posttoday

สสว.อัดฉีด3,400ล้าน

16 กันยายน 2559

สสว.อัดฉีดงบผลักดันเอสเอ็มอีปี 2560 แตะ 3,400 ล้าน ตั้งเป้าจีดีพีเอสเอ็มอีโตแซงจีดีพีประเทศภายใน 5 ปี

สสว.อัดฉีดงบผลักดันเอสเอ็มอีปี 2560 แตะ 3,400 ล้าน ตั้งเป้าจีดีพีเอสเอ็มอีโตแซงจีดีพีประเทศภายใน 5 ปี

นางสาลินี วังตาล ผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยว่า ในปี 2560 ได้ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและรัฐวิสาหกิจรวม 18 ราย จัดทำแผนบูรณาการเพื่อเพิ่มขีดความสามารถให้กับเอสเอ็มอี โดยได้รับงบประมาณรวม 3,487 ล้านบาท เพิ่มขึ้นราว 120% จากปีนี้ซึ่งงบประมาณอยู่ที่ 1,526 ล้านบาท
คาดว่าจะช่วยเหลือเอสเอ็มอีได้ 177,100 ราย และสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจไม่ต่ำกว่า 4.5 หมื่นล้านบาท

นอกจากนี้ กระทรวงการคลังยังให้ความสำคัญกับการออกมาตรการทางการเงินและภาษี ในการส่งเสริมผู้ประกอบการ เอสเอ็มอีอย่างต่อเนื่อง ในช่วง 1-2 ปี
ที่ผ่านมา รวมวงเงินในการให้ความช่วยเหลือกว่า 4.35 แสนล้านบาท เช่น สินเชื่อเพื่อรายย่อย สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ กองทุนร่วมลงทุนในกิจการเอสเอ็มอีและล่าสุดที่กำลังจะเริ่มดำเนินการคือ กองทุนเพื่อฟื้นฟูกิจการเอสเอ็มอี วงเงิน 2,000 ล้านบาท และกองทุนพลิกฟื้นเอสเอ็มอี วงเงิน 1,000 ล้านบาท รวมถึงมาตรการด้านภาษีสำหรับเอสเอ็มอี ซึ่งส่งผลให้ผู้ประกอบการสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนผ่านมาตรการทางการเงิน ไม่น้อยกว่า 4.8 หมื่นราย

“หากแผนดังกล่าวสำเร็จ จะส่งผลให้จีดีพีของเอสเอ็มอี ขยายตัวเป็นสัดส่วนเกินกว่า 50% ของจีดีพีรวม หรือโตกว่าจีดีพีของประเทศภายในปี 2564 ขณะที่ปีนี้จีดีพีเอสเอ็มอีอยู่ที่ 42% ของจีดีพีประเทศ คาดว่าจะขยายตัวราว 5.2% เมื่อเทียบกับปีก่อนที่จีดีพีเอสเอ็มอีอยู่ที่ 38% ทั้งยังสามารถลดความเหลื่อมล้ำให้กับประชากรไทยตลอดจนพาประเทศหลุดกับดักรายได้ปานกลางอีกด้วย” นางสาลินี กล่าว

สำหรับแนวโน้มของธุรกิจเอสเอ็มอี ในปี 2560 จะเผชิญกับการพัฒนาธุรกิจด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อสร้างพัฒนาการให้กับโมเดลธุรกิจนำไปสู่การขยายตัวของธุรกิจและตลาดเป้าหมาย โดยเฉพาะในกลุ่ม Regular SME สาขาเป้าหมาย เช่น อุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป อาหารแปรรูป ฮาลาล ชิ้นส่วนยานยนต์ ฯลฯ โดย สสว.มุ่งปรับปรุงกระบวนการผลิตและการบริหารจัดการ การนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ในการประกอบธุรกิจ การพัฒนาผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์คาดว่าจะช่วยเหลือได้ราว 1.06 แสนราย ด้วยงบประมาณกว่า 1,130 ล้านบาท

ขณะที่การส่งเสริมจะเน้นไปที่เอสเอ็มอีรายใหม่ที่มีความคิดสร้างสรรค์ และเอสเอ็มอีกลุ่มเกษตรแบบชุมชนและสมาร์ทฟาร์มเมอร์ ให้สามารถพัฒนาแนวคิดไปสู่ธุรกิจได้ทั้งด้านการพัฒนายกระดับมาตรฐานสินค้าและช่องทางการจัดจำหน่ายให้มีความสามารถในการแข่งขันมากขึ้น คาดว่าจะสนับสนุนผู้ประกอบการได้ 4.1 หมื่นราย วงเงิน 1,673 ล้านบาท และกลุ่มเอสเอ็มอีทั่วไป และกลุ่มเทิร์น อะราวด์ โดยได้รับการจัดสรรงบ 1,130 ล้านบาท คาดว่าจะช่วยเหลือผู้ประกอบการ 1.06 แสนราย

นางสาลินี กล่าวว่า สำหรับกลุ่มเอสเอ็มอีที่มีศักยภาพ (Strong) จะเน้นสร้างความสามารถในการแข่งขันมากขึ้น โดยให้ความสำคัญกับการสร้างแบรนด์เพื่อออกไปขยายตลาดในอาเซียนและตลาดโลกผ่านการสร้างเครือข่ายกับธุรกิจขนาดใหญ่ ในโครงการประชารัฐแบบพี่ช่วยน้อง ซึ่งในเดือน พ.ย.นี้ จะร่วมกับสมาคมมิตรภาพไทย-กัมพูชา
พาเอสเอ็มอีไทยกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภคจำนวน 200 รายไปเปิดตลาดในกรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา