posttoday

แผน OneWeb บุกตลาดบรอดแบนด์ไทยสะดุด เอ็นที สูญรายได้ 100 ล.

18 เมษายน 2567

หลังไทยคม ร้อง กสทช.หวั่นต่างชาติทุบผู้ประกอบการไทย เหตุไม่ต้องประมูลธุรกิจดาวเทียมวงโคจรต่ำ ไม่มีต้นทุนค่าใบอนุญาตราคาสูง ขณะที่เอ็นที พันธมิตร OneWeb ในประเทศไทย เผย อาจสูญรายได้ 100 ล้านบาทในเฟสแรก

พ.อ.สรรพชัยย์ หุวะนันทน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ เอ็นที กล่าวว่า ขณะนี้แผนการเป็นพันธมิตรทางธุรกิจกับ OneWeb ในการทำตลาดดาวเทียมบรอดแบนด์ด้วยดาวเทียมวงโคจรต่ำ ในประเทศไทย ยังอยู่ระหว่างการรอกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (บอร์ดกสทช.) อนุมัติ โดยล่าสุด บริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) ได้เข้ามาชี้แจงกับเอ็นที ว่าจะส่งหนังสือขอให้บอร์ดกสทช.ชะลอการออกใบอนุญาตในกิจการดาวเทียม 2 ประเภท ได้แก่ ใบอนุญาตการให้ดาวเทียมต่างชาติเข้ามาให้บริการในประเทศ (Landing Right) และใบอนุญาตสร้างสถานีรับสัญญาณดาวเทียมภาคพื้นดิน (Gateway license) 

ทั้งนี้ ไทยคม ได้ยกกรณีตัวอย่าง ในประเทศมาเลเซียที่  Starlink ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงผ่านดาวเทียม จากบริษัท SpaceX ได้ยื่นขอเสนอโครงการมาโดยตรงกับรัฐบาลมาเลเซีย แต่พอผ่านไป โครงการก็ไม่ประสบความสำเร็จ และมีข่าวว่า Starlink กำลังถอนการลงทุน โดยผลกระทบตอนนี้ก็ทำให้ผู้ประกอบการในประเทศไม่สามารถแข่งขันได้

OneWeb เลือกเอ็นทีเป็นพันธมิตรเพราะเป็นรัฐวิสาหกิจเป็นตัวแทนจากรัฐบาลและมีศักยภาพและมั่นใจว่าจะสามารถดำเนินการได้ เพื่อผลักดันให้ไทยเป็นฮับด้านดาวเทียมวงโคจรต่ำ ในภูมิภาค CLMV 

พ.อ.สรรพชัยย์ กล่าวว่า หากโครงการนี้สำเร็จและให้บริการได้ในเฟสแรก เอ็นทีจะมีรายได้จาก OneWeb ประมาณ 80-100 ล้านบาท แต่ในเมื่อยังไม่เกิดก็ทำได้เพียงรอ ไทยคม กับ เอ็นที ก็เป็นพันธมิตรกันมายาวนาน ประเด็นนี้จึงไม่ขอพูดว่าผิดหรือถูก ให้เป็นทางบอร์ดกสทช.พิจารณา

สำหรับโครงการดังกล่าว เอ็นทีได้เตรียมสถานีสิรินธร เป็นสถานีเกตเวย์ภาคพื้นดินทำหน้าที่บริหารจัดการเครือข่ายดาวเทียมมีเป้าหมายให้บริการบรอดแบนด์ผ่านดาวเทียมครอบคลุมภูมิภาคอาเซียน โดยเดิมนั้นมีกำหนดให้บริการไตรมาส 2 ปี 2566 แต่ขณะนี้ล่าช้ากว่ากำหนดเดิมราว 1 ปี หลังจากรอใบอนุญาตนำเข้าอุปกรณ์บางตัวจากกสทช. จนเมื่อต้นปี 2567 งานก่อสร้างทั้งหมดเสร็จเรียบร้อยแล้ว 100% ตอนนี้รอเพียงใบอนุญาตให้บริการจากกสทช. คือ Landing Right และ Gateway License

อย่างไรก็ตาม เอ็นทีได้เริ่มโครงการก่อสร้างสถานีเกตเวย์ดาวเทียมวงโคจรต่ำ ขนาดพื้นที่ประมาณ 40,000 ตารางเมตร ภายใต้โครงการ “OneWeb Satellite Network Portal Site Hosting Services” ในบริเวณสถานีดาวเทียมสิรินธร จังหวัดอุบลราชธานี ประกอบด้วยการติดตั้งฐานจานสายอากาศจำนวน 14 ฐาน เพื่อติดตั้งจานสายอากาศเบื้องต้น 12 จานสายอากาศ พร้อมอุปกรณ์และสิ่งอำนวยความสะดวกที่ได้รับการออกแบบให้รองรับสถานีภาคพื้นดินที่สมบูรณ์แบบ พร้อมอุปกรณ์และสิ่งอำนวยความสะดวกที่ได้รับการออกแบบให้รองรับสถานีภาคพื้นดินที่สมบูรณ์แบบสำหรับดาวเทียม OneWeb ด้วยคุณภาพบริการที่ระดับ SLA ไม่น้อยกว่า 99.99 %  

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ผ่านมาไทยคมได้เข้าร่วมประมูลวงโคจรดาวเทียมจากสำนักงาน กสทช. ผ่านบริษัท สเปซ เทค อินโนเวชั่น จำกัด บริษัทลูก และชนะการประมูล จำนวน 2 ชุด รวมมูลค่า 797 ล้านบาท ได้แก่ วงโคจร 78.5 E และวงโคจร 119.5 E ไทยคมยังได้ขออนุมัติวงเงินลงทุนจากบอร์ดบริษัทจำนวนไม่เกิน 15,203 ล้านบาทภายใต้แผนยิงดาวเทียมบรอดแบนด์ 3 ดวง ซึ่งอาจเป็น 2 ดวงเล็กและ 1 ดวงใหญ่ ในวงโคจร 119.5 E ซึ่งถือเป็นตำแหน่งที่เหมาะสมในการทำตลาดครอบคลุมภูมิภาคเอเชียตะวันออก เฉียงใต้ เอเชียเหนือ ออสเตรเลีย และภูมิภาคอินโดจีน

โดยจะเริ่มจากการยิงดาวเทียมดวงเล็กก่อนเพราะใช้เวลาสร้างเพียง 18 เดือน เทียบกับการสร้างดาวเทียมดวงใหญ่ซึ่งใช้เวลา 4 ปี ส่วนตำแหน่งวงโคจร 78.5 องศาตะวันออกนั้น คาดว่าแผนยิงดาวเทียมจะมีความชัดเจนภายใน 1 ปี โดยอย่างน้อยต้องยิงดาวเทียมให้ได้ 1 ดวงภายใน 3 ปี หลังได้รับใบอนุญาตจาก กสทช.