posttoday

CPALL กำไร Q1/67 พุ่ง 53.3% แตะ 3,615 ล้าน เหตุทุกธุรกิจเติบโต-คุมต้นทุนได้ดี

10 พฤษภาคม 2567

CPALL งบไตรมาส 1/67 กำไรสุทธิพุ่ง 53.3% แตะ 3,615 ล้านบาท หลังทุกกลุ่มธุรกิจเติบโต ควบคุมค่าใช้จ่ายอย่างมีประสิทธิภาพ ต้นทุนการเงินลดลง ตั้งเป้ารายได้ปี 67 เติบโตใกล้เคียง GDP วางงบลงุทนปีนี้ 12,000-13,000 ล้านบาท มีแผนเปิดร้านสาขาใหม่ในไทยอีก 700 สาขา กัมพูชา และ สปป.ลาว

นายเกรียงชัย บุญโพธิ์อภิชาติ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านการเงิน บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) หรือ CPALL เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานในไตรมาส 1/2567 บริษัทมีกำไรสุทธิ 6,319 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 53.3% จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน 

โดยในไตรมาส 1/2567 บริษัทมีกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่ายและค่าใช้จ่ายภาษีเงินได้ 12,846 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 23.5% จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน สาเหตุหลักมาจากการดำเนินงานที่ดีขึ้นของทุกกลุ่มธุรกิจ และการควบคุมค่าใช้จ่ายอย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ บริษัทมีต้นทุนทางการเงินลดลงจากการออกหุ้นกู้เพื่อชำระคืนเงินกู้ยืมก่อนกำหนดเมื่อปีก่อนของ บริษัท ซีพี แอ็กซ์ตร้า จำกัด (มหาชน) หรือ CPAXT เพื่อลดต้นทุนและความเสี่ยงในการบริหารค่าใช้จ่ายทางการเงิน ส่งผลให้บริษัทมีกำไรสุทธิเพิ่มขึ้นดังกล่าว

สำหรับรายได้รวมไตรมาส 1/2567 อยู่ที่ 241,307 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8.5% จากไตรมาสเดียวกันปีก่อน โดยมีสาเหตุมาจากการปรับเพิ่มขึ้นของรายได้จากการขายสินค้าของทุกกลุ่มธุรกิจ ซึ่งประกอบด้วย ธุรกิจร้านสะดวกซื้อ ธุรกิจค้าส่งค้าปลีกสินค้าอุปโภคบริโภค และกลุ่มธุรกิจอื่นๆ ตามการบริโภคภายในประเทศที่ยังมีการขยายตัว ซึ่งขับเคลื่อนโดยกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่างๆ และการท่องเที่ยว รวมถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลในช่วงต้นปีที่สร้างบรรยากาศที่ดีในการจับจ่ายใช้สอย นอกจากนี้กลยุทธ์ O2O ของแต่ละหน่วยธุรกิจยังคงเป็นปัจจัยเสริมในการเติบโตของรายได้อีกทางหนึ่งด้วย

ทั้งนี้ ในช่วงไตรมาส 1/2567 ธุรกิจร้านสะดวกซื้อเปิดร้านสาขาใหม่รวมทั้งสิ้น 185 สาขา ณ สิ้นไตรมาส 1/2567 บริษัทมีจำนวนร้านสาขาทั่วประเทศรวมทั้งสิ้น 14,730 สาขา แบ่งเป็น (1) ร้านสาขาบริษัท 7,485 สาขา (ประมาณ 51%) ร้านเปิดใหม่สุทธิ 149 สาขา ในไตรมาสนี้ (2) ร้าน SBP และร้านค้าที่ได้รับสิทธิช่วง อาณาเขต 7,245 สาขา (ประมาณ 49%) ร้านเปิดใหม่สุทธิ 36 สาขา 

ในไตรมาสนี้ ร้านสาขาส่วนใหญ่ยังเป็นร้านที่ตั้งเป็นเอกเทศ ซึ่งประมาณ 86% ของสาขาทั้งหมด และส่วนที่เหลือเป็นร้านในสถานีบริการน้ำมัน ปตท.
 
ธุรกิจร้านสะดวกซื้อมีรายได้จากการขายสินค้าและบริการรวมในไตรมาส 1/2567 อยู่ที่ 105,861 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 11.9% จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน มียอดขายเฉลี่ยต่อร้านต่อวัน 82,619 บาท และยอดขายเฉลี่ยของร้านสาขาเดิมเพิ่มขึ้น 4.9% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมียอดซื้อต่อบิลโดยประมาณ 85 บาท

ในขณะที่จำนวนลูกค้าต่อสาขาต่อวันเฉลี่ย 972 คน ทั้งนี้ลูกค้ามีจำนวนเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับจeนวนนักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างประเทศที่ยังคงปรับตัวสูงขึ้นจากปีก่อนอย่างต่อเนื่อง 

นอกจากนี้ มาตรการของรัฐ ก็มีส่วนช่วยสนับสนุนเช่นกัน ซึ่งธุรกิจร้านสะดวกซื้อได้ใช้แผนกลยุทธ์ที่สอดรับกับสถานการณ์ตลอดเวลา โดยคำนึงถึงการรักษาฐานลูกค้าเดิม และขยายฐานลูกค้าไปยังกลุ่มใหม่ๆ โดยนำเสนอสินค้าใหม่ๆ พร้อมกับโปรโมชั่นเพื่อดึงดูดลูกค้าในแต่ละช่วงเวลา 

ประกอบกับรายได้จากการขายสินค้าส่วนเพิ่มผ่านกลยุทธ์ O2O อาทิ 7-Delivery และ All Online ซึ่งสามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าในภาวะปัจจุบันได้เป็นอย่างดี โดยมีสัดส่วนประมาณ 11% ของรายได้จากการขายสินค้ารวม

สำหรับแนวโน้มธุรกิจร้านสะดวกซื้อ ในปี 2567 บริษัทวางแผนที่จะพัฒนาช่องทางการจำหน่ายสินค้าและบริการ ทั้งแพลตฟอร์มออนไลน์และออฟไลน์ ซึ่งรวมถึงการขยายเครือข่ายร้านสาขาต่อเนื่องไปตามการขยายตัวของชุมชน โครงสร้างพื้นฐานต่างๆ แหล่งท่องเที่ยวและทำเลที่มีศักยภาพอื่นๆ เพื่ออำนวยความสะดวกและเข้าถึงความต้องการของลูกค้าให้ได้มากที่สุด 

โดยบริษัทวางแผนที่จะลงทุนเปิดร้านสาขาใหม่ในประเทศไทยอีกประมาณ 700 สาขา ในปี 2567 และมีเป้าหมายที่จะเปิดร้านใหม่เพิ่มในประเทศกัมพูชา และใน สปป.ลาว ในปี 2567 อีกด้วย

ทั้งนี้ อัตราการเติบโตของรายได้ ส่วนใหญ่มาจากอัตราการเติบโตของยอดขายจากร้านสาขาใหม่ และอัตราการเติบโตของยอดขายเฉลี่ยจากร้านเดิม รวมถึงยอดขายจากช่องทางอื่นๆ อาทิ 7-Delivery และ All Online ซึ่งคาดว่าจะอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกับอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) อย่างไรก็ตาม ขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆ อาทิ ระดับของอัตราเงินเฟ้อ ราคาวัตถุดิบ ราคาพลังงาน และการขยายตัวของการบริโภคภายในประเทศ เป็นต้น

ขณะเดียวกัน บริษัทตั้งเป้าขยายอัตรากำไรขั้นต้นให้ได้อย่างต่อเนื่องจากปีก่อน โดยเน้นการพัฒนาระบบในการคัดสรรสินค้าให้ตรงกับความต้องการของผู้บริโภคมากขึ้นและผลักดันให้มีสัดส่วนของสินค้าที่กำไรขั้นต้นสูงเพิ่มขึ้น ทั้งจากสินค้ากลุ่ม
อาหารและเครื่องดื่ม และสินค้าอุปโภค

ขณะที่คาดว่าจะใช้งบลงทุนประมาณ 12,000-13,000 ล้านบาท ใช้สำหรับการเปิดร้านสาขาใหม่ 3,800-4,000 ล้านบาท การปรับปรุงร้านเดิม 2,900-3,500 ล้านบาท โครงการใหม่ บริษัทย่อยและศูนย์กระจายสินค้า 4,000-4,100 ล้านบาท สินทรัพย์ถาวร และระบบสารสนเทศ 1,300-1,400 ล้านบาท