posttoday

โบรกเชียร์ "กองทุน LTF"กระตุ้นตลาดหุ้นไทย ลดแรงขายสถาบัน-บล็อค SHORT SELL

08 พฤษภาคม 2567

"พิชัย ชุณหวชิร" รมว.กระทรวงการคลัง เตรียมเสนอ "กองทุนรวม LTF"กลับมากระตุ้นตลาดหุ้นไทย นักวิเคราะห์ชี้ช่วยลดแรงขายสถาบันฯ - SHORT SELL - เพิ่มสภาพคล่องในระบบ - เม็ดเงินลงทุนหมื่นล้านบาทซัพพอร์ตดัชนีหุ้นไทย บวก 20 จุด

      กลับมาเป็นประเด็นอีกครั้ง หลังจากที่นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกฯ และ รมว.กระทรวงการคลัง เตรียมนำกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF)กลับมาใช้ เพื่อกระตุ้นตลาดหุ้นไทย ถือเป็นการจุดชนวนความคาดหวังขึ้นมาอีกครั้ง หลังจากที่ก่อนหน้านี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนพยายามชงเรื่องปัดฝุ่นกองทุนรวม LTF เพราะเห็นได้ชัดว่าสามารถดึงเม็ดเงินลงทุนได้มากกว่า 50,000 ล้านบาทต่อปีแต่กลับไม่สัมฤทธิ์ผล

     และครั้งนี้ที่ รมว.คลัง จุดประเด็นขึ้นมาอีกครั้งถือว่าน่าติดตาม โดยเฉพาะประเด็นนโยบายและระยะเวลาถือครองที่หลายฝ่ายมองว่าช่วงเวลา 5-7 ปีถือว่าน่าสนใจ

     รู้จัก...กองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF)  

     กองทุนรวมหุ้นระยะยาว (Long - Term Equity Fund : LTF) คือ กองทุนรวมที่เน้นการลงทุนระยะยาวในหุ้น โดยเงินลงทุนใน LTF สามารถนำไปหักลดหย่อนภาษีได้สูงสุดไม่เกิน 15% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษีทั้งปี และไม่เกิน 500,000 บาท เงื่อนไขคือต้องถือหน่วยลงทุนไม่น้อยกว่า 7 ปีปฎิทิน (จากเดิมถือหน่วยลงทุนไม่น้อยกว่า 5 ปีปฏิทิน)

     แต่ "การซื้อกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF)" เพื่อใช้สิทธิลดหย่อนภาษี สิ้นสุดเมื่อวันที่ 31 ธ.ค.2562 โดยมี "กองทุนรวมเพื่อการออม (SSF)" มาแทน เริ่มตั้งแต่ พ.ศ. 2563 ถือหน่วยลงทุนไม่น้อยกว่า 10 ปีนับจากวันที่ซื้อ และในปัจจุบันมี "กองทุนรวมไทยเพื่อความยั่งยืน (TESG)" ระยะเวลาถือครองไม่น้อยกว่า 8 ปีนับจากวันที่ซื้อหน่วยลงทุน เริ่มใช้สิทธิตั้งแต่ พ.ศ. 2566 - 2575 แต่กลับได้รับการตอบรับจากนักลงทุนไม่มากอย่างที่ผ่านมา

     คำถาม คือ "กองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF)" ช่วยหนุนตลาดหุ้นไทย อย่างไร ?

     ฝ่ายวิจัย บล.เอเซีย พลัส ให้มุมมองเรื่องนี้ว่า หาก LTF กลับมาใหม่อีกครั้ง ฝ่ายวิจัยฯประเมินจะมีผลดีต่อตลาดหุ้นไทยในหลากหลายมิติ ดังนี้คือ 1. แรงขายจากนักลงทุนสถาบันฯมีโอกาสลดลง สังเกตได้จากหลังหมด LTF และ SSFX มาซักระยะนักลงทุนสถาบันฯเริ่มขายสุทธิออกมาต่อเนื่อง โดยตั้งแต่ ม.ค.64 – เม.ย.67 สถาบันฯเป็นผู้ขายหุ้นไทยมากสุด 156,268.86 ล้านบาท สูงกว่าต่างชาติ ขาย 103,785.67 ล้านบาท

     2. หักล้างการ REDEEM ใน LTF เก่า พอ LTF หมดลงก็ไม่มีเม็ดเงินใหม่เข้ามาหนุนตลาดฯ มีแต่เม็ดเงินที่ทยอยถอนออก (REDEEM)

     โดยก่อน LTF หมดสิทธิประโยชน์ในการลดหย่อนภาษี 31 ธันวาคม 2562 ตอนนั้นมีเม็ดเงิน LTF คงค้างในระบบสูงถึง 406,416 ล้านบาท ค่อยๆ ถอนออกจากตลาดหุ้นไทย ตั้งแต่พ.ศ.2562-2567 จำนวน 158,866 ล้านบาทกดดันตลาด 

     31 ธันวาคม 2563 เม็ดเงิน LTF คงค้างในระบบ 347,290 ล้านบาท

     31 ธันวาคม 2564 เม็ดเงิน LTF คงค้างในระบบ 365,565 ล้านบาท

     31 ธันวาคม 2565 เม็ดเงิน LTF คงค้างในระบบ 332,352 ล้านบาท

     31 ธันวาคม 2566 เม็ดเงิน LTF คงค้างในระบบ 265,398 ล้านบาท

     และ ล่าสุด เมษายน 2567 เหลือมูลค่าคงค้าง LTF อยู่ที่ 247,550 ล้านบาท หากไม่มีเม็ดเงิน LTF ใหม่เข้ามาช่วยพยุง ตลาดหุ้นไทยก็จะถูกกดดันจากแรงขายในยอดเงินคงค้างต่อ

     3. ลดผลกระทบจากการ SHORT SELL หรือแรงกระทบจากปัจจัยภายนอกส่งผลให้ตลาดหุ้นไทยผันผวนในช่วงระยะสั้น แต่หากมีเม็ดเงิน LTF น่าจะเข้ามาช่วยพยุงในยามผันผวนระยะสั้นได้ เพราะผู้ลงทุน LTF จะหาจังหวะสะสมในช่วงที่ตลาดย่อตัวลงมา

     4. คาดหวังเม็ดเงินจาก LTF ใหม่เข้ามาหนุนราว 60,000-70,000 ล้านบาทต่อปี โดยปกติในอดีตจะมีเม็ดเงิน LTF ใหม่ไหลเข้าหุ้นไทยราว 6 –7 หมื่นล้านบาทต่อปี พร้อมกับช่วยหนุนสภาพคล่องในระบบเพิ่มขึ้น

     พ.ศ. 2556 เม็ดเงิน LTF ราว 4.52 หมื่นล้านบาท

     พ.ศ. 2557 เม็ดเงิน LTF ราว 5.63 หมื่นล้านบาท

     พ.ศ. 2558 เม็ดเงิน LTF ราว 6.37 หมื่นล้านบาท

     พ.ศ. 2559 เม็ดเงิน LTF ราว 5.87 หมื่นล้านบาท

     พ.ศ. 2560 เม็ดเงิน LTF ราว 6.45 หมื่นล้านบาท

     พ.ศ. 2561 เม็ดเงิน LTF ราว 7.66 หมื่นล้านบาท

     พ.ศ. 2562 เม็ดเงิน LTF ราว 7.40 หมื่นล้านบาท

     5. หนุนสภาพคล่อง หรือ TURNOVER ในระบบให้สูงขึ้น โดยในอดีตช่วงมี LTF ตลาดหุ้นไทยมีสภาพคล่องหรือ TURNOVER เฉลี่ยสูงถึง 80% ต่อปี แต่ปัจจุบัน TURNOVER เฉลี่ยเหลือเพียง 62.7% หากสภาพคล่องกลับมาบริเวณปกติ ที่ TURNOVER เฉลี่ยสูงถึง 80% ต่อปีจะมีมูลค่าซื้อขายกลับไป 5.5 หมื่นล้านบาทต่อวัน น่าจะเพียงพอในการขับเคลื่อนดัชนีหุ้นไทยให้ขยับขึ้นได้

โบรกเชียร์ \"กองทุน LTF\"กระตุ้นตลาดหุ้นไทย ลดแรงขายสถาบัน-บล็อค SHORT SELL

     6. อาจจะแบ่งเม็ดเงินจากกองทุนหุ้นเมืองนอกกลับมาบ้าง ล่าสุดฝ่ายวิจัยฯรวบรวมข้อมูลเม็ดเงินกองทุนหุ้นในระบบ พบว่า เป็นเม็ดเงินในกองทุนหุ้นเมืองนอก (FIFEQ + RMFFIFEQ) สูงสุดถึง 641,381,015,623 บาท คิดเป็นสัดส่วนราว 40%ของกองทุนหุ้นทั้งหมด

     ขณะที่เป็นเม็ดเงินจากกองทุน RMF หุ้นไทยเพียง 109,026,284,981 บาท คิดเป็นสัดส่วนราว 7% และ กองทุน LTF เพียง 247,550,378,580 บาท คิดเป็นสัดส่วนราว 15% เท่านั้น

     อย่างไรก็ดี หากมีการฟื้น LTF กลับมาจะช่วยแก้ปัญญาตลาดหุ้นไทยที่เผชิญในปัจจุบันได้หลายมิติ ทั้ง ลดแรงขายจากทางสถาบันฯ, หักล้างการ REDEEM ใน LTF เก่า , ลดผลกระทบจากการ SHORT SELL , เพิ่มสภาพคล่องในระบบ และที่สำคัญหวังเม็ดเงินไหลกลับเข้ามาในประเทศ

 

     ขณะที่ นายกรภัทร วรเชษฐ์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและการบริการการลงทุน บริษัทหลักทรัพย์ กรุงศรี พัฒนสิน จำกัด (มหาชน) กล่าวเช่นกันว่า หากนำ LTF กลับมาใช้จริง ประเมินจิตวิทยาบวกต่อ SET จากโอกาสเห็นเม็ดเงินใหม่กลับมาหนุนตลาดเหมือนในอดีตจะช่วยให้มีเม็ดเงินใหม่หนุน SET

     โดยเม็ดเงินกองทุน LTF ทุกๆ 10,000 ล้านบาทที่เข้ามาจะส่งผลต่อ SET ราว 20 จุด มองจิตวิทยาบวกต่อหุ้น SET50 และ SET100