posttoday

Gan-Tang น้ำแร่สุขภาพ จากบ่อน้ำร้อนกันตัง

31 สิงหาคม 2559

ความพิเศษของบ่อน้ำร้อนกันตัง คือเป็นบ่อน้ำร้อนธรรมชาติที่มีกำมะถันต่ำ แต่มีแคลเซียมสูงถึง 75% อาจกล่าวได้ว่า เป็นแหล่งน้ำแร่ที่มีแคลเซียมสูงที่สุดในประเทศไทย

โดย...เมธี เมืองแก้ว

ความพิเศษของบ่อน้ำร้อนกันตัง คือเป็นบ่อน้ำร้อนธรรมชาติที่มีกำมะถันต่ำ แต่มีแคลเซียมสูงถึง 75% อาจกล่าวได้ว่า เป็นแหล่งน้ำแร่ที่มีแคลเซียมสูงที่สุดในประเทศไทย จึงทำให้วิสาหกิจชุมชนบ่อน้ำร้อนกันตัง พัฒนาผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นจากบ่อน้ำร้อน อาทิ น้ำแร่ ครีมนวดตัว สปาตัว โลชั่นบำรุงผิวกาย มาสก์โคลน สเปรย์บำรุงผิวหน้า ผ้าเย็นสมุนไพร สบู่มังคุด และสบู่ขมิ้น ภายใต้แบรนด์ Gan-Tang

สมสวย เวียงแก้ว ผู้จัดการวิสาหกิจชุมชนบ่อน้ำร้อนกันตัง อ.กันตัง จ.ตรัง บอกว่า บ่อน้ำร้อนกันตัง ตั้งอยู่ในพื้นที่บ้านควนแคง หมู่ 7 ต.บ่อน้ำร้อน หรืออยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าเขาหวาง ป่าควนแคง และป่าน้ำราบ โดยมีเนื้อที่กว้างขวางประมาณ 500 ไร่ วนอุทยานบ่อน้ำร้อนกันตัง ได้มีการพัฒนาปรับปรุงให้เป็นบ่อน้ำร้อน จำนวน 3 บ่อ มีอุณหภูมิประมาณ 20-70 องศาเซลเซียส โดยมีจุดเด่นคือ มีส่วนผสมของกำมะถันน้อยมากไม่ถึง 1% จึงแทบจะไม่มีกลิ่นเลย แต่มีแคลเซียมมากถึง 75% ซึ่งเป็นเพียงแห่งเดียวของประเทศไทย

“น้ำแร่ที่นี่จึงเหมาะสำหรับการบำบัดผู้ที่ป่วยเป็นโรคอัมพฤกษ์ อัมพาต เนื่องจากมีแคลเซียมช่วยกระตุ้นการไหลเวียนของโลหิตได้ดี และยังได้มีการนำไปจัดทำเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพด้วย เพราะผลจากการทดลองร่วมกับหลายจังหวัดของภาคใต้ที่มีบ่อน้ำร้อน เช่น จ.ระนอง กระบี่ สุราษฎร์ธานี พบว่า น้ำแร่จากบ่อน้ำร้อนกันตัง สามารถพัฒนาได้มีคุณภาพดีที่สุด”

Gan-Tang น้ำแร่สุขภาพ จากบ่อน้ำร้อนกันตัง

 

ล่าสุด สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน) ได้มอบประกาศนียบัตรและเครื่องหมาย BIO Economy เพื่อแสดงว่า เป็นกลุ่มที่มีการใช้ทรัพยากรชีวภาพในชุมชนเป็นวัตถุดิบ มีการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รวมทั้งนำรายได้ส่วนหนึ่งไปอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรชีวภาพ นับเป็นวิสาหกิจชุมชนบ่อน้ำร้อนแห่งแรกของภาคใต้ นอกจากนั้น ผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพบางชนิด ยังได้รับเครื่องหมาย อย. และมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชนหรือ มผช. แล้วด้วย

ปัจจุบัน ผลิตภัณฑ์จากน้ำแร่สร้างรายได้ให้กับวิสาหกิจชุมชนบ่อน้ำร้อนกันตัง เดือนละ 2-3 หมื่นบาท และมีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่เปิดตัวเมื่อปี 2554 นอกจากนั้นยังมีการเปิดแผนกนวดแผนไทย และสปา เพื่อให้บริการแก่นักท่องเที่ยว ที่เดินทางเข้ามายังบ่อน้ำร้อนกันเป็นจำนวนมาก ทำให้สามารถสร้าง  รายได้ให้อีกเดือนละ 6-7 หมื่นบาท จากจำนวนสมาชิกที่มีอยู่ทั้งหมด 10 คน และล่าสุดยังได้งบจากทางจังหวัด 3 แสนบาท มาสร้างโรงงานเพื่อจัดทำสินค้าใหม่ คือ ผลิตภัณฑ์การนวดจากน้ำยางพารา