posttoday

เจ๊งอย่างโปร่งใส

13 กรกฎาคม 2560

เตรียมตัวรับแรงกระแทก รับภาระขาดทุนปลายเปิดกันแบบไม่รู้จบ

โดย... ณ กาฬ เลาหะวิไลย 

เตรียมตัวรับแรงกระแทก รับภาระขาดทุนปลายเปิดกันแบบไม่รู้จบ

เมื่อคณะรัฐมนตรี มีมติเห็นชอบโครงการรถไฟความเร็วสูง ไทย-จีน ช่วงแรกคือกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ระยะทาง 253 กิโลเมตร

โครงการดังกล่าวเห็นทีต้องขาดทุนมหาศาล

เริ่มจากวงเงินก่อสร้างที่กำหนดไว้ 1.79 แสนล้านบาท ก็ลงแล้วลงเลย ไม่มีเงินที่ย้อนกลับคืนมา

จากนั้นอีก 4 ปี ก่อสร้างเสร็จก็จะเปิดให้บริการช่วงปลายปี 2564

รัฐบาลกำหนดค่าโดยสารไว้ตลอดสายอยู่ที่ 535 บาท โดยรถไฟฟ้าออกทุก 90 นาที คาดว่า จะมีผู้โดยสารประมาณ 5,310 คน/วัน คิดเป็นรายได้ค่าโดยสารเฉลี่ยปีละ 1,036 ล้านบาท

คำถามที่น่าสงสัยคือตัวเลขผู้โดยสารวันละ 5,000 คนเศษ จะมาแต่ใด

เอาล่ะแม้จะมีตัวเลขตามที่ว่า แต่งานนี้ก็ยังขาดทุนทันที จากค่าเดินรถที่แพงหูดับตับไหม้

ยกตัวอย่างง่ายๆ ค่าจ้างเดินรถไฟฟ้าสายสีม่วง ระยะทาง 23 กิโลเมตร ในเขตเมืองกรุง เสียปีละ 1,300 ล้านบาท

ลองคิดดูระยะทางกรุงเทพฯ-โคราชกว่า 200 กิโลเมตร ระยะทางเพิ่มขึ้นอีกสิบเท่า จะต้องเสียค่าจ้างเดินรถเท่าใดกัน

แค่เอาค่าโดยสารที่คาดว่าจะได้ มาเปรียบเทียบกับค่าเดินรถที่จะต้องจ่าย ก็รู้แล้วว่ามันจะขาดทุนแน่นอน

โน้น ต้องไปถึงปี 2594 ที่มีการคาดว่าจำนวนผู้โดยสารจะเพิ่มเป็น 26,830 คน/วัน สร้างรายได้ปีละ 5,239 ล้านบาท ค่อยน่าจะหายใจได้หน่อย

เรียกว่ารอวันฉันรักเธอไปอีก 30 ปี

แต่เอาล่ะ ถ้าโครงการรถไฟไทย-จีน จำเป็นต้องสร้างอย่างเลี่ยงไม่ได้ด้วยเหตุเป็นความสำคัญเชิงยุทธศาสตร์ เส้นทางสายไหมยุคใหม่ หรือ One Belt One Road ของจีน ถ้าไม่กระโดดขึ้นรถไฟ ก็อาจตกขบวนสำคัญ ทว่าทั้งหมดต้องทำให้ขาดทุนน้อยลงกว่าเดิม

อย่าลืมว่า เมื่อก่อสร้างเส้นทางกรุงเทพฯ-นครราชสีมาแล้ว ก็จำเป็นต้องเดินหน้าเชื่อมต่อจากนครราชสีมาไปถึงหนองคาย ระยะทางอีก 394 กิโลเมตร ยอดขาดทุนจากการก่อสร้างก็จะต้องเพิ่มเข้าไปอีกทั้งการก่อสร้าง และการเดินรถที่จะเพิ่มขึ้นมาอีกเป็นทวีคูณ

หนทางที่จะบรรเทาความเสียหายคือการพัฒนาพื้นที่รอบๆ สถานีรถไฟฟ้า และสร้างความเจริญออกไปสู่ภูมิภาค

เอาแค่เฉพาะโครงการเส้นทางแรกกรุงเทพฯ-นครราชสีมา สถานีทั้งหมดจะมี 6 แห่ง ที่ตั้งเป้าหมายจะพัฒนาคือ 3 สถานี ได้แก่ สถานีสระบุรี ปากช่อง และนครราชสีมา

แผนการพัฒนาพื้นที่เหล่านี้ จึงเป็นสิ่งจำเป็นต้องอธิบายแผนผัง รูปแบบการพัฒนา ขนาดพื้นที่ ให้รับรู้อย่างทั่วถึง

ไม่เพียงเป็นการแจ้งประชาชนทั่วไปในฐานะผู้ที่รับภาระขาดทุนเท่านั้น แต่ยังเป็นการลบข้อครหาการกว้านซื้อที่ดินล่วงหน้าของบรรดาผู้มีฤทธิ์มีเดชทั้งหลาย จนกลายเป็นลาภปาก

ไหนๆ จะต้องรับภาระหนี้กันบานฉ่ำแล้ว

ขอให้เป็นการเจ๊งอย่างโปร่งใสด้วยเถอะ