posttoday

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เผย สัปดาห์นี้ ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น-ตลาดหุ้นไทยปิดบวก

04 พฤษภาคม 2567

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เผยค่าเงินบาทสัปดาห์นี้ แข็งค่าหลุดแนว 37.00 บาทต่อดอลลาร์ฯ คาดสัปดาห์หน้าอยู่ที่ระดับ 36.50-37.00 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่หุ้นไทยปิดบวกต่อเนื่องจากสัปดาห์ก่อน คาดสัปดาห์หน้า ดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,355 และ 1,345 จุด แนวต้านอยู่ที่ 1,375 และ 1,385 จุด

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย สรุปภาวะตลาดเงินตลาดทุนรายสัปดาห์ ระหว่างวันที่ 29 เม.ย.-3 พ.ค.2567 ว่า ความเคลื่อนไหวของค่าเงินบาท พบว่า เงินบาทแข็งค่าหลุดแนว 37.00 บาทต่อดอลลาร์ฯ หลังผลการประชุมเฟด และสัญญาณการเข้าแทรกแซงสกัดการอ่อนค่าของเงินเยนจากทางการญี่ปุ่น

เงินบาทอ่อนค่าลงในช่วงต้นสัปดาห์สอดคล้องกับสกุลเงินส่วนใหญ่ในเอเชีย นำโดย เงินเยนซึ่งอ่อนค่าทะลุแนว 160.00 ไปแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบ 34 ปี ที่ 160.17 เยนต่อดอลลาร์ฯ ท่ามกลางแรงกดดันต่อเนื่องหลังการประชุมธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) รอบที่ผ่านมา อย่างไรก็ดี เงินบาททยอยฟื้นตัวแข็งค่ากลับมาตามทิศทางเงินเยนที่พลิกแข็งค่าขึ้นอย่างมาก ขณะที่ตลาดมีความกังวลต่อสัญญาณการเข้าดูแลค่าเงินเยน หลังมีข้อมูลอย่างเป็นทางการเปิดเผยออกมาว่า ทางการญี่ปุ่นได้เข้าแทรกแซงตลาดในสัปดาห์นี้เพื่อพยุงค่าเงินเยน (ด้วยการเข้าซื้อเงินเยนและขายเงินดอลลาร์ฯ) หลังจากที่เงินเยนอ่อนค่าลงอย่างรวดเร็วในช่วงที่ผ่านมา

นอกจากนี้ เงินดอลลาร์ฯ ยังขาดแรงหนุน หลังผลการประชุมเฟด (30 เม.ย.-1 พ.ค.) ที่แม้จะมีมติคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่กรอบ 5.25-5.50% ตามเดิม แต่ก็มีการประกาศรายละเอียดของกระบวนการชะลอการลดงบดุล ซึ่งปัจจัยนี้กดดันบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ ให้ปรับตัวลง ประกอบกับถ้อยแถลงของประธานเฟดยังคงย้ำถึงการรอจังหวะลดดอกเบี้ยเมื่อเงินเฟ้อสหรัฐฯ กลับลงไปอยู่ในระดับที่เฟดสบายใจ และปฏิเสธโอกาสการขึ้นดอกเบี้ย ซึ่งเป็นท่าทีที่แข็งกร้าว (Hawkish tone) น้อยกว่าที่ตลาดคาด

ในวันศุกร์ที่ 3 พ.ค. 2567 เงินบาทปิดตลาดในประเทศที่ระดับ 36.78 บาทต่อดอลลาร์ฯ เทียบกับระดับ 36.96 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (26 เม.ย. 67) สำหรับสถานะพอร์ตการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติระหว่างวันที่ 29 เม.ย.-3 พ.ค. 2567 นั้น นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิหุ้นไทย 2,170 ล้านบาท แต่มีสถานะเป็น Net Inflows เข้าตลาดพันธบัตรไทย 7,145 ล้านบาท (ซื้อสุทธิพันธบัตรไทย 8,395 ล้านบาท หักตราสารหนี้หมดอายุ 1,250 ล้านบาท)

สัปดาห์ถัดไป (6-10 พ.ค.) ธนาคารกสิกรไทยมองกรอบการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทที่ระดับ 36.50-37.00 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ สัญญาณการเข้าแทรกแซงตลาดเพื่อสกัดการอ่อนค่าของเงินเยนของทางการญี่ปุ่น ผลการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) และธนาคารกลางออสเตรเลีย (RBA) ถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟด ซึ่งจะมีผลกระทบต่อทิศทางเงินทุนต่างชาติ การเคลื่อนไหวของค่าเงินเอเชียและราคาทองคำในตลาดโลก 

ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจต่างประเทศที่สำคัญ ได้แก่ ดัชนี PMI ภาคบริการเดือนเม.ย. ของจีน ยูโรโซน และญี่ปุ่น ตัวเลขการส่งออกเม.ย. ของจีน รวมถึงตัวเลขจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ ดัชนีความเชื่อมั่นและตัวเลขเงินเฟ้อคาดการณ์ในมุมมองของผู้บริโภค (เบื้องต้น) เดือนพ.ค. ของสหรัฐฯ

สรุปความเคลื่อนไหวตลาดหุ้นไทย

ดัชนีหุ้นไทยยังปิดบวก แม้ภาพรวมจะแกว่งตัวในกรอบแคบตลอดสัปดาห์ ภาพรวมตลาดหุ้นไทยปรับตัวขึ้นจากสัปดาห์ก่อน แม้ในช่วงแรกกรอบการปรับขึ้นของ SET Index จะเป็นไปอย่างจำกัด เนื่องจากมีปัจจัยกดดันจากตัวเลขส่งออกเดือนมี.ค.ของไทยที่หดตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 8 เดือน การปรับประมาณการจีดีพีไทยปีนี้ลงมาที่ 2.4% โดยกระทรวงการคลัง และแรงขายหุ้นผู้ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์รายใหญ่แห่งหนึ่ง แต่หุ้นไทยดีดตัวขึ้นชัดเจนในเวลาต่อมาท่ามกลางแรงซื้อคืนหุ้นหลายกลุ่ม โดยเฉพาะกลุ่มแบงก์ และกลุ่มอาหารและเครื่องดื่มจากการคาดการณ์เรื่องผลประกอบการ ประกอบกับมีแรงหนุนเพิ่มเติมจากทิศทางหุ้นภูมิภาคในช่วงปลายสัปดาห์หลังบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ ปรับตัวลงต่อเนื่องจากช่วงหลังผลการประชุมเฟด

อนึ่งหุ้นไทยย่อตัวลงสั้นๆ ช่วงกลางสัปดาห์ หลังวันหยุดแรงงาน ตามแรงขายของกลุ่มนักลงทุนต่างชาติ ประกอบกับมีแรงขายทำกำไรในหุ้นกลุ่มพลังงาน หลังราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับตัวลง
ในวันศุกร์ที่ 3 พ.ค. 2567 ดัชนี SET ปิดที่ระดับ 1,369.92 จุด เพิ่มขึ้น 0.73% จากระดับปลายสัปดาห์ก่อน ขณะที่มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 41,955.64 ล้านบาท ลดลง 0.11% จากสัปดาห์ก่อน ส่วนดัชนี mai ลดลง 0.45% มาปิดที่ระดับ 389.46 จุด

สัปดาห์ถัดไป (6-10 พ.ค.) บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด มองว่า ดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,355 และ 1,345 จุด ขณะที่แนวต้านอยู่ที่ 1,375 และ 1,385 จุด ตามลำดับ โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟด ทิศทางเงินทุนต่างชาติ และผลประกอบการไตรมาส 1/2567 ของบจ.ไทย ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนพ.ค. (เบื้องต้น) รวมถึงจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ ขณะที่ปัจจัยเศรษฐกิจต่างประเทศอื่นๆ ได้แก่ ดัชนี PMI ภาคบริการเดือนเม.ย.ของจีน ญี่ปุ่นและยูโรโซน การประชุม BOE และตัวเลขจีดีพีไตรมาส 1/2567 ของอังกฤษ ตลอดจนตัวเลขส่งออกเดือนเม.ย.ของจีน