posttoday

งาช้างไม่งอกจากปากสุนัข

31 สิงหาคม 2558

สารภาพมาตรงๆเถอะ แท้ที่จริง "ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ได้ยึดโยง (เอื้อประโยชน์) นักการเมือง" ต่างหาก จึงออกอาการดิ้นพล่านเป็นทิวแถว

โดย...อสนีบาต

งาช้างไม่งอกจากปากสุนัข

ทันทีที่เผยแพร่ร่างรัฐธรรมนูญ เหล่านักการเมืองตกงาน ประสานเสียงรับไม่ได้กับร่างรัฐธรรมนูญ

เสียงดังจากคนแดนไกลสื่อสารต่อพี่น้องเสื้อแดงถึงสองครั้งสองประเทศ "เป็นร่างรัฐธรรมนูญฉบับเลวร้ายที่สุด"

ตามด้วยคณะผู้อ้างตนเป็นศาสดาประชาธิปไตยออกมาเขย่าซ้ำ  "ร่างรัฐธรรมนูญ ไม่ยึดโยงประชาชน"

หลังจากนั้นไม่นาน แกนนำวางบิล เริ่มทำงาน ประกาศจะรณรงค์ให้ประชาชนคว่ำร่างรัฐธรรมนูญ

สงสัยจริงเชียว ร่างรัฐธรรมนูญฉบับส่งมอบ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.) เมื่อวันที่ 22 ส.ค.58  จากนั้นกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ กำหนดเผยแพร่ร่างรัฐธรรมนูญทางเว็ปไซต์ โดยเปิดให้โหลดรายละเอียดเวลาสิบห้านาฬิกาหรือบ่ายสามโมงเย็น   ทว่า เหล่าคณะนักการเมืองดาหน้าให้ความเห็นต่อต้านร่างรัฐธรรมนูญก่อนวันที่ 22 ส.ค. ทั้งที่ไม่รู้เลยว่าเนื้อหา 285 มาตรา แต่ละหมวดแต่ละส่วนอธิบายรายละเอียดอย่างไรบ้าง

"นี่คือความอัศจรรย์" ภายใต้รอยหยักสมองนักการเมือง แม้ไม่เห็นร่างรัฐธรรมนูญก็สามารถตัดตอนวิพากษ์วิจารณ์เพื่อประโยชน์ตนเองได้

นักการเมืองไม่เคยอธิบาย “ไม่ยึดโยงประชาชนเป็นอย่างไร” 

แต่ขณะเดียวกันวนเวียนห่วงใยอยู่กับประเด็น  “ร่างรัฐธรรมนูญกำหนดให้มีนายกฯคนนอกบ้างหล่ะ”  “ร่างรัฐธรรมนูญกำหนดให้มีคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติเป็นการสืบทอดอำนาจบ้างหล่ะ”    

งาช้างไม่มีวันงอกจากปากสุนัขฉันใด ก็ไม่วันได้รับคำอธิบาย"ไม่ยึดโยงประชาชน" เป็นอย่างไร ผ่านปากนักการเมืองฉันนั้น

ในเมื่อนักการเมืองไม่กล้าอธิบาย  ...อสนีบาต...ในฐานะประชาชนคนหนึ่งขอใช้สิทธิอภิปรายตีแผ่ให้ทราบโดยทั่วกัน

หากต้องการรับรู้ถึงสิทธิหน้าที่พลเมือง กรุณาเปิดอ่านร่างรัฐธรรมนูญหมวด 2  ส่วนที่ 1 ว่าด้วยความเป็นพลเมืองและหน้าที่ของชนชาวไทย เช่น จัดให้มีสมัชชาพลเมือง (มาตรา 29) ระดับพื้นที่และระดับอื่นเพื่อมีส่วนร่วมในการจัดการชุมชน 

ตรองใช้จิตบริสุทธิ์ทำความเข้าใจเถิดจะเกิดผล  หมวด 2 ส่วนที่ 3 ว่าด้วยการมีส่วนร่วมทางการเมืองของชนชาวไทย  กำหนดไว้หลายมาตรา สอดคล้องตามเจตนารมณ์ของกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้พลเมืองเป็นใหญ่โดยแท้จริง           

ตัวอย่าง เช่น มาตรา 66  ผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่น้อยกว่าหมื่นคน มีสิทธิร่วมกันเข้าชื่อเสนอร่างกฎหมาย หรือส่วนที่ว่าด้วยการมีส่วนร่วมในการตรวจสอบของชนชาวไทย สามารถเข้าชื่อไม่น้อยกว่าสองหมื่นคนถอดถอนนักการเมืองสับปะรังเค (มาตรา 72)

แปลกมากที่บรรดานักการเมืองไม่แจกแจงข้อเด่นตามหมวดสิทธิหน้าที่พลเมืองตามที่กล่าวมาข้างต้น   ซึ่งจะทำให้เห็นถึงความยึดโยงระหว่างรัฐธรรมนูญกับประชาชนอย่างแท้จริง 

แปลกมากต่อข้อห่วงใยจะมีนายกฯคนนอกขัดต่อระบอบประชาธิปไตย แต่นักการเมืองไม่เคยตั้งคำถาม ร่างรัฐธรรมนูญกำหนดให้ส.ส.ในสภาเลือกนายกฯที่มาจากการเลือกตั้งก่อนมิใช่หรือ  ถ้าช่วยกันใช้สิทธิปราศจากความขัดแย้ง จะต้องหานายกฯคนนอกไปทำซากอะไร

แปลกมากที่แกว่งปาก บอกว่า คณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ เป็น "โปลิตบูโร"  แต่กลับไม่หันมาส่องกระจกมองตนเองก่อนว่า   หากได้เป็นรัฐบาลบริหารบ้านเมืองตามครรลองคลองธรรม ไม่กระเหี้ยนกระหือรือแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยมิชอบ ไม่คิดฉ้อฉลลักหลับออกกฎหมายนิโทษกรรมให้วงศ์วานเครือญาติที่กระทำการทุจริตเผ่นหนีออกนอกประเทศ แล้วจะไปถึงขั้นต้องมีคณะกรรมการยุทธศาสตร์ฯเกิดขึ้นมาครอบอำนาจได้อย่างไร

ในเมื่อบ้านเมืองไม่วิกฤต ก็ไม่เข้าเงื่อนไขต้องมีกรรมการยุทธศาสตร์ฯ     

“ถ้าพวกคุณ พวกท่านทั้งหลาย ไม่กระทำการวุ่นวาย ไม่สร้างความขัดแย้ง มีหรือจะนำไปสู่การโหวตนายกฯคนนอก   มีหรือคณะกรรมการยุทธศาสตร์ฯ จะเกิดขึ้น   

แปลกมากในวง องค์กรภาคประชาชน กลับส่งเสียงยินดี ที่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ให้สิทธิพลเมือง การเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร การมีส่วนร่วมในเรื่องของการบริหารทรัพยากรธรรมชาติ และตรวจสอบนักการเมืองได้อย่างไม่เคยปรากฎ  แต่เสียงพวกเขาไม่ดังเท่า ผู้มีอิทธิพลทางการเมืองที่กำลังส่งเสียงเรียกร้องสิทธิ การเข้าสู่อำนาจของตนเอง  

แปลกมั๊ยหล่ะครับ แทนที่ผู้อ้างตนเป็นตัวแทนปวงชนชาวไทย ควรรณรงค์ให้ประชาชนอ่านร่างรัฐธรรมนูญก่อนตัดสินใจประชามติ  แต่กลับรณรงค์ให้คว่ำร่างรัฐธรรมนูญโดยที่ยังไม่ได้อ่านรายละเอียด

ประชาชนไม่ได้กินแกลบกินรำปล่อยให้นักการเมืองจูงจมูกบิดเบือน

สารภาพมาตรงๆเถอะ แท้ที่จริง "ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ได้ยึดโยง (เอื้อประโยชน์) นักการเมือง" ต่างหาก  จึงออกอาการดิ้นพล่านเป็นทิวแถว