posttoday

Sell in May 2024 โอกาสหุ้นไทย หรือ ความเสี่ยง ?

30 เมษายน 2567

นักวิเคราะห์โฟกัสการลงทุนเดือนพฤษภาคม คาดการณ์ Sell in May แนะนำรอซื้อดัชนีร่วงแรง เชียร์หุ้นทนทานต่อความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ CPALL, BJC, ICHI, SAPPE, OSP, CBG, COCOCO, BDMS, BH

     "Sell in May" หรือ "Buy in May" ถูกโฟกัสทุกครั้งก่อนเข้าสู่เดือน "พฤษภาคม" ของทุกปี เนื่องจากกังวลนักลงทุนขายหุ้นหลังจากหุ้นที่ซื้อขึ้นเครื่องหมาย XD ได้สิทธิรับเงินปันผล ซึ่งอาจจะส่งผลทำให้ดัชนีหุ้นไทยปรับตัวลดลง

     จากการรวบรวมข้อมูลความเคลื่อนไหวของดัชนีหุ้นไทยในเดือนพฤษภาคม ย้อนหลัง 5 ปี ตั้งแต่ พ.ศ.2562-2566 พบว่า ดัชนีหุ้นไทยในเดือนพฤษภาคม ปรับตัวลดลง 1 ปี ก่อนที่ดัชนีจะปรับตัวเพิ่มขึ้น 2 ปี 

     ข้อมูลจาก setsmart.com พบว่า ดัชนีหุ้นไทย เดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2562 ดัชนีปิดที่ 1,620.22 จุด ลดลง -53.30 จุด คิดเป็น -3.18% มูลค่าการซื้อขาย 1,162,282.88 ล้านบาท

     ส่วนดัชนีหุ้นไทย เดือนพฤษภาคม พ.ศ.2563 ดัชนีปิดที่ 1,342.85 จุด เพิ่มขึ้น 41.19 จุด คิดเป็น 3.16% มูลค่าการซื้อขาย 1,153,042.02 ล้านบาท และ ดัชนีเดือนพฤษภาคม พ.ศ.2564 ปิดที่ 1,593.59 จุด เพิ่มขึ้น 10.46 จุด คิดเป็น 0.66% มูลค่าการซื้อขาย 1,858,323.84 ล้านบาท

     ขณะที่ ดัชนีหุ้นไทย เดือนพฤษภาคม พ.ศ.2565 ดัชนีปิดที่ 1,663.41 จุด ลดลง -4.03 จุด คิดเป็น -0.24% มูลค่าการซื้อขาย 1,392,342.75 ล้านบาท และ เดือนพฤษภาคม พ.ศ.2566 ปรับตัวเพิ่มขึ้น ปิดที่ 1,533.54 จุด เพิ่มขึ้น 4.42 จุด คิดเป็น 0.29% มูลค่าการซื้อขาย 1,055,667.67 ล้านบาท 

Sell in May 2024 โอกาสหุ้นไทย หรือ ความเสี่ยง ?

     คำถาม คือ ดัชนีหุ้นไทย เดือน พฤษภาคม พ.ศ.2567 มีโอกาสปรับตัวเพิ่มขึ้น ใช่หรือไม่ ? 

     นายณัฐ ตรีพูนสุข นักกลยุทธ์การลงทุน บริษัทหลักทรัพย์ หยวนต้า (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า "Sell in May" ถูกหยิบยกมาพูดถึงกันทุกปี เมื่อใกล้เข้าสู่ช่วงเดือน พฤษภาคม โดยในทางทฤษฎี Sell in May เป็นแนวคิดที่ว่านักลงทุนมักจะเทขายหุ้นหลังจากได้รับสิทธิเงินปันผลแล้ว โดยเฉพาะนักลงทุนต่างชาติที่มักจะขายเพื่อนำเงินกลับประเทศ ซึ่งค่าเฉลี่ย 10 ปีที่ผ่านมา หากไม่นับปี 2563 ที่เกิดสถานการณ์ COVID-19 นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิเฉลี่ย 13,000 ล้านบาทในเดือน พฤษภาคม นอกจากนี้การเคลื่อนไหวของ SET Index ในอดีตมักปรับตัวขึ้นได้ดีในเดือนมกราคม ถึง เมษายน จึงมีโอกาสที่จะเกิดแรงขายทำกำไรในเดือนพฤษภาคม

     สำหรับแนวโน้มตลาดหุ้นไทยเดือน พฤษภาคม 2567 ประเมินว่าอาจจะเกิด Sell in May เพราะหากอิงตามสถิติ 10 ปีย้อนหลัง SET Index ปรับตัวลงเฉลี่ย -0.7% นอกจากนี้ยังมีปัจจัยเสี่ยงที่รออยู่ในเดือน พฤษภาคม คือปัจจัยด้านภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างอิหร่านและอิสราเอลที่อาจกลับมาตึงเครียดอีกครั้ง

     หากประเมินการเคลื่อนไหวของดัชนีตลอดเดือน พฤษภาคม ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา SET Index มักปรับตัวลงในช่วงต้นถึงกลางเดือน พฤษภาคมและฟื้นตัวได้ ดังนั้นแม้ฝ่ายวิเคราะห์มอง Performance ในเดือนพฤษภาคม อาจมีแรงขายจากสาเหตุที่กล่าวไปข้างต้น แต่ยังจับจังหวะเข้าลงทุนได้ หากมองภาพรายอุตสาหกรรมพบว่ากลุ่มค้าปลีก, อาหารเครื่องดื่ม และการแพทย์ เคลื่อนไหวได้ดีกว่าตลาด ซึ่งเป็นกลุ่มที่สอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบันพอดี คือทนทานต่อปัจจัยเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ 

     เชิงกลยุทธ์อาจเน้นหุ้นที่แนวโน้มผลประกอบการโดดเด่น และเข้าสะสมในช่วงสัปดาห์ที่ 2 ของเดือน พฤษภาคม เป็นต้นไป

     1. กลุ่มค้าปลีก แนะนำ CPALL และ BJC ได้ประโยชน์จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ หลังจากภาครัฐเร่งใช้จ่ายงบประมาณในปีนี้ ประกอบกับ BJC ยังมีปัจจัยหนุนเฉพาะตัว คือ โอกาสในการได้คัดเลือกเข้าดัชนี SET50 และ SET100

     2. กลุ่มอาหารเครื่องดื่ม เน้นกลุ่มเครื่องดื่มเป็นหลัก จากแนวโน้มผลประกอบการเด่น ยอดส่งออกยังเติบโตดี ประกอบกับค่าเงินบาทที่อ่อนค่าเป็นอีกปัจจัยหนุน แนะนำ ICHI, SAPPE, OSP, CBG และ COCOCO

     3. กลุ่มการแพทย์เด่นสุดในเชิงสถิติ แนะนำ BDMS และ BH คาดแนวโน้มผลประกอบการเติบโตโดดเด่น

 

SELL IN MAY ?

     ฝ่ายวิเคราะห์ บล.แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ ระบุในบทวิเคราะห์ว่า มุมมองการลงทุนประจำเดือน พฤษภาคม พบว่า ความไม่แน่นอนในหลายปัจจัยสร้างความผันผวนแก่ตลาดลงทุน แต่เป็นจังหวะ Buy on dip ในกลุ่มพื้นฐานดี ทั้งนี้การพักฐานของตลาดสินทรัพย์เสี่ยง เกิดจากรายงาน CPI ของสหรัฐ ที่ยังคงดื้อดึงในระดับสูงกว่าเป้าหมาย และประเด็นภูมิรัฐศาสตร์ที่ยืดเยื้อ ซึ่งไปซ้ำเติมให้ราคาน้ำมันดิบปรับสูงขึ้น ด้วยปัจจัยดังกล่าวทำให้ตลาดคาดว่า Fed มีโอกาสสูงที่จะเลื่อนการปรับลดดอกเบี้ยนโยบายครั้งแรกจากไตรมาส 2/2567 เป็น ไตรมาส 3/2567 และเป็นไปได้ที่ปีนี้ดอกเบี้ยจะปรับลดได้เพียง 50 bps. จากที่เคยประมาณการ 75 bps.

     อย่างไรก็ตามดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ของประเทศส่วนใหญ่กลับมาอยู่ในโซนขยายตัว โดยเศรษฐกิจจีนเริ่มส่งสัญญาณฟื้นตัว อันเป็นผลมาจากนโยบายกระตุ้นการบริโภค รวมถึงแนวโน้มเศรษฐกิจยุโรปได้ผ่านจุดต่ำสุดวัฏจักรเศรษฐกิจ สนับสนุนให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจขยายตัวในครึ่งปีหลังได้

Sell in May 2024 โอกาสหุ้นไทย หรือ ความเสี่ยง ?

     ทาง LH Bank Advisory เลือกกลยุทธ์ที่น่าสนใจสำหรับเดือนนี้ คือ

     1.พันธบัตรรัฐบาลและตราสารหนี้ ระดับ Investment Grade เข้าลงทุนใน
ตลาดเงินหรือตราสารหนี้ระยะสั้น เนื่องจากความล่าช้าของการปรับลดอัตราดอกเบี้ย และเป็นการรักษาสภาพคล่อง เตรียมกลับเข้าลงทุนเมื่อเกิดการปรับฐานพร้อมทยอยสะสมตราสารหนี้ที่มี Duration ยาว เพื่อล็อกผลตอบแทนและมีโอกาสสร้างกำไรจากส่วนต่างราคา (Capital Gain) จากการลดดอกเบี้ยในอนาคต

     2. สะสมหุ้นมูลค่า ใช้จังหวะตลาดหุ้นพักฐาน เพื่อสร้างผลตอบแทนในระยะยาว จากกลุ่ม Mega Trend อย่าง ธีม A, กลุ่มพลังงานสะอาด และ Healthcare 

     3. กระจายการลงทุนของพอร์ต เพื่อลดความผันผวน ผ่านกองทุน Global Allocation/Multi Asset Fund ที่กระจายการลงทุนในหลากหลายสินทรัพย์ โดยเน้นหุ้นเติบโตคุณภาพดีและความผันผวนต่ำหรือหุ้นปันผล

     กองทุนแนะนำ จาก LHSEC MUBONDH-A กองทุนเปิด MFC US Aggregate Bond Unhedge Fund ชนิดสะสมมูลค่า ลงทุนในหน่วยลงทุนของกองทุน JPMorgan Funds - US Aggregate Bond Fund ในสกุลเงินเหรียญดอลลาร์สหรัฐ มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างผลตอบแทนจากตลาดตราสารหนี้ของสหรัฐอเมริกา โดนลงทุนในตราสารหนี้สหรัฐในระดับ Investment grade  ไม่น้อยกว่าร้อยละ 67 ของ NAV

     LHCYBER-A กองทุนเปิด LH Global Cybersecurity ชนิดสะสมมูลค่า ลงทุนในหน่วยลงทุนของกองทุน Global X Cybersecurity ETF สกุลเงินดอลล่าร์สหรัฐฯที่จดทะเบียนซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ NASDAQ ซึ่งกองทุนหลักได้จดทะเบียนจัดตั้งในประเทศสหรัฐอเมริกา บริหารและจัดการโดย Global X Management Company LLC โดยจะลงทุนในกองทุนหลักเฉลี่ยในรอบปีบัญชีไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ

     K-GA-A(D) กองทุนเปิด K Global Allocation -A ชนิดจ่ายเงินปันผล ลงทุนในกองทุน BGF Global Allocation Fund A2 USD (Master Fund) ที่มีนโยบายลงทุนในตราสารทุนและตราสารหนี้ทั้งภาครัฐและเอกชนทั่วโลก ป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนไม่น้อยกว่า 75%  ของมูลค่าเงินลงทุนต่างประเทศ