั้นไม่รู้จักเกิด ไม่รู้จักดับ นั่นแลคือ สันติธรรม ดีก็รู้ ดีไม่ใช่รู้ รู้ไม่ใช่ดี ชั่วก็รู้ รู้ไม่ใช่ชั่ว ชั่วไม่ใช่รู้ คือ รู้ ไม่ติดความรู้ รู้ไม่ติดสิ่งที่รู้ นั่นแลคือธรรมชาติธาตุแท้อันบริสุทธิ์ผุดผ่อง เหมือนน้ำที่อยู่ในใบบัวฉะนั้น จึงเรียกว่า อสังขตธาตุ เป็นธาตุแท้

เมื่อใครทำได้เช่นนี้ ก็จะเห็นของดีวิเศษเกิดขึ้นในใจแห่งตน จะเป็นกุศลวาสนาบารมีของท่านผู้ปฏิบัติในทางสมถกัมมัฏฐาน

วิปัสสนากัมมัฏฐานจะให้ผล 2 ประการดังกล่าวมา คือ โลกียผลที่จะให้สำเร็จประโยชน์อนามัยของร่างกายแห่งท่านและคนอื่นทั่วไปในสากลโลกนี้ประการหนึ่ง ประการที่ 2 จะได้โลกุตตรผลอันเป็นประโยชน์อนามัยในด้านจิตของท่านมีความสุข ความเยือกเย็น และความราบรื่นชื่นบาน ก็จะถึงพระนิพพานเป็นเบื้องหน้า ไม่ต้องเกิด แก่ เจ็บ ตายได้อรรถาธิบายมาโดยย่อ พอเป็นหัวข้อปฏิบัติของท่านพุทธบริษัทผู้นับถือพระพุทธศาสนา หากท่านมีความสงสัยขัดข้องจากการปฏิบัติตามแนวความคิดดังกล่าวไว้ในตำราเล่มนี้ โดยประการใดๆ ต้องการจะศึกษาจากผู้ให้แนวความคิดที่กล่าวมานี้ ยินดีที่จะส่งเสริมชี้แจงข้อสงสัยของท่านตามกำลังความสามารถของผู้เขียน เพื่อให้สำเร็จสันติสุขในทางพระศาสนาโดยทั่วหน้ากัน

สำหรับผู้ปฏิบัติทั่วๆ ไป ควรที่จะยึดเอาวิธีที่ 2 ดังต่อไปนี้ ซึ่งจะได้รับความสะดวกสบายกว่าแบบที่ 1 ที่กล่าวมาแล้ว