posttoday

เปิดตลาด Active senior ญี่ปุ่น โอกาสเฟอร์นิเจอร์ไทย

04 มีนาคม 2559

การส่งออกสินค้าไทยไปตลาดประเทศญี่ปุ่น เริ่มมีแนวโน้มหดตัวลงอย่างชัดเจน เป็นผลมาจากการแข่งขันในตลาดที่รุนแรงมากขึ้น

เรื่อง วราภรณ์ เทียนเงิน

การส่งออกสินค้าไทยไปตลาดประเทศญี่ปุ่น เริ่มมีแนวโน้มหดตัวลงอย่างชัดเจน เป็นผลมาจากการแข่งขันในตลาดที่รุนแรงมากขึ้น ทำให้ผู้ประกอบการไทยได้รับผลกระทบ จากการส่งออกสินค้าไปประเทศญี่ปุ่น ที่มีคู่แข่งในธุรกิจสูงขึ้น

ดังนั้น กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ที่ได้รับการสนับสนุนจาก องค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น หรือ เจโทร (JETRO) จึงได้จัดโครงการพิเศษ ดึง “โคเฮอิ ทาคาตะ” ผู้เชี่ยวชาญด้านเฟอร์นิเจอร์ จากประเทศญี่ปุ่นมาให้ความรู้ แนะนำการออกแบบเฟอร์นิเจอร์ให้แก่เอกชนไทย เพื่อให้สามารถปรับดีไซน์ให้ตรงใจกับตลาดญี่ปุ่น ก่อนจะคัดเลือก 10 บริษัทเฟอร์นิเจอร์ไทยที่เข้าร่วมโครงการ พัฒนาสินค้าใหม่ ผลิตสินค้าต้นแบบ นำไปจัดแสดงในงานสินค้าเฟอร์นิเจอร์ ระดับนานาชาติ “Thailand International Furniture Fair2016” (TIFF) มีขึ้นวันที่ 9-13 มี.ค.2559 ที่อิมแพ็ค เมืองทองธานี

“โคเฮอิ ทาคาตะ” ผู้เชี่ยวชาญด้านเฟอร์นิเจอร์ จากประเทศญี่ปุ่น เปิดเผยว่า การส่งออกสินค้าเฟอร์นิเจอร์ไทยไปตลาดญี่ปุ่น มีแนวโน้มลดลงจากการแข่งขันด้านราคา และวัตถุดิบ ทำให้ผู้ประกอบการไทยไม่สามารถแข่งขันในตลาดกลาง (แมส) ที่เน้นแข่งขันราคาได้อีกต่อไป ซึ่วผู้ประกอบการไทยต้องปรับธุรกิจใหม่ มุ่งด้านดีไซน์ พร้อมพัฒนาคุณภาพ จะส่งผลดีให้สามารถแข่งขันในตลาดส่งออกทั้งในประเทศญี่ปุ่น และตลาดโลกได้อย่างแน่นอน

สำหรับตลาดที่มีโอกาสและน่าสนใจอย่างมากในตลาดญี่ปุ่นคือ กลุ่ม Active senior หรือกลุ่มผู้สูงอายุในประเทศญี่ปุ่น ที่กลุ่มนี้มีความกระตือรือร้นในการใช้ชีวิต มีร่างกายแข็งแรง และสามารถทำงานได้ดีอยู่ โดยกลุ่มนี้จะอยู่สองคนสามีและภรรยา เพราะลูกค้ามีครอบครัวและเติบโตหมดแล้ว จึงสามารถเลือกใช้ชีวิตได้อย่างสบายและไม่ต้องรัดเข็มขัด ถือเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูงมาก อีกทั้งเมื่อใช้ชีวิตอยู่กันสองคน ส่วนใหญ่จะเลือกมาอาศัยในคอนโดมิเนียมแทนใจกลางเมือง เพื่อเพิ่มความสะดวก

สินค้าเฟอร์นิเจอร์ที่กลุ่ม Active senior ต้องการจะเป็น สินค้าดูดี มีคุณภาพดี มีดีไซน์สวยงาม มีความหรูหรา แต่ต้องไม่ใช้เป็นสินค้าแฟชั่น รวมทั้งต้องเป็นเฟอร์นิเจอร์ที่มีฟังก์ชั่นการใช้งานครบ และต้องใช้งานได้ง่าย อีกสิ่งสำคัญคือ เฟอร์นิเจอร์ไม้ เป็นที่นิยมในตลาดญี่ปุ่น โดยเฉพาะเฟอร์นิเจอร์ไม้สัก ขณะเดียวกัน เฟอร์นิเจอร์ดังกล่าว จะต้อง มีความปลอดภัยและตรงกับมาตรฐานของสินค้าในประเทศญี่ปุ่น

ยกตัวอย่าง เฟอร์นิเจอร์เตียงนอน ของกลุ่มนี้ ที่ต้องดูดี และหรูหรา แต่ต้องใช้งานได้สะดวก และมีน้ำหนักเบา เพื่อสะดวกต่อการทำความสะอาด

 “ตลาด Active senior ไม่ใช่กลุ่มคนแก่ แต่เป็นกลุ่มที่มีความเป็น Active สุขภาพแข็งแรง มีความกระตือรือร้น เดินทางไปท่องเที่ยวได้อย่างสะดวก จึงต้องการสินค้าที่ตรงกับความชอบมากที่สุด สอดคล้องกับไลฟ์สไตล์ ดูดี มีคุณสมบัติเหมาะสม” ทาคาตะ กล่าว

ทั้งนี้ตลาดกลุ่ม Active senior ในประเทศญี่ปุ่น เป็นกลุ่มเกษียณจากการทำงานในประเทศญี่ปุ่น อายุ 60 ปีขึ้นไป มีสัดส่วนประมาณ 13.4% หรือคิดเป็นจำนวน 17 ล้านคน จากประชากรในประเทศญี่ปุ่น ที่มีจำนวน 130 ล้านคน โดยแนวโน้มประชากรในญี่ปุ่นจะมีจำนวนผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้นและมีประชากรวัยเด็กลดลงอย่างต่อเนื่อง จึงเป็นตลาดที่มีขนาดใหญ่และขยายตัวสูง

“ทาคาตะ” กล่าวต่อว่า การได้ไปเยี่ยมชมผู้ผลิตเฟอร์นิเจอร์ในไทยจำนวนหลายราย พบว่า จุดที่ผู้ประกอบการไทยต้องเร่งปรับคือ การดูแลมาตรฐานความปลอดภัยของสินค้า การเลือกวัสดุที่มีความปลอดภัย และเลือกสีที่ไม่อันตราย ส่วนไม้ที่นำมาผลิตเฟอร์นิเจอร์ก็ต้องเลือกใช้ไม้ที่ถูกต้องตามกฎหมาย

“ทาคาตะ” กล่าวต่อว่า สินค้าที่ครองใจกลุ่ม Active senior ได้นอกจากดีไซน์และฟังก์ชั่นที่โดดเด่นแล้ว การทำให้ผู้ใช้รู้สึกถึงการเป็นสินค้าที่มีคุณค่า โดยเฉพาะสินค้าจากไม้ จะให้ความรู้สึกดังกล่าวได้ดี ดังนั้นการนำเสนอสินค้าที่มีคุณภาพ และตรงกับความต้องการของลูกค้า จะมีโอกาสได้กลุ่มลูกค้าชาวญี่ปุ่น ที่มีกำลังซื้อสูง และพร้อมซื้อสินค้าแน่นอน

“อะคิฮิโระ มิวะ” รองประธานและผู้อำนวยการฝ่ายความร่วมมือทางการค้า เจโทร กล่าวว่า โครงการความร่วมมือในครั้งนี้เกิดขึ้นจากการประเทศไทยและประเทศญี่ปุ่น มีความเป็นหุ้นส่วนความร่วมมือกันในหลายรูปแบบ เชื่อมั่นว่าจะเกิดผลดีกับผู้ประกอบการไทยได้ผลิตสินค้าคุณภาพสูงให้ตรงกับตลาด และผู้บริโภคชาวญี่ปุ่นก็จะได้รับสินค้าที่มีคุณภาพที่เช่นกัน