posttoday

เปิดมาตรฐาน - กระบวนการส่งออก ‘ข้าวเก่า 10 ปี’ เป็นไปได้หรือไม่?

08 พฤษภาคม 2567

เห็นรมว.พาณิชย์ โชว์กินข้าวเก่าอายุ 10 ปีให้ดู ก็ต้องยกนิ้วให้กับความกล้า และบอกว่าจะส่งออกไปยังแอฟริกา โพสต์ทูเดย์จะพาไปเปิดเกณฑ์ว่าข้าวเหล่านี้จะสามารถส่งออกได้จริงหรือไม่! และนี่อาจจะเป็น ‘เคสแรก’ ของไทยที่มีการส่งออก ข้าวเก่านานขนาดนี้

ประเทศที่ทาง รมว.พาณิชย์ ระบุว่าจะส่งออก ‘ข้าวเก่า 10 ปี’ ในโครงการรับจำนำข่าวในสมัยของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตรนั้น ระบุว่ามีหมุดหมายเป็น ทวีปแอฟริกา จากข้อมูลพบว่ามีประเทศในแถบนี้ที่รับซื้อข้าวเก่า ส่วนหนึ่งเพราะเป็นประเทศยากจน การซื้อข้าวเก่าเหล่านี้จะได้ในราคาถูก

อย่างไรก็ตามการขายข้าวให้กับทวีปเหล่านี้โดยส่วนใหญ่จะนำไปนึ่งก่อนโดยส่งออกในลักษณะของข้าวนึ่ง


ข้าวนึ่ง ไม่ใช่ข้าวที่เรานึ่งสุกแทน แต่เป็นข้าวที่เวลาไปหุงต่อให้สุกจะใช้น้ำน้อยลง โดยหลักการการทำเป็นข้าวนึ่งนั้น จะนำ
‘ข้าวเปลือก’ มาทำเพื่อเป็นการทำให้ข้าวหักน้อยลงและปรับปรุงคุณค่าทางโภชนาการของข้าวเก่า ซึ่งยิ่งเก็บนาน คุณค่าทางโภชนาการก็จะน้อยลง เพื่อให้สารอาหารจากชั้นเปลือกซึมเข้าไปในเนื้อระหว่างการแช่ และ การนึ่ง และทำให้ข้าวที่ได้มีสีเหลืองอ่อน โภชนาการจะสูงขึ้นเมื่อนำไปนึ่ง แต่มักจะทำกับ ‘ข้าวเปลือก’ เท่านั้น!


เมื่อ ‘ข้าว 10 ปี’ เหล่านี้ถูกเก็บเป็นข้าวสาร ก็อาจจะไม่สามารถเข้าสู่กระบวนการเหล่านี้ได้หรือไม่

ซึ่งก็ต้องดูว่าบริษัทที่จะเข้ามาประมูลข้าวล็อตนี้ จะใช้วิธีการปรับปรุงคุณภาพอย่างไร เพื่อให้ตรงกับหลักเกณฑ์ในการส่ง
ออกที่ทางกระทรวงพาณิชย์กำหนด

 

จากการสอบถามบุคคลที่ได้ชิม ‘ข้าว 10 ปี’ และมีความรู้เป็นอย่างดีพบว่า ลักษณะของข้าวที่เห็นเบื้องต้น คือ
1. ข้าวมีสีเหลือง จากการเป็นข้าวเก่า ซึ่งข้าวลักษณะนี้สามารถนำไปขัดสีได้ออกมาน่าพอใจหรือไม่
2. มีแมลงหรือมอดมากน้อยเพียงใด ซึ่งข้าวล็อตนี้มีการรมสารกำจัดมอดและแมลงอยู่ตลอด เมื่อสอบถามถึงความ
อันตราย ก็พบว่าสารเหล่านี้จะสลายหายไปเมื่อถึงเวลา จึงจำเป็นต้องมีการรมตลอด และไม่มีอันตรายต่อผู้บริโภค
3. มีเชื้อราหรือไม่? ซึ่งสิ่งนี้เป็นสิ่งที่นักวิชาการบางคนออกมาตั้งคำถาม และต้องมีการตรวจสอบให้ดี
4. มีกลิ่น โดยพบว่าข้าวที่เก็บนั้นมีกลิ่นไม่พึงประสงค์

 

 

จะส่งออกข้าวเหล่านี้ได้จริงหรือ?


จะส่งออกข้าวล็อตนี้ได้จริงหรือไม่? สิ่งสำคัญคือต้องกลับไปดูเกณฑ์มาตรฐานการส่งออกข้าวซึ่งทางกระทรวงพาณิชย์ได้ประกาศ ยกตัวอย่างเช่น

ข้าวขาว ๑๐ เปอร์เซ็นต์
ต้องมีพื้นข้าว ส่วนผสมของเมล็ดข้าว และระดับการขัดสี ดังนี้

พื้นข้าว ประกอบด้วย
ข้าวเมล็ดยาวชั้น 1 ไม่น้อยกว่าร้อยละ 10.0 นอกนั้นเป็นข้าวเมล็ดยาวชั้น 2 และหรือชั้น 3
ในจํานวนทั้งหมดนี้ อาจมีข้าวเมล็ดสั้นได้ไม่เกินร้อยละ 15.0

ส่วนผสม ประกอบด้วย ข้าวเต็มเมล็ด ไม่น้อยกว่าร้อยละ 55.0
ข้าวหักที่มีความยาวตั้งแต่ 3.5 ส่วนขึ้นไป แต่ไม่ถึง 7.0 ส่วนไม่เกินร้อยละ 12.0 ในจํานวนนี้อาจมีข้าวหักที่มีความยาวไม่ถึง 3.5 ส่วน และไม่ผ่านตะแกรงเบอร์ 7 ไม่เกินร้อยละ 0.7 และปลายข้าวขาวซีวันไม่เกินร้อยละ 0.3 นอกนั้นเป็นต้น ข้าวที่มีความยาวตั้งแต่ 7.0 ส่วนขึ้นไป

ข้าวและสิ่งที่อาจมีปนได้

ข้าวเมล็ดแดงและหรือข้าวเมล็ดขัดสีต่ำกว่ามาตรฐานไม่เกินร้อยละ 2.0
ข้าวเมล็ดเหลือง ไม่เกินร้อยละ 1.0
ข้าวเมล็ดท้องไข่ ไม่เกินร้อยละ 7.0
ข้าวเมล็ดเสีย ไม่เกินร้อยละ 0.5
ข้าวเหนียว ไม่เกินร้อยละ 1.5
ข้าวเปลือก ไม่เกิน 13 เมล็ดต่อข้าว 1 กิโลกรัม
ข้าวเมล็ดลีบ ข้าวเมล็ดอ่อน เมล็ดพืชอื่น และวัตถุอื่น อย่างใดอย่างหนึ่ง หรือ หลายอย่างรวมกันไม่เกินร้อยละ 0.4

ระดับการขัดสี สีดี


จากข้อมูลดังกล่าวทำให้ได้เห็นว่า การส่งออกข้าวนั้นไม่ได้พิจารณาในเรื่องของกลิ่น จึงตัดปัญหาเรื่องกลิ่นออก ส่วนข้าวเมล็ดเหลืองสามารถปะปนได้ไม่เกิน ร้อยละ 1.0 หมายความว่าหาก ‘ข้าว 10 ปี’ ไปปรับปรุงคุณภาพแล้วแต่ยังมีเมล็ดเหลือง ก็จะสามารถส่งออกได้
เฉลี่ยที่ไม่เกินร้อยละ 1.0 เป็นต้น


หมายความว่า ต้องมีการนำไปผสมกับข้าวใหม่หรือไม่ เพื่อที่จะสามารถส่งออกได้ไม่ผิดกฎหมาย


ตามปกติ กระทรวงพาณิชย์เองก็จะมีหน้าที่รับผิดชอบตรวจคุณภาพข้าวก่อนส่งออก นอกจากนี้ก็จะมีการตรวจเรื่อง
แมลงอื่นๆ จากบริษัทเอกชน
ส่วนผู้รับปลายทาง ซึ่งมีการระบุว่าจะส่งไปยังประเทศในทวีปแอฟริกา ตามปกติการส่งออกข้าวเป็นการทำสัญญาใน
ระดับ เอกชน ต่อ เอกชน ไม่ใช่ในระดับรัฐบาลต่อรัฐบาล หมายถึง หากสัญญาจบว่ารับข้าวประเภทนี้ ก็ไม่มี
ปัญหาอะไร!


อย่างไรก็ตาม หากการส่งออกข้าวเก่า 10 ปี นี้สามารถทำได้ แหล่งข่าวระบุ นี่อาจจะเป็นเคสแรกของประเทศไทย ที่
มีการส่งออกข้าวเก่าขนาดนี้


ก็ต้องบอกว่าเอกชนเจ้าไหนจะมาประมูลก็อาจต้องคิดหนักจากแรงกระเพื่อมทางสังคมด้วย และต้องคิดถึงภาพลักษณ์การส่งออกข้าวไทยด้วยเช่นกัน! 


ส่วนกระบวนการฟอกข้าวเก่า จะส่งผลต่อการฟอกตัวใครหรือไม่ นั่นเป็นเรื่องที่ต้องดูต่อไป