posttoday

เงินบาทวันนี้36.65-36.90 เปิดเช้าแข็งขึ้นไม่มากอยู่ที่ 36.78บาท/ดอลลาร์

18 เมษายน 2567

Krungthai GLOBAL MARKETS แนะเงินบาทวันนี้36.65-36.90 บาทต่อดอลลาร์ ขณะที่เปิดเช้าแข็งขึ้นไม่มากอยู่ที่ 36.78 บาทต่อดอลลาร์ โดยเงินบาทมีสัญญาณอ่อนค่าลง พร้อมจับตาทางการญี่ปุ่นจะเข้าแทรกแซงตลาดค่าเงิน เพื่อหนุนให้เงินเยนในช่วง 155 เยนต่อดอลลาร์

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยทิศทางเงินบาทวันนี้ว่าจะอยู่ช่วง 36.65-36.90 บาทต่อดอลลาร์ โดยค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ  36.78 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งแข็งค่าขึ้นเล็กน้อยจากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ  36.80 บาทต่อดอลลาร์

โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนก่อนหน้า ค่าเงินบาทโดยรวมเคลื่อนไหวในกรอบ Sideways (แกว่งตัวในช่วง 36.70-36.85 บาทต่อดอลลาร์) โดยมีจังหวะแข็งค่าขึ้นบ้าง ตามการย่อตัวลงของเงินดอลลาร์ หลังผู้เล่นในตลาดบางส่วนอาจทยอยขายทำกำไรสถานะ Long USD (มองเงินดอลลาร์แข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินอื่นๆ) ออกมาบ้าง ทั้งนี้ เงินบาทยังคงเผชิญแรงกดดันฝั่งอ่อนค่า จากโฟลว์ธุรกรรมซื้อทองคำในจังหวะย่อตัว หลังราคาทองคำย่อตัวลงบ้าง เพื่อรอรับรู้ปัจจัยใหม่ ๆ

ทว่าผู้เล่นในตลาดต่างยังคงต้องการซื้อทองคำอยู่ ท่ามกลางสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลางที่ยังคงร้อนแรง รวมถึง ความต้องการถือทองคำเพื่อเป็นสินทรัพย์ป้องกันความเสี่ยงจากภาวะเงินเฟ้อสูง อนึ่ง ผู้เล่นในตลาดต่างทยอยขายเงินดอลลาร์ โดยเฉพาะในจังหวะที่เงินบาทอ่อนค่าทดสอบโซนแนวต้าน 36.85-36.90 บาทต่อดอลลาร์ ส่งผลให้เงินบาทยังไม่สามารถอ่อนค่าทะลุโซนดังกล่าวไปได้

สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท Krungthai GLOBAL MARKETS มองว่า ปัจจัยกดดันเงินบาทฝั่งอ่อนค่ายังคงมีอยู่ ทั้ง ความกังวลแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด (ซึ่งจะคลี่คลายลงได้ เมื่อตลาดรับรู้รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญสหรัฐฯ ที่ต้องสะท้อนภาพการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจมากขึ้น) รวมถึง ความกังวลสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลางที่อาจทวีความรุนแรงและบานปลายมากขึ้น

ขณะเดียวกัน เงินบาทก็ยังคงเผชิญแรงกดดันจาก แรงขายสินทรัพย์ไทยจากนักลงทุนต่างชาติ และโฟลว์ธุรกรรมจ่ายเงินปันผลให้กับนักลงทุนต่างชาติ ทำให้เงินบาทยังมีโอกาสผันผวนอ่อนค่าทดสอบโซนแนวต้าน 36.90 บาทต่อดอลลาร์ ได้อีกครั้ง หลังจากที่เงินบาทได้อ่อนค่าทะลุโซน 36.80-36.85 บาทต่อดอลลาร์ อย่างไรก็ดี ยังมองว่า ผู้เล่นในตลาดบางส่วน โดยเฉพาะฝั่งผู้ส่งออก ก็อาจรอทยอยขายเงินดอลลาร์ในช่วงโซน 36.85-36.90 บาทต่อดอลลาร์ ทำให้เงินบาทก็อาจยังไม่สามารถอ่อนค่าทะลุโซนดังกล่าวไปได้ จนกว่าจะมีปัจจัยกดดันใหม่ๆ เพิ่มเติม 

ทั้งนี้ ผู้เล่นในตลาดควรเฝ้าระวังและติดตามความเสี่ยงที่ทางการญี่ปุ่นจะเข้าแทรกแซงตลาดค่าเงิน เพื่อหนุนให้เงินเยนญี่ปุ่น (JPY) พลิกกลับมาแข็งค่าขึ้น โดยเราคาดว่า โซนที่ทางการญี่ปุ่นอาจเข้าแทรกแซงอาจอยู่ในช่วง 155 เยนต่อดอลลาร์ แต่จะขึ้นกับโมเมนตัมของเงินดอลลาร์และภาวะตลาดการเงิน ว่าจะเอื้ออำนวยให้ทางการญี่ปุ่นเข้าแทรกแซงหรือไม่ และคาดว่า การเข้าแทรกแซงดังกล่าว หากเกิดขึ้นได้จริง ก็สามารถส่งผลให้ เงินเยนญี่ปุ่น พลิกกลับมาแข็งค่าขึ้น เร็วและแรง กลับสู่โซน 150-151 เยนต่อดอลลาร์ ได้ไม่ยาก (หากเงินเยนแข็งค่าหลุด 152 เยนต่อดอลลาร์ อาจเกิด stop loss บางส่วน ในฝั่งผู้เล่นที่มีสถานะ Short JPY หรือมองเงินเยนอ่อนค่า)

ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังคงเผชิญแรงขายอย่างต่อเนื่อง ท่ามกลางความกังวลแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด ปัญหาความขัดแย้งในตะวันออกกลางที่ยังร้อนแรงอยู่และรายงานผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนที่ออกมาแย่กว่าคาด ส่งผลให้โดยรวมดัชนี S&P500 ปิดตลาดราว -0.58%

ทางฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 รีบาวด์ขึ้น +0.06% หนุนโดยความหวังการทยอยลดดอกเบี้ยของธนาคารกลางยุโรป (ECB) ที่อาจเกิดขึ้นในการประชุมเดือนมิถุนายน รวมถึง รายงานผลประกอบการที่ออกมาดีกว่าคาดของทั้ง LVMH +2.8% และ Adidas +8.6% อย่างไรก็ดี รายงานผลประกอบการของบริษัทเทคฯ ใหญ่ อย่าง ASML -6.7% ที่ออกมาน่าผิดหวัง ก็กดดันให้ตลาดหุ้นยุโรปไม่สามารถปรับตัวขึ้นไปได้มาก 

ในฝั่งตลาดบอนด์ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ พลิกกลับมาปรับตัวลดลงใกล้ระดับ 4.60% ตามการปรับสถานะถือครองของผู้เล่นในตลาดบางส่วน นอกจากนี้ การปรับตัวลดลงของราคาน้ำมันดิบ ก็มีส่วนกดดันให้บอนด์ยีลด์ระยะยาวย่อตัวลงบ้าง ทั้งนี้ ในระยะสั้น ประเมินว่า บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ อาจยังคงแกว่งตัว sideways ในโซน 4.50%-4.60% จนกว่าตลาดจะรับรู้ปัจจัยใหม่ๆ เพิ่มเติม อาทิ รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญสหรัฐฯ ที่จะส่งผลให้ผู้เล่นในตลาดปรับมุมมองต่อแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด และที่สำคัญคงย้ำมุมมองเดิมว่า บอนด์ระยะยาว อย่าง บอนด์ 10 ปี สหรัฐฯ ยังมีความน่าสนใจ และ Risk-Reward มีความคุ้มค่ามากขึ้น หลังบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ได้ปรับตัวขึ้นทะลุโซน 4.50% เปิดโอกาสให้ผู้เล่นในตลาดทยอยเข้าซื้อสะสมได้ (Buy on Dip)

ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์ย่อตัวลงบ้าง เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ตามแรงขายทำกำไรสถานะ Long USD ของผู้เล่นในตลาดบางส่วน อีกทั้งผู้เล่นในตลาดต่างก็รอจับตาปัจจัยใหม่ๆ เพิ่มเติม อย่างไรก็ดี เงินดอลลาร์ยังพอได้แรงหนุนอยู่บ้าง จากความต้องการถือเป็นสินทรัพย์ปลอดภัย ท่ามกลางความกังวลสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลาง ทำให้ดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ย่อตัวลงเล็กน้อยใกล้ระดับ 106 จุด (แกว่งตัวในกรอบ 105.9-106.3 จุด)

ในส่วนของราคาทองคำ แม้ว่า ทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ จะย่อตัวลงบ้าง แต่ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน มิ.ย.) ก็ยังขาดปัจจัยหนุนใหม่ๆ ที่จะทำให้ราคาทองคำปรับตัวขึ้นต่อได้ ทำให้ผู้เล่นในตลาดยังคงทยอยขายทำกำไรทองคำในช่วงโซน 2,400 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ทั้งนี้ ความกังวลสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลาง ยังพอช่วยหนุนให้ราคาทองคำยังสามารถแกว่งตัวเหนือโซน 2,380 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ได้ในช่วงคืนที่ผ่านมา
 
สำหรับวันนี้ รายงานข้อมูลเศรษฐกิจที่สำคัญอาจมีไม่มากนัก ทว่าผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ ผ่านรายงานยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงาน (Jobless Claims) พร้อมทั้งรอจับตาถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด โดยเฉพาะบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดที่เคยให้มุมมองเชิง Neutral หรือ Dovish ต่อทิศทางนโยบายการเงิน ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างไร หลังรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในช่วงหลังออกมาดีกว่าคาดและอัตราเงินเฟ้อก็ดูจะชะลอตัวลงช้ากว่าที่เฟดเคยประเมินไว้