posttoday

เมื่อถึงเวลาเลิกกิจการ จำเป็นต้องเคลียร์อะไรบ้าง

24 เมษายน 2567

การเลิกกิจการตามกฎหมายต้องจัดการทรัพย์สินของบริษัท โดยการชำระบัญชีก่อนที่จะสิ้นสุดสภาพนิติบุคคล ดังนั้นในการเลิกกิจการจะมีระเบียบข้อบังคับรวมถึงขั้นตอนต่างๆ ค่อนข้างยุ่งยากพอสมควร

          หากธุรกิจดำเนินมาถึงช่วงที่ต้องแยกย้ายจากกัน ตามกระบวนการทางกฎหมายได้กำหนดไว้ว่ากิจการต้องจัดการทรัพย์สินของบริษัทโดยการชำระบัญชีก่อนที่บริษัทจะเลิกและสิ้นสุดสภาพนิติบุคคลกันไป ซึ่งในปัจจุบันอัตราการเลิกกิจการมีมากเท่าๆ กับอัตราการจัดตั้งกิจการใหม่ๆ โดยเฉพาะธุรกิจที่มีหุ้นส่วนไม่ว่าจะดำเนินงานภายใต้องค์กรในรูปแบบใด 

          ดังนั้นในการเลิกกิจการจะมีระเบียบข้อบังคับรวมถึงขั้นตอนต่างๆ ค่อนข้างยุ่งยากพอสมควร ซึ่งข้อมูลในการเลิกกิจการมีอะไรบ้าง ลองมาศึกษาไปพร้อมกันดังนี้ 

วิธีจดเลิกกิจการ

          เป็นที่ทราบกันดีว่าการจดเลิกกิจการจะต้องดำเนินการเลิกที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ซึ่งรายละเอียดในการจดเลิกกิจการสามารถอธิบายได้ดังนี้ 

          1.จัดทำหนังสือนัดประชุมผู้ถือหุ้น และส่งเอกสารเพื่อให้มีมติพิเศษในการเลิกบริษัท ให้กับทุกคนหรือส่งให้กับผู้ถือหุ้นโดยตรง

          2.ประกาศโฆษณาในหนังสือพิมพ์แห่งท้องที่ 1 ครั้ง เป็นอย่างน้อย

          3.จัดประชุมผู้ถือหุ้นทุกคน โดยให้ลงมติพิเศษ ต้องให้คะแนนไม่น้อยกว่า 3 ใน 4 ของจำนวนผู้ถือหุ้นทั้งหมดที่มาประชุม และต้องมีการพิจารณาแต่งตั้งผู้สอบบัญชีด้วย

          4.จัดทำเอกสารยื่นจดเลิกกิจการ และนำเอกสารไปจดทะเบียนที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้าภายใน 14 วัน

เอกสารหลักฐานที่ใช้ในการเลิกกิจการ

          1.แบบคำขอจดทะเบียนเลิก (แบบ ลช.1)
          2.รายการจดทะเบียนเลิก ผู้ชำระบัญชีต้องลงลายมือชื่อทุกคน (แบบ ลช.2) 
          3.สำเนาคำสั่งศาลให้เลิกบริษัท (ในกรณีที่ศาลมีคำสั่งให้เลิก)
          4.สำเนารายงานการประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้น 
          5.สำเนาใบมรณะบัตร (ใช้เฉพาะกรณีกรรมการถึงแก่กรรม)
          6.สำเนาบัตรประจำตัวของผู้ชำระบัญชีทุกคน 
          7.สำเนาหลักฐานการเป็นผู้รับรองลายมือชื่อ (ถ้ามี)
          8.หนังสือมอบอำนาจ (กรณีที่ผู้ขอจดทะเบียนไม่สามารถยื่นขอจดทะเบียนได้ด้วยตนเอง ก็มอบอำนาจให้บุคคลอื่นดำเนินการแทนโดยทำหนังสือมอบอำนาจและปิดอากรแสตมป์ด้วย) 
          9.แผนที่แสดงที่ตั้งสำนักงานของผู้ชำระบัญชี และสถานที่สำคัญบริเวณใกล้เคียงโดยสังเขป (ข้อมูลจาก กรมพัฒนาธุรกิจการค้า)

เลิกกิจการต้องชำระบัญชี

          เมื่อเลิกกิจการผู้ชำระบัญชีจะต้องรวบรวมทรัพย์สินและจัดให้มีการจำหน่าย และโอนทรัพย์สินทั้งหมดให้เสร็จสมบูรณ์ หากภายหลังการจดทะเบียนชำระบัญชีเสร็จสิ้นแล้วยังพบว่ากิจการยังมีทรัพย์สินที่ยังไม่เคยชำระบัญชีหลงเหลืออยู่ เช่น กิจการยังไม่ได้มีการปิดบัญชีธนาคารของกิจการและยังไม่ได้ถอนเงินออกมาจากบัญชีของกิจการ เป็นต้น ซึ่งกรณีนี้จะทำให้ผู้มีส่วนได้เสีย ไม่ว่าจะเป็นผู้ถือหุ้น เจ้าหนี้ หรือแม้แต่บุคคลภายนอกที่ประสงค์จะรับโอนทรัพย์สินนั้นเสียประโยชน์ จึงต้องการที่จะนำทรัพย์สินเหล่านั้นมาจัดการชำระบัญชี 

          แต่เมื่อพิจารณาตามหลักกฎหมายแล้วพบว่า เมื่อผู้ชำระบัญชีได้จดทะเบียนสิ้นสุดการชำระบัญชีแล้ว ถือว่าเป็นการยืนยันว่าการชำระบัญชีได้เสร็จสิ้นเรียบร้อยแล้ว สภาพการเป็นนิติบุคคลก็สิ้นสุดลงด้วย ทำให้ไม่สามารถดำเนินการในนามกิจการได้อีก และไม่สามารถถือครองทรัพย์สินได้ เว้นแต่ในกรณีที่เจ้าหนี้ฟ้องเรียกกิจการให้ชำระหนี้ในฐานะที่เป็นลูกหนี้

เลิกกิจการต้องจัดการภาษีมูลค่าเพิ่ม 

          หากแจ้งเลิกกิจการในทางภาษีมูลค่าเพิ่ม กิจการจะต้องเคลียร์กับกรมสรรพากรภายใน 15 วันหลังจากจดทะเบียนเลิกกิจการเพื่อไม่ให้เสียค่าปรับ ทั้งนี้กิจการสามารถเตรียมเอกสารต่างๆ ดังต่อไปนี้ 

          1.ยื่นแบบ ภ.พ.09 จำนวน 4 ฉบับ
          2.ใบทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ภ.พ.20 (ฉบับจริง)
          3.ภ.พ.01 และ ภ.พ.09 (ฉบับจริง)
          4.สำเนาใบเสร็จแสดงการชำระภาษี ภ.พ.30 นับแต่วันแจ้งเลิกกิจการ ย้อนหลัง 2 ปี
          5.สำเนาใบเสร็จแสดงการชำระภาษี ภ.ง.ด.50 และ  ภ.ง.ด.51 นับตั้งแต่วันแจ้งเลิกกิจการ พร้อมงบการเงิน
          6.หนังสือรับรองการเลิกนิติบุคคลจากกระทรวงพาณิชย์ พร้อมหนังสือชี้แจงเหตุผลในการเลิก 
          7.สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนและสำเนาทะเบียนบ้านของกรรมการผู้มีอำนาจลงนาม (พร้อมตัวจริง)
          8.หนังสือมอบอำนาจ และสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของผู้รับมอบอำนาจ (กรณีมอบอำนาจให้กระทำการแทน)
          9.แผนที่แสดงที่ตั้งสำนักงานของกิจการ

          กล่าวโดยสรุป หากต้องการเลิกกิจการขั้นตอนต่างๆ จะเริ่มตั้งแต่จดทะเบียนเลิกกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ หลังจากนั้นให้แจ้งต่อกรมสรรพากรให้ผู้ชำระบัญชีและผู้จัดการร่วมกันแจ้งให้เจ้าพนักงานประเมินทราบ ภายใน 15 วัน นับแต่วันที่เจ้าพนักงานกระทรวงพาณิชย์ 
รับจดทะเบียนเลิก  และสุดท้ายให้ยื่นรายการเสียภาษีในปีที่เลิกกิจการ รวมถึงเอกสารอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องด้วย

อ่านบทความน่ารู้เกี่ยวกับภาษีเพิ่มเติม Inflow Accounting