posttoday

5 ข้อป้องกัน ความรุนแรงจากสุรา

27 กุมภาพันธ์ 2559

การดื่ม “สุรา” อาจเป็นภาระที่สร้างปัญหาความรุนแรงตามมาได้ง่ายๆ หากผู้ที่ดื่มกินนั้นไม่สามารถประคองตัวเองและสติให้มั่นคง

โดย...ไซเรน

การดื่ม “สุรา” อาจเป็นภาระที่สร้างปัญหาความรุนแรงตามมาได้ง่ายๆ หากผู้ที่ดื่มกินนั้นไม่สามารถประคองตัวเองและสติให้มั่นคง ภัยอาชญากรรมที่มาจากสุรา จึงไม่ใช่เรื่องใหม่ที่เกิดขึ้น แต่ขณะเดียวกันก็เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นอยู่บ่อยครั้งและเป็นประจำ

เรื่องราวต่างๆ ถ่ายทอดลงบนสื่อสารหลายแขนงให้เห็นอยู่บ่อยครั้ง เมื่อการทะเลาะวิวาทที่เลยเถิดจนนำไปสู่การใช้กำลัง ต้นเหตุที่หลายคนอาจจะไม่ได้เอ่ยถึง คือ มาจากฤทธิ์ของแอลกอฮอล์

การดื่มสุรา พบว่าเป็นอีกปัจจัยกระตุ้นสำคัญที่นำไปสู่การกระทำความรุนแรงต่อทั้งสตรีและเด็กนั้น ก็จำเป็นต้องร่วมกันรณรงค์เชิญชวนให้ลด ละ เลิก กันมากขึ้น เนื่องจากสุราจะมีผลกับสมองส่วนที่ทำงานเกี่ยวกับการคิด การตัดสินใจ และการใช้เหตุผล โดยจะไปมีฤทธิ์กดสมองส่วนนี้ ทำให้ผู้ที่ดื่มขาดการยับยั้งชั่งใจ ใช้เหตุใช้ผลได้ไม่ดีนัก ไม่รับรู้ว่าสิ่งใดผิดหรือถูก ประกอบกับทำให้เกิดความรู้สึกคึกคะนองและก้าวร้าว การกระทำความรุนแรงจึงเกิดขึ้นกับบุคคลที่อยู่รอบข้างได้ง่าย และผู้ที่ถูกกระทำก็กลายเป็นการสร้างความเจ็บปวดทั้งร่างกายและจิตใจ

ทั้งนี้ หากเลี่ยงได้ก็ควรเลี่ยง แต่หากเลี่ยงไม่ทันจำเป็นต้องเผชิญกับปัญหาของคนที่มาพร้อมสภาพของความเมา กรมสุขภาพจิตฝากข้อแนะนำ ที่เรียกว่า “5 ไม่” เพื่อเลือกใช้และนำไปปฏิบัติกันเพื่อเป็นการป้องกันตัว

1.ไม่นิ่งนอนใจ โดยตรวจสอบว่ามีอาวุธอยู่กับตัวของผู้เมาสุรา หรือบริเวณใกล้เคียงหรือไม่ ถ้ามีและไม่มั่นใจว่าปลอดภัย ให้โทรศัพท์แจ้งตำรวจ

2.ไม่ใช้กำลัง ในการยุติความรุนแรง เว้นแต่จะเป็นการกระทำไปเพื่อป้องกันตัวตามเหตุผลที่สมควร

3.ไม่สร้างบรรยากาศ ข่มขู่ ตำหนิ หรือกดดัน ไม่ยิ้มเยาะหรือหัวเราะ ไม่โต้แย้งหรือท้าทาย หรือตะโกนใส่ เพราะจะยิ่งเพิ่มความโกรธและหงุดหงิดให้เขามากขึ้น จึงควรยุติการสนทนาลง

4.ไม่ให้บุคคลนั้นเข้าใกล้เครื่องยนต์กลไกหรือขับขี่ยานพาหนะ

5.ไม่เข้าไปใกล้บุคคลนั้นมากเกินไป เพราะจะเป็นอันตรายได้ จึงควรมีระยะห่าง ตลอดจนหลีกเลี่ยงการจ้องตาหรือการมองตาอย่างต่อเนื่อง

ที่สำคัญ ทุกคนในครอบครัว ชุมชน และสังคม ถ้าเห็นความรุนแรงเกิดขึ้นต้องไม่เพิกเฉย ควรรีบให้ความช่วยเหลือตามกำลังความสามารถ เช่น โทรศัพท์แจ้งตำรวจ แจ้ง OSCC (One Stop Crisis Center) แจ้งสายด่วน 1300 รวมทั้ง ศูนย์บริการข้อมูลภาครัฐเพื่อประชาชน สายด่วน 1111 หรือศูนย์ดำรงธรรม ตลอดจนช่วยกันสอดส่องดูแลไม่ให้เกิดการใช้ความรุนแรงภายในชุมชน สร้างความสัมพันธ์ที่ดีภายในชุมชน และจะยังผลไปได้ถึงครอบครัว

หากพบคนในครอบครัวหรือบุคคลใกล้ชิดมีปัญหาทางจิตใจเนื่องจากถูกกระทำความรุนแรง สามารถขอรับคำปรึกษาได้ที่สายด่วนสุขภาพจิต 1323 ฟรีตลอด 24 ชั่วโมง