posttoday

ศาลพิพากษาจำคุก5ปี"เสี่ยอู๊ด"คดีฉ้อโกงเช่าพระสมเด็จเหนือหัว

31 มีนาคม 2553

ศาลอาญาพิพากษาจำคุก5ปีเสี่ยอู๊ดฉ้อคดีเช่าพระสมเด็จเหนือหัวสั่งปรับ1.2หมื่นและให้ชดใช้เงินกว่า4ล้านบาท

ศาลอาญาพิพากษาจำคุก5ปีเสี่ยอู๊ดฉ้อคดีเช่าพระสมเด็จเหนือหัวสั่งปรับ1.2หมื่นและให้ชดใช้เงินกว่า4ล้านบาท

ที่ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก เมื่อเวลา 09.00 น. ศาลอ่านคำพิพากษาคดีหมายเลขดำที่ อ.2358/2551 ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีพิเศษ 1 เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายสิทธิกร บุญฉิม หรือเสี่ยอู๊ด อายุ 38 ปี และบริษัทไดมอนด์ ฮิลล์ จำกัด โดยนายสิทธิกร บุญฉิม ในฐานะกรรมการผู้จัดการ เป็นจำเลยที่ 1 - 2 ในความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกง,ร่วมกันโฆษณาโดยใช้ข้อความที่จะก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในสาระสำคัญเกี่ยวกับสินค้า และอ้างอิงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์โดยไม่ได้รับพระบรมราชานุญาตก่อให้เกิดความเสียหายต่อสังคมส่วนรวม ,ร่วมกันใช้เครื่องหมายราชการและเลียนแบบโดยไม่ได้รับอนุญาตให้ปรากฏที่วัตถุหรือสินค้าใดๆ

ศาลพิพากษาจำคุก5ปี"เสี่ยอู๊ด"คดีฉ้อโกงเช่าพระสมเด็จเหนือหัว ภาพ:อภิชิต จินากุล

ตามฟ้องโจทก์ ระบุว่า เมื่อระหว่างเดือน พ.ย. - ธ.ค.50 จำเลยทั้งสอง ร่วมกันแสดงข้อความอันเป็นเท็จโดยโฆษณาเผยแพร่ว่าจัดสร้างพระเครื่องที่ใช้ชื่อว่า “ พระสมเด็จเหนือหัว”โดยสร้างจากมวลสารดอกไม้พระราชทาน และผ้าไตรพระราชทานจากรพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ฯ และยังนำตราเครื่องหมายพระมหามงกุฎที่เป็นเครื่องหมายราชการของสำนักราชเลขาธิการ สำนักพระราชวัง และเป็นสัญลักษณ์ของพระเจ้าแผ่นดินมาพิมพ์ประทับไว้ที่ด้านหลังพระสมเด็จเหนือหัวทุกองค์

ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันโฆษณา หลอกลวงประชาชนด้วยข้อความอันเป็นเท็จว่า พระสมเด็จเหนือจัดสร้างด้วยดอกไม้พระราชทาน ทำให้ประชาชนหลงเชื่อว่าเกี่ยวข้องพระมหากษัตริย์ จึงมีความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกงประชาชน ตามฟ้อง ส่วนที่โจทก์ฟ้องว่าเป็นการกระทำทั้งหมด 921 กรรม ศาลเห็นว่า ระหว่างเดือน พ.ย. - ธ.ค.50 จำเลยทั้งสอง ได้กระทำการโฆษณาต่อเนื่องกัน แสดงว่าต้องการโฆษณาให้ประชาชน หลงเชื่อในคราวเดียวกัน จึงเป็นการกระทำกรรมเดียว

ส่วนความผิดฐาน ร่วมกันใช้ตราพระมหามงกุฏโดยไม่ได้รับอนุญาตนั้น ปรากฏข้อเท็จจริงจากเจ้าหน้าที่สำนักราชเลขาธิการ และสำนักพระราชวังว่า จำเลยทั้งสอง ไม่ได้ขอพระราชทานอนุญาต ใช้เครื่องหมายพระมหามงกุฎและอุนาโลม การกระทำดังกล่าวจึงเป็นความผิดตามกฎหมาย ซึ่งจำเลยที่ 1 เบิกความยอมรับว่าตรามงกุฏที่ใช้ด้านหลังพระสมเด็จเหนือหัวนั้น นำแบบมาจากตราที่ปรากฏเป็นสัญลักษณ์มูลนิธิอัฏฐมราชานุสรณ์ ฯ เพื่อให้ประชาชนเข้าใจว่าเกี่ยวข้องโดยตรงพระมหากษัตริย์ จึงฟังได้ว่าตรามงกฏที่ประทับไว้ด้านหลังพระสมเด็จเหนือหัว เป็นการทำเลียนแบบขึ้นและนำไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต จำเลยจึงมีความผิดตามฟ้อง

พิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิด ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 มาตรา 47 , 48 และ 59 และ พ.ร.บ.เครื่องหมายราชการ พ.ศ.2484 และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 , 343 และ 83 อันเป็นการกระทำกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ให้เรียงลงกระทงลงโทษ โดยให้จำคุกจำเลยที่ 1 เป็นเวลา 4 ปี และปรับบริษัท จำเลยที่ 2 จำนวน 10,000 บาท ฐานฉ้อโกงประชาชนอันเป็นบทหนักสุด และให้จำคุกจำเลยที่ 1 อีกเป็นเวลา 1 ปี และปรับบริษัท จำเลยที่ 2 จำนวน 2,000 บาท ฐานใช้และเลียนแบบเครื่องหมายราชการโดยไม่ได้รับอนุญาต รวมโทษจำคุกจำเลยที่ 1 เป็นเวลา 5 ปี และปรับบริษัท จำเลยที่ 2 รวม 12,000 บาท โดยให้จำเลยทั้งสอง ร่วมกันคืนเงินกับผู้เสียหายทั้ง 921 คนที่เช่าพระสมเด็จเหนือ แต่ไม่ให้เกินจำนวนเงิน 4 ,055,916 บาท