posttoday

ลดดอกเบี้ย-ลิ้นกับฟัน

13 กันยายน 2560

คงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ประเด็นนโยบายดอกเบี้ยจะเป็นสิ่งที่ถูกนำมาพูดกันอีกครั้ง

โดย...ณ กาฬ เลาหะวิไลย

คงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ประเด็นนโยบายดอกเบี้ยจะเป็นสิ่งที่ถูกนำมาพูดกันอีกครั้ง

ผู้ที่เปิดประเด็นคือ สมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง ที่กล่าวว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยทรงตัวอย่างต่อเนื่อง ขณะที่อัตราดอกเบี้ยในตลาดอยู่ในระดับต่ำกว่ามานานแล้ว ในทางทฤษฎีจึงมีความเป็นไปได้หรือไม่ว่าจะลดอัตราดอกเบี้ยลงมาอีก

สาเหตุเพราะเงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำและหลุดเป้าหมาย ขณะที่ค่าเงินบาท แข็งค่าขึ้นในช่วงที่ผ่านมาจากเงินที่ไหลเข้ามาลงทุนในตลาดตราสารหนี้และตลาดหุ้น การลดดอกเบี้ยก็จะช่วยลดการเก็งกำไร ขณะที่เงินเฟ้อก็จะไม่ได้ปรับขึ้นมาสูง เพราะอยู่ในระดับต่ำอยู่แล้ว

การลดอัตราดอกเบี้ยยังเป็นการเสริมซึ่งกันและกันระหว่างนโยบายการเงินนโยบายการคลัง โดยการปล่อยให้กระทรวงการคลังฉีดเงินเข้าระบบอย่างเดียวคงไม่ได้

แปลความจากคำพูดของสมชัยก็คือ รัฐบาลใช้นโยบายการคลังคือการอัดฉีดงบประมาณเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจมามากแล้ว ช่วงถัดไปก็อยากให้ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือแบงก์ชาติ ใช้นโยบายการเงินเข้ามาเสริม นั่นคือการลดอัตราดอกเบี้ย

มุมมองของกระทรวงการคลังก็คือการลดอัตราดอกเบี้ยจะช่วยทั้งการ ขยายตัวทางเศรษฐกิจ และแก้ปัญหาค่าเงินบาทที่แข็งตัวอย่างรวดเร็ว จนทำให้ธุรกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม ประสบปัญหา

ขณะที่ท่าทีของธนาคารชาติก็แน่ชัดว่า ฟังสิ่งที่กระทรวงการคลังพูด แต่ยังยึดเสถียรภาพ แนวทางที่วางไว้

เมธี สุภาพงษ์ รองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย ยืนยันว่า การดำเนินนโยบายการเงินภายใต้กรอบเงินเฟ้อแบบยืดหยุ่น หรือ Flexible Inflation Targeting (Flexible IT) มีจุดเด่นที่ช่วยสนับสนุนการรักษาวินัยทางการเงิน เข้าใจง่ายและโปร่งใสกว่ากรอบเป้าหมายอื่นๆ สร้างความน่าเชื่อถืออันเป็นปัจจัยสำคัญต่อประสิทธิผลของการดำเนินนโยบายการเงิน

การตัดสินนโยบายการเงินไม่ได้คำนึงถึงเป้าหมายเงินเฟ้อเพียงอย่างเดียว แต่ได้ชั่งน้ำหนักการขยายตัวทางเศรษฐกิจ เสถียรภาพระบบการเงิน โดยติดตามความไม่สมดุลที่อาจก่อตัวในระบบเศรษฐกิจ 7 ด้านเป็นประจำ คือ ต่างประเทศ สถาบันการเงิน ตลาดการเงิน การคลัง ธุรกิจ ครัวเรือน และ อสังหาริมทรัพย์

นโยบายการเงินของไทยในปัจจุบัน จึงเป็นระดับที่ผ่อนคลายและเอื้อต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจ

ส่วนปัญหาค่าเงินบาทแข็งตัว เกิดจากหลายปัจจัย ไม่ใช่เฉพาะอัตราดอกเบี้ยเพียงอย่างเดียว

หรือสรุปง่ายๆ ที่ธนาคารชาติแสดงออกมาคือยังไม่ลดดอกเบี้ย

ฟังความทั้งสองฝ่ายก็คงได้แต่บอกว่า ความเห็นแย้งกันระหว่างกระทรวงการคลังกับธนาคารชาติเป็นสิ่งปกติเกิดขึ้นได้สม่ำเสมอ จากมุมมองที่ต่างกัน ภาระหน้าที่แตกต่างคนละขั้ว แต่ก็ต้องมาประสานกัน เหมือนลิ้นกับฟัน

เห็นทีต่างฝ่ายต้องพูดกันไป บ่นกันไปอีกนาน