posttoday

กิโยตีน

11 สิงหาคม 2560

ประเด็นประสิทธิภาพหรือประสิทธิผลในการออกกฎหมาย ระหว่างยุครัฐบาลปฏิวัติรัฐประหารกับยุครัฐบาลประชาธิปไตยที่มาจากการเลือกตั้ง

โดย...นาย ป.

ประเด็นประสิทธิภาพหรือประสิทธิผลในการออกกฎหมาย ระหว่างยุครัฐบาลปฏิวัติรัฐประหารกับยุครัฐบาลประชาธิปไตยที่มาจากการเลือกตั้ง ยุคใดออกกฎหมายได้ดีมีคุณภาพมากกว่ากัน บางฝ่ายยกนิ้วให้รัฐบาลทหารออกกฎหมายได้ดีและรวดเร็วฉับไวทันสถานการณ์ เพราะเน้น "ผลลัพธ์" มากกว่าขั้นตอนหรือกระบวนการ โดยเร่งดันผ่านสามวาระรวด เคยประเมินกันว่า อัตรากฎหมายใหม่ที่เกิดขึ้นในยุครัฐบาลทหารราว 8-10 ฉบับ/สัปดาห์ เพราะต้นทางกฎหมายมาจากรัฐบาล ดังนั้นรัฐสภาซึ่งมาจากการแต่งตั้งย่อมต้องตอบสนองฝ่ายรัฐบาล

ขณะที่บางฝ่ายเห็นว่า อย่างไรก็ตามรัฐบาลประชาธิปไตยที่มาจากการเลือกตั้งย่อมดีกว่า แม้จะถูกมองว่าออกกฎหมายล่าช้า เพราะมีการตรวจสอบถ่วงดุล และคานอำนาจระหว่างฝ่ายค้าน หรือรัฐสภา รวมถึงจากกลุ่มการเมืองต่างๆ นอกสภาด้วย จนแยกไม่ออกว่ากฎหมายล่าช้า เพราะเกิดจากกระบวนการตรวจสอบถ่วงดุล หรือเล่นเกมต่อรองทางการเมืองกันหรือไม่ แต่ไม่ว่ารัฐบาลใดหากกฎหมายฉบับใดไปกระทบกระเทือนผลประโยชน์ต่อผู้มีอำนาจย่อมถูกตีตกเหมือนกันหมด

จะเน้น "ผลลัพธ์" หรือ "กระบวนการ" ก็ยังถกเถียงกันต่อไป แต่สิ่งสำคัญ คือ ในปัจจุบันการพัฒนาทางเทคโนโลยี วิทยาศาสตร์ หรือสภาพแวดล้อมต่างๆ ทางเศรษฐกิจ สังคม การเมือง หรือความมั่นคงเปลี่ยนไปรวดเร็ว การพัฒนาคุณภาพกฎหมายย่อมต้องมีอยู่เสมอๆ ทั้งในกรณีการพิจารณาปรับปรุงหรือยกเลิกกฎหมายที่ล้าสมัยหรือหมดความจำเป็น ก็ต้อง "กิโยตีน" กฎหมายที่ล้าหลัง

อาทิ กฎหมายสิ่งแวดล้อมทางทะเล ควรแก้ไขเพราะมหาสมุทรไทยถูกจัดอันดับว่ามีขยะมากที่สุดเป็นอันดับ 6 ของโลก ดังนั้นระดับนโยบายรัฐบาลต้องหยิบยกกฎหมายขึ้นมาพูดคุย เพื่อให้เกิดการขยับทางนโยบาย โดยเฉพาะกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ต้องออกมาทำหน้าที่ปรับปรุงกฎหมาย อาทิ ร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมการบริหารจัดการทางทะเลและชายฝั่ง

ขณะนี้ระดับโลกอย่างองค์การสหประชาชาติได้กำหนดเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ Sustainable Development Goals (SDGs) 17 เป้าหมาย หนึ่งในนั้น คือ อนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากมหาสมุทรและทรัพยากรทางทะเลให้เป็นไปอย่างยั่งยืน ดังนั้นทั้งภาครัฐและประชาชนต้องให้ความสำคัญเรื่องทะเลและมหาสมุทร ในการดูแลระบบนิเวศและโลกร้อนไปด้วยกัน

หรือเรื่องใกล้ตัว เช่น พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 ใช้มาเกิน 5 ปีแล้ว ต้องทบทวนความเหมาะสมของกฎหมายตามมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญฯ ประกอบกับพระราชกฤษฎีกาทบทวนความเหมาะสมของกฎหมายฯ ประเด็นที่เห็นว่าสำคัญ คือ 1.จำกัดเสรีภาพของประชาชนเกินสมควรหรือไม่ 2.ส่งเสริมให้มีการผูกขาดในการประกอบกิจการของผู้ประกอบการรายใหญ่หรือไม่ 3.ทำลายภูมิปัญญาท้องถิ่นหรือไม่ 4.เจ้าหน้าที่มีดุลพินิจมากเกินสมควรหรือไม่ 5.ใช้โทษอาญาเหมาะสมกับการกระทำความผิดหรือไม่ และ 6.ผลสัมฤทธิ์ของกฎหมายที่ชัดเจนคืออะไร

ถ้ามันไม่เหมาะสมกับสังคมก็ควรแก้ไขให้เหมาะสมเสีย การบังคับให้ทำในสิ่งที่ฝืนธรรมชาติมากๆ นั้น รังแต่จะทำให้กฎหมายทั้งระบบขาดความศักดิ์สิทธิ์