posttoday

CPAXT งบ Q1/67 กวาดกำไร 2,481 ล้าน โต 14.6% ยอดขายพุ่ง-ค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยลดลง

09 พฤษภาคม 2567

CPAXT รายงานงบ Q1/67 โชว์กำไรสุทธิ 2,481 ล้านบาท โต 14.6% หลังยอดขายพุ่ง และค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยลดลงจากการปรับโครงสร้างเงินกู้ยืม คาดรายได้ปี 67 ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง เน้นกลยุทธ์การเติบโตผ่านทุกช่องทาง

นายธานินทร์ บูรณมานิต ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซีพี แอ็กซ์ตร้า จำกัด (มหาชน) หรือ CPAXT เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานในไตรมาส 1/2567 บริษัทและบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิ จำนวน 2,481 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 14.6% จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกับการเติบโตของยอดขาย รวมถึงค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยที่ลดลงจากการปรับโครงสร้างเงินกู้ยืม

โดยในไตรมาส 1/2567 กลุ่มธุรกิจค้าส่ง มีกำไรสุทธิ จำนวน 1,568 ล้านบาท ลดลง 17.3% จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน โดยหลักมาจากดอกเบี้ยจากการปรับโครงสร้างเงินกู้ยืมของกลุ่มธุรกิจค้าปลีก ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับ Omni Channel ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานของสาขาใหม่ และค่าใช้จ่ายในการปรับโฉมสาขาเดิม ประกอบกับค่าใช้จ่ายก่อนเริ่มดำเนินงานของศูนย์กระจายสินค้าแห่งใหม่ 

อย่างไรก็ตาม ธุรกิจแม็คโครต่างประเทศ มีผลขาดทุนลดลง จากการดำเนินงานที่ปรับตัวดีขึ้นในประเทศกัมพูชา ขณะที่ประเทศเมียนมา มีกำไรเพิ่มขึ้น 270% จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน รวมถึงธุรกิจฟูดเซอร์วิสที่ปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ส่วนกลุ่มธุรกิจค้าปลีก ในไตรมาส 1/2567 มีกำไรสุทธิ จำนวน 913 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 239.2% จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เป็นผลหลักจากการเติบโตของยอดขายการบริหารจัดการค่าใช้จ่ายอย่างมีประสิทธิภาพ และค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยที่ลดลงจากการปรับโครงสร้างเงินกู้ยืม

ทั้งนี้ ในไตรมาส 1/2567 บริษัทและบริษัทย่อย มีรายได้รวม 127,020 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.7% จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน โดยมีรายได้จากการขาย จำนวน 121,182 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6.3% จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน จากการเติบโตของรายได้จากการขายของกลุ่มธุรกิจค้าส่ง 6.0% จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เป็นผลมาจากการเติบโตของยอดขายภายในสาขาเดิม โดยเฉพาะจากการขายออนไลน์และการขายนอกร้านพร้อมการส่งสินค้าถึงลูกค้า (Omni Channel) และสาขาใหม่ของธุรกิจแม็คโครประเทศไทย ประกอบกับการเติบโตของธุรกิจแม็คโครต่างประเทศและธุรกิจฟูดเซอร์วิส 

ขณะที่รายได้จากการขายของกลุ่มธุรกิจค้าปลีก เพิ่มขึ้น 6.7% จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน จากกลยุทธ์ในการมุ่งเน้นอาหารสดและการขายผ่านช่องทางออนไลน์ ทั้งนี้ สัดส่วน Omni Channel ของบริษัทและบริษัทย่อยคิดเป็น 16.3% ของรายได้จากการขาย ซึ่งดีกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ที่ 15% ตอกย้ำ “ผู้นำเทคโนโลยีค้าปลีกค้าส่ง” เป็นหัวใจสำคัญของการเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันทั้งในระดับประเทศและภูมิภาค

ในไตรมาสนี้ บริษัทและบริษัทย่อย มีรายได้จากการให้บริการและรายได้อื่นรวม จำนวน 2,315 ล้านบาท ลดลง 11.6% จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เป็นผลหลักจากรายได้อื่นของกลุ่มธุรกิจค้าปลีก ซึ่งเป็นกำไรทางบัญชีจากสัญญาซื้อขายเงินตราต่างประเทศล่วงหน้าจากการจ่ายชำระคืนเงินกู้ยืมจากสถาบันการเงินในปีก่อน

สำหรับแนวโน้มธุรกิจปี 2567 บริษัทและบริษัทย่อยคาดการเติบโตของรายได้ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยเน้นกลยุทธ์การเติบโตผ่านทุกช่องทาง ไม่ว่าจะเป็นการขาย Omni Channel การขยายสาขาใหม่ และปรับโฉมสาขาทั้งในประเทศและต่างประเทศ และสร้างศูนย์การค้าให้เป็นศูนย์กลางชุมชนรวมการใช้ชีวิตแบบสมาร์ทของคนทุกวัย โดยนำเสนอในรูปแบบและขนาดตามความต้องการของกลุ่มลูกค้าในแต่ละท้องถิ่นได้ดียิ่งขึ้น

ในไตรมาสแรก 1/2567 บริษัทและบริษัทย่อยได้ดำเนินการเปิดศูนย์จำหน่ายสินค้าใหม่ 4 สาขา และเปิดโลตัส อีทเทอรี 1 แห่ง ซึ่งเป็นไปตามแผนการขยายสาขาที่วางไว้ นอกจากนี้ ยอดขาย Omni Channel ในไตรมาส 1/2567 เติบโตอย่างก้าวกระโดด ถึงเป้าหมายที่ตั้งไว้ 

โดยบริษัทฯ คาดว่ายอดขาย Omni Channel จะเพิ่มสัดส่วนเป็นอย่างน้อย 17% ของยอดขายรวมในปีนี้ จากการเพิ่มความหลากหลายของสินค้า พัฒนาบริการและการขยายพื้นที่ให้บริการ รวมถึงใช้จุดแข็งของธุรกิจค้าส่งและค้าปลีกที่มีเครือข่ายรวมกันกว่า 2,600 สาขาทั่วประเทศ เป็นจุดกระจายและจัดส่งสินค้าเพื่อเพิ่มศักยภาพของสินทรัพย์ที่มีอยู่ พร้อมด้วยการพัฒนาทีมนักขายนอกร้านที่เข้าใจ เข้าถึงลูกค้า เพื่อให้บริการแก่กลุ่มลูกค้า ผู้ประกอบการ 

อีกทั้งการผนึกกำลังของบริษัทและบริษัทย่อย ใช้ความแข็งแกร่งด้านอาหารสด พัฒนาต่อยอดอาหารพร้อมปรุง และอาหารพร้อมทาน รวมทั้งสรรหาสินค้าอุปโภคบริโภคเพื่อสร้างความแตกต่าง ความหลากหลายในราคาที่คุ้มค่า และเพิ่มสัดส่วนยอดขายสินค้าภายใต้แบรนด์ของบริษัท (Private Label)

ทั้งนี้ การเติบโตของภาพรวมรายได้ดังกล่าวข้างต้นจะสอดคล้องกับภาพรวมเศรษฐกิจในประเทศและประเทศที่บริษัทมีการลงทุน โดยมีแรงสนับสนุนจากภาคการท่องเที่ยว ภาคการบริการ รวมถึงภาคการผลิตเริ่มกลับมาขยายตัว ส่งผลดีต่อการบริโภคและตลาดแรงงาน อย่างไรก็ตาม ปัจจัยเชิงลบจากการเผชิญกับการฟื้นตัวเศรษฐกิจโลกที่ช้าและไม่ทั่วถึง รวมถึงกำลังซื้อที่จำกัด ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อฟื้นตัวของเศรษฐกิจและการดำเนินงานของบริษัท

อย่างไรก็ดี บริษัทมุ่งมั่นขับเคลื่อนธุรกิจสู่ความยั่งยืน (ESG) เพื่อเป็นองค์กรที่มีความยั่งยืนระดับโลก ในการสร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และลดผลกระทบเชิงลบด้านสิ่งแวดล้อม ดังนั้น ด้วยกลยุทธ์สร้างการเติบโตทั้งในด้านธุรกิจและความยั่งยืน การบริหารความเสี่ยงให้สอดคล้องกับสภาวะเศรษฐกิจและพฤติกรรมผู้บริโภค พร้อมทั้งการบริหารต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพนั้น บริษัทและบริษัทย่อยจะสร้างรายได้และผลตอบแทนที่ยั่งยืนแก่ผู้มีส่วนได้เสียทุกภาคส่วน