posttoday

จากยางพาราไทย สู่'แผ่นรองรางรถไฟ'

03 มีนาคม 2560

ไทยกำลังมีการเตรียมลงทุนระบบรางครั้งใหญ่มูลค่าประมาณ 2 ล้านล้านบาท และภาครัฐได้ส่งเสริมให้เอกชน พัฒนางานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อรองรับการลงทุนระบบราง

โดย...วราภรณ์ เทียนเงิน

ประเทศไทยกำลังมีการเตรียมลงทุนระบบรางครั้งใหญ่มูลค่าประมาณ 2 ล้านล้านบาท และภาครัฐได้ส่งเสริมให้เอกชนในประเทศไทย พัฒนางานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อรองรับการลงทุนระบบราง โดยภาคเอกชนไทย “ไอ อาร์ ซี (เอเซีย) รีเสิร์ช” ที่ได้มีการมุ่งพัฒนางานวิจัยและนวัตกรรม เทคโนโลยีอย่างเข้มข้น พร้อมกับการสร้างนวัตกรรม “แผ่นรองรางรถไฟ” ขึ้นมาสำเร็จ เพื่อรองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมระบบรางของไทยในอนาคต

“ธเนศ สุขโต” ผู้จัดการแผนกวิจัยและพัฒนา (อาร์แอนด์ดี) บริษัท ไอ อาร์ ซี (เอเซีย) รีเสิร์ช เปิดเผยว่า บริษัทได้มีการพัฒนานวัตกรรมเพื่อเพิ่มมูลค่ายางธรรมชาติสู่ผลิตภัณฑ์ “แผ่นรองรางรถไฟ” เพื่อรองรับโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งจะช่วยเพิ่มมูลค่าให้แก่ยางพาราไทย และสามารถชดเชยการนำเข้าผลิตภัณฑ์จากต่างประเทศได้ ถือว่ามีคุณสมบัติและการใช้งาน รวมถึงราคาที่มีความใกล้เคียงกัน

แผ่นรองรางรถไฟเพื่อรองรับโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน โดยเป็นแผ่นรองรางรถไฟที่มีคุณภาพมาตรฐาน และได้รับมาตรฐาน มอก.2667-2558 ของแผ่นยางรองรางรถไฟแล้ว ซึ่งสามารถนำมาใช้ในงานเกี่ยวกับการซ่อมแซมรางรถไฟ หรือการเปลี่ยนยางเก่าที่เสื่อมสภาพได้ โดยกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย จะเป็นทั้งการรถไฟแห่งประเทศไทย ซึ่งต้องมีการซ่อมแซมรางรถไฟเกิดขึ้น

สำหรับการพัฒนางานวิจัยแผ่นรองรางรถไฟ ได้ร่วมมือกับนักวิจัยในประเทศ ทั้ง “ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ” หรือเอ็มเทค (MTEC) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และ “สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย” (วว.) เชื่อมั่นว่า มีโอกาสจะพัฒนาและขยายตลาดในประเทศได้อย่างดี

“แผ่นรองรางรถไฟ” มีรูปแบบเป็นแผ่นสี่เหลี่ยมหน้าประมาณ 2-12 มิลลิเมตร ความยาวประมาณ 18 เซนติเมตร และความกว้างประมาณ 10 เซนติเมตร โดยต้นแบบผลิตภัณฑ์ที่พัฒนาได้ มีน้ำหนักประมาณ 175 กรัม/ชิ้น

ทั้งนี้ มีการประเมินว่าความต้องการใช้แผ่นยางรองรางรถไฟจากยางพาราในระบบราง ซึ่งในระยะทาง 1 กิโลเมตร คาดว่าจะใช้แผ่นยางรองรางรถไฟประมาณ 3,300 ชิ้น และจะมีปริมาณการใช้ยาง ประมาณ 290 กิโลกรัม ปัจจุบันระบบรางระยะทางประมาณ 4,300 กิโลเมตร จึงจะมีปริมาณการใช้ยางพาราประมาณ 1,200 ตัน โดยอนาคต หากมีการขยายระบบรางในระยะทางประมาณ 8,400 กิโลเมตร จึงจะมีปริมาณการใช้ยางพาราประมาณ 2,400 ตัน

ขณะเดียวกัน ไอ อาร์ ซี (เอเซีย) รีเสิร์ช ยังพัฒนาผลิตภัณฑ์ “แผ่นยางปูพื้นนำทางผู้พิการ” รูปแบบของพื้นทางเดินจะนูนขึ้นมาคล้ายกับอักษรเบรลล์ โดยจะเรียกอีกอย่างว่า “เบรลล์บล็อก” (Braille Block) ซึ่งบริษัทได้มีการพัฒนา โดยมีส่วนผสมจากยางธรรมชาติและยางสังเคราะห์ชนิดพิเศษ ถือว่าเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีมาตรฐานการผลิตของประเทศญี่ปุ่น

“แผ่นยางปูพื้นนำทางผู้พิการ” เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ มีความยืดหยุ่นและไม่ลื่น รวมถึงมีความปลอดภัยต่อผู้ใช้งาน มีความเหมาะสมกับสภาพอากาศของไทย อีกทั้งได้ออกแบบให้มีสีสันสดใส และปลอดภัยต่อสิ่งแวดล้อม ส่วนพื้นที่ในการใช้งาน จะมีทั้งริมทางเท้า สถานีรถไฟฟ้า สนามบิน อาคาร สถานที่ราชการ ที่พักอาศัย โรงพยาบาล ห้างสรรพสินค้า หรือในโรงงานอุตสาหกรรม ได้เช่นกัน n