posttoday

ไขข้อสงสัย วิชาชีพอิสระ ต้องยื่นภาษีมาตราไหนกันแน่?

27 มีนาคม 2567

การประกอบวิชาชีพอิสระในนามบุคคลธรรมดาย่อมมีหน้าที่ในการเสียภาษี จำเป็นต้องรู้ว่าวิชาชีพอิสระของตนเองต้องยื่นภาษีมาตราอะไร จึงจะสามารถคำนวณภาษีได้อย่างถูกต้องแม่นยำ

          การประกอบวิชาชีพอิสระในนามบุคคลธรรมดาย่อมมีหน้าที่ในการเสียภาษี และจากการแบ่งประเภทการจ้างงานก็ทำให้ผู้ประกอบวิชาชีพอิสระในนามบุคคลธรรมดา มีความสับสนว่าตนเองต้องยื่นภาษีมาตราไหนกันแน่ ดังนั้นจึงจำเป็นต้องรู้ก่อนว่าวิชาชีพอิสระของตนเองต้องยื่นภาษีมาตราอะไร จึงจะสามารถคำนวณภาษีได้อย่างถูกต้องแม่นยำ

          โดยตามหลักการแล้วการแบ่งประเภทของเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 หลักๆ แล้วที่รู้จักกันดี คือ มาตรา 40(1) เป็นเงินได้จากการจ้างงานแรงงาน (พนักงานประจำ) มาตรา 40(8) สำหรับอาชีพค้าขายทั่วไป ขายของออนไลน์ แต่ที่มักสร้างความสับสนให้กับผู้ยื่นภาษีคือ ในกลุ่มวิชาชีพอิสระ เวลายื่นภาษีมักจะยื่นผิดมาตรา ส่งผลให้การคำนวณภาษีผิดพลาด อาจเสียภาษีน้อยหรือสูงกว่าความเป็นจริง 

          ทั้งนี้จากความเข้าใจของใครหลายๆ คน อาจมองว่าวิชาชีพอิสระควรจัดอยู่มาตรา 40(2) แต่หลายรายยื่นเป็นมาตรา 40(6) ดังนั้นในบทความนี้จะมาไขข้อข้องใจต่างๆ ที่เกิดขึ้นว่ากลุ่มวิชาชีพอิสระอยู่มาตราไหนกันแน่ สามารถอธิบายได้ดังนี้ 

แบบไหนเรียกว่า วิชาชีพอิสระ ประกอบด้วยอะไรบ้าง

          วิชาชีพอิสระเป็นอาชีพเงินได้พึงประเมินประเภทที่ 6 หมายถึง เงินได้พึงประเมินในรูปของค่าตอบแทนจากการประกอบวิชาชีพอิสระ ที่มีจำนวนไม่แน่นอนขึ้นอยู่กับปริมาณหรือความยากง่าย มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาทั้งนี้วิชาชีพอิสระมีความเป็นอิสระไม่ขึ้นกับบริษัท แต่จะต้องเป็นอาชีพที่ได้รับใบประกอบวิชาชีพเฉพาะทาง และถูกกำหนดไว้ในกฎหมายซึ่งได้แก่
          1.ทนายความ เช่น ที่ปรึกษา ว่าความ
          2.วิศวกร เช่น งานออกแบบ
          3.สถาปนิก เช่น งานออกแบบ
          4.ประณีตศิลป์ เช่น งานวาด งานหล่อ งานปั้น
          5.นักบัญชี จะทำหน้าที่ด้านการบัญชีและการตรวจสอบบัญชี 
          6.แพทย์และพยาบาลประกอบโรคศิลปะ เช่น กลุ่มเวชกรรม เภสัชกรรม ทันตกรรม เภสัชกรรม การพยาบาล การผดุงครรภ์ กายภาพบำบัด เทคนิคการแพทย์ หรือวิชาชีพอิสระอื่นๆ ตามมาตรา 40(6) แห่งประมวลรัษฎากร

ผู้ประกอบวิชาชีพอิสระ ต้องเสียภาษีมาตรา 40(2) จริงหรือไม่

          เงินได้พึงประเมินมาตรา 40(2) เป็นรายได้ในรูปแบบรับจ้างทั่วไป หรือการรับงานเป็นครั้งคราว เช่น นายหน้า ค่าธรรมเนียม ฟรีแลนซ์ คอมมิชชั่น ตัวแทนประกันภัย รีวิวสินค้า ที่ปรึกษาด้านธุรกิจ การขนส่ง วิทยากร การเกษตรกรรม ออกแบบกราฟิก งานแปล งานเขียน พิธีกร ผู้ประกาศข่าว นักจัดรายการวิทยุ นักแสดงอิสระ ผู้กำกับการแสดง ฯลฯ ซึ่งผู้รับเงินมีหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา 

          ทั้งนี้ หากการจ้างงานวิชาชีพอิสระสามารถจัดเป็นรายได้ประเภทที่ 2 ได้ จะต้องเป็นรายได้จากการจ้างงานทั่วไป และใช้แรงงานเป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างรายได้ และมีค่าใช้จ่ายจำนวนน้อย (50% ของรายได้ แต่ไม่เกิน 100,000 บาท) โดยให้หักค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับเงินได้ที่ต้องเสียภาษีประเภท 2 (มาตรา 40(2)) สามารถหักได้ 50% ของรายได้ แต่ไม่เกิน 100,000 บาท ซึ่งในกรณีที่ผู้มีรายได้มีทั้งรายได้ประเภทที่ 1 และ 2 สามารถนำมารวมกันได้ แต่ค่าใช้จ่ายที่หักแล้วต้องไม่เกิน 100,000 บาท

เงินได้ประเภทที่ 6 มีความเกี่ยวข้องกับวิชาชีพอิสระกรณีไหนบ้าง

          เงินได้พึงประเมินมาตรา 40(6) เป็นเงินได้พึงประเมินในรูปของค่าตอบแทนจากการประกอบวิชาชีพอิสระ ที่มีจำนวนไม่แน่นอนขึ้นอยู่กับปริมาณหรือความยากง่าย ซึ่งผู้มีเงินได้ต้องอาศัยวิชาชีพอิสระเป็นปัจจัยที่จะก่อให้เกิดเงินได้ ได้แก่ การประกอบโรคศิลปะ วิศวกรรม สถาปัตยกรรม การบัญชี กฎหมาย และประณีตศิลป์ มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

          ดังนั้นในการหักค่าใช้จ่ายในวิชาชีพอิสระ สามารถเลือกหักได้ 2 แบบคือ หักตามจริงแต่ต้องมีหลักฐานค่าใช้จ่ายอยู่ครบทั้งหมด หรือเลือกหักแบบเหมา 30-60% ไม่ต้องมีหลักฐานค่าใช้จ่าย ซึ่งแบ่งตามกลุ่มวิชาชีพอิสระดังนี้ วิชาชีพอิสระอื่นๆ ที่ไม่ใช่การประกอบโรคศิลปะ ประกอบด้วย กฎหมาย วิศวกรรม สถาปัตยกรรม บัญชี ประณีตศิลปกรรม หักค่าใช้จ่ายแบบเหมาได้ 30% ของค่าตอบแทนที่เรียกเก็บ หรือหักค่าใช้จ่ายตามจริง และการประกอบโรคศิลปะ หักค่าใช้จ่ายแบบเหมาได้ 60% ของค่าตอบแทนที่เรียกเก็บ หรือหักค่าใช้จ่ายตามจริง

          กล่าวโดยสรุป การแบ่งประเภทเงินได้จากการรับทำงานให้ตามมาตรา 40(2) ส่วนเงินได้จากการประกอบวิชาชีพอิสระให้ตามมาตรา 40(6) ดังนั้นผู้ที่มีรายได้ประกอบวิชาชีพอิสระถือเป็นวิชาชีพที่ผู้มีเงินได้จะต้องใช้ความรู้ความสามารถเฉพาะทางด้านวิชาชีพนั้นๆ และมีใบประกอบวิชาชีพ โดยไม่ได้รับค่าตอบแทนในลักษณะเหมาจ่ายเป็นรายเดือน หรือจ่ายเป็นโครงการหนึ่งๆ ก็ตาม จึงจัดอยู่เงินได้พึงประเมินประเภทที่ 6 หรือมาตรา 40(6)  

อ่านบทความเพิ่มเติมได้ที่  Inflow Accounting