posttoday

เจาะแนวคิด เอสเอ็มอี 4.0

23 กุมภาพันธ์ 2560

ธนาคารกสิกรไทย จัดเสวนา “พลิกธุรกิจเอสเอ็มอีสู่ 4.0” เพื่อเป็นแนวคิดและสร้างพลังให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีทั่วประเทศ พร้อมเปลี่ยนแปลงธุรกิจเข้าสู่ 4.0

โดย...วราภรณ์ เทียนเงิน

ธนาคารกสิกรไทย จัดเสวนา “พลิกธุรกิจเอสเอ็มอีสู่ 4.0” เพื่อเป็นแนวคิดและสร้างพลังให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีทั่วประเทศ พร้อมเปลี่ยนแปลงธุรกิจเข้าสู่ 4.0 รวมถึงการไม่หยุดนิ่ง เพื่อสร้างสรรค์ พัฒนาธุรกิจที่ดีสุดแก่ลูกค้า

“กรกนก สว่างรวมโชค” ผู้ก่อตั้งและผู้บริหารแบรนด์ รองเท้าเพื่อสุขภาพ “ชูเบอร์รี่ “ (Shuberry) เปิดเผยว่า การเริ่มต้นสร้างแบรนด์รองเท้า มาจากการที่ตนเองได้ทำธุรกิจแฟชั่นและมียอดขายลดลงตามสถานการณ์เศรษฐกิจ ต่อมาก็ยังประสบอุบัติเหตุข้อเท้าหัก และไม่สามารถหาสวมใส่รองเท้าที่แก้ปัญหาให้แก่ตนเองได้ จึงเกิดแนวคิดต้องการสร้างรองเท้าเพื่อสุขภาพ จึงพัฒนาสู่การทำรองเท้าแบรนด์“ชูเบอร์รี่” พร้อมสร้างนวัตกรรมให้แก่รองเท้า ที่เป็นรองเท้าเพื่อสุขภาพและสวมใส่สบายอย่างมาก เหมือนการนั่งบนโซฟา

ก้าวต่อไปกำลังขยายสู่การสร้างรองเท้ากีฬา และได้ดีไซน์พัฒนาการออกแบบกล่องเก็บรองเท้า (แพ็กเกจจิ้ง) ให้สวยงามมากขึ้น และจัดเป็นชั้นวางรองเท้าได้อย่างดี อีกทั้งธุรกิจได้ขยายสู่ตลาดอี-คอมเมิร์ซ มากขึ้น รองรับลูกค้าที่ชื่นชอบการซื้อสินค้าผ่านออนไลน์ ทั้งหมดมาจากการที่แบรนด์มุ่งมั่นตอบสนองความต้องการของลูกค้ามากที่สุด พร้อมสร้างรองเท้าที่ดีสุดแก่ลูกค้า อีกทั้งพัฒนาด้านบริการ ทำให้พนักงานทุกคนมีจิตใจพร้อมบริการที่ดีแก่ลูกค้า เชื่อมั่นจะผลักดันให้แบรนด์เติบโตได้ดีในระยะยาว

“โอภาส ชีวะธรรมานนท์”ผู้ประกอบธุรกิจพาเลทและลังไม้ “บูรณาพา กรุ๊ป” และผู้พัฒนาซอฟต์แวร์จำลองการผลิต แบบ 3ดี รายแรกในประเทศไทย กล่าวว่า เมื่อเข้าสืบทอดธุรกิจต่อจากคุณพ่อ ที่ทำขาตู้เย็นให้แก่ผู้ผลิตต่างๆ และเป็นขาตู้เย็นที่ทำจากไม้ ต่อมาเมื่อสถานการณ์ตลาดเปลี่ยนแปลง ตนเองจึงได้ขยายธุรกิจสู่พาเลท รองรับความต้องการของลูกค้ากลุ่มส่งออกสินค้าไปต่างประเทศที่มีจำนวนมาก

“กล่องพาเลทที่ผลิตให้แก่ลูกค้านำไปใช้บรรจุสินค้าส่งออก ในบางครั้งเกิดปัญหาสินค้าเสียหายและลูกค้าก็จะกลับขอเคลมเรื่องสินค้า ทำให้บริษัทต้องกลับมาทบทวนแผนธุรกิจ และเริ่มศึกษาการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยี (อาร์แอนด์ดี) มาใช้ในองค์กร พัฒนาสู่พาเลท 3ดี”

“ธนพงษ์ วงศ์ชินศรี” ผู้ก่อตั้งธุรกิจร้านอาหาร เพนกวินอีทชาบู (Penguin Eat Shabu) กล่าวว่า การสร้างแบรนด์ใหม่ในตลาด เกิดจากการศึกษาจากพฤติกรรมของลูกค้า พบว่าจะชื่นชอบการถ่ายรูปประกอบการรับประทานอาหารด้วย จึงสร้างร้านให้สวยงามและสว่าง โดยใช้เงินลงทุนเบื้องต้น 1 ล้านบาท โดยในช่วง 2 เดือนแรกจะไม่มีกำไร หลังจากนั้นภายในเวลา 4 เดือน จึงสามารถคืนทุนที่ได้ลงทุนได้ ลูกค้าเข้ามาใช้บริการต่อเนื่องเพิ่มมากขึ้น ทั้งจากความสะดวก รสชาติ และกระแสโซเชียลที่สร้างแบรนด์เติบโต ลูกค้ารู้จักและเกิดการบอกต่อเนื่อง

นอกจากนี้ ยังมุ่งการนำเทคโนโลยีต่างๆ มาใช้ในองค์กร เพื่อผลักดันให้แบรนด์เติบโตในระยะยาว ซึ่งตั้งเป้าหมายว่า แบรนด์ เพนกวินอีทชาบู จะขึ้นแบรนด์ชั้นต้นๆ ของประเทศไทย