posttoday

ขายโอท็อปบนเครื่องบิน

12 กุมภาพันธ์ 2559

กรมการพัฒนาชุมชน เล็งนำโอท็อป 5 ดาว พรีเมียม ขึ้นการบินไทย แอร์เอเชีย

กรมการพัฒนาชุมชน เล็งนำโอท็อป 5 ดาว พรีเมียม ขึ้นการบินไทย แอร์เอเชีย

นายทวีป บุตรโพธิ์ รองอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน (พช.) กระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า แผนการพัฒนาผู้ประกอบการสินค้าโอท็อปของประเทศไทยในปี 2559 นั้น จะมีการนำผู้ประกอบการโอท็อปไปขยายตลาดและช่องทางจำหน่ายสินค้าใหม่ พร้อมทั้งนำสินค้าโอท็อปไปวางจำหน่ายในแค็ตตาล็อกของสายการบินไทยและสายการบินแอร์เอเชีย โดยจะคัดเลือกสินค้ากลุ่มโอท็อป 5 ดาวและเป็นสินค้าหรู (พรีเมียม) ในกลุ่มขนมขบเคี้ยว กลุ่มเครื่องประดับ และสปา คาดว่าจะเริ่มจำหน่ายในเดือน เม.ย. 2559

ทั้งนี้ พช.จะคัดเลือกกลุ่มสินค้าไทยที่มีความโดดเด่น มีเอกลักษณ์ รวมถึงมีบรรจุภัณฑ์ (แพ็กเกจจิ้ง) ที่สวยงาม สินค้ามีเรื่องราวและความเป็นมาที่น่าสนใจ เพื่อเปิดตลาดสินค้าไทยให้แก่นักท่องเที่ยว ต่างชาติทั่วโลก พร้อมกันนี้ มีแผนนำ ผู้ประกอบการไทยไปร่วมงานแสดง สินค้าที่เมืองคุนหมิง ประเทศจีน คาดว่าจะไปร่วมงานได้ในเดือน เม.ย.หรือ พ.ค. 2559 ซึ่งตลาดจีนมีขนาดใหญ่ และเป็นตลาดที่ชื่นชอบสินค้าแบรนด์ไทยระดับสูง

อย่างไรก็ดี สำหรับงบประมาณในการพัฒนาและทำตลาดของผู้ประกอบการสินค้าโอท็อปในปี 2559 ของกรมการ พัฒนาชุมชนอยู่ที่ 600 ล้านบาท ใกล้เคียงกับปีก่อนหน้านี้ ซึ่งจะเน้นทั้งการยกระดับกลุ่มผู้ประกอบการโอท็อประดับ 1-3 ดาว ให้พัฒนาและปรับปรุงสินค้าไปสู่ระดับ 4-5 ดาว ส่วนผู้ประกอบการกลุ่ม 4-5 ดาว จะพัฒนาและขยายให้ก้าวสู่เอสเอ็มอี ขนาดเล็ก และเอสเอ็มอีขนาดกลาง ต่อไป คาดว่าในปี 2559 จะพัฒนา ผู้ประกอบการให้มีการยกระดับสินค้ากว่า 2 หมื่นราย และเพิ่มผลิตภัณฑ์ใหม่กว่า 1 หมื่นผลิตภัณฑ์

นอกจากนี้ ในเดือน พ.ค. 2559 พช. จะมีการสำรวจและคัดสรรผลิตภัณฑ์ โอท็อปใหม่ทั้งหมด เพื่อสำรวจว่าจะสามารถเปลี่ยนหรือพัฒนาสินค้าที่มีอยู่ไปสู่ระดับดาวที่เพิ่มขึ้นของโอท็อปหรือไม่ โดยปัจจุบันสินค้าโอท็อปมีจำนวน 8.2 หมื่นผลิตภัณฑ์ และมีผู้ประกอบการรวม 4.5 หมื่นรายทั่วประเทศ ซึ่งแผนงานของโอท็อปดังกล่าวเป็นไปตามที่ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย และอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชนได้วางนโยบายไว้

สำหรับเป้าหมายของยอดขายรวม โอท็อปในปี 2559 คาดว่าจะอยู่ที่ 1.2 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 10-12% จากปี 2558 ที่มียอดขายรวมประมาณ 1.09 แสน ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม สำหรับโครงการร้านประชารัฐสุขใจ Shop ที่กรมการพัฒนาชุมชนมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการนั้น กำหนดรูปแบบการดำเนินการไว้ 3 ด้าน คือ 1.ให้สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดเป็นผู้ดำเนินการ มีเจ้าหน้าที่ประสานงานระหว่างกลุ่มผู้ผลิตสินค้าและร้านค้าประชารัฐ 2.จังหวัดที่มีเครือข่ายโอท็อปเข้มแข็ง มอบหน้าที่ให้เครือข่าย และ 3.ใช้ผู้ค้าหรือเทรดเดอร์ ทำหน้าที่เป็นกลไกการบริหารจัดการ โดยจังหวัดเป็นผู้ค้นหาเทรดเดอร์ หรือสร้างเทรดเดอร์รายใหม่ขึ้นมา

"กรมการพัฒนาชุมชนต้องการแบบที่ 3 มากที่สุด เพราะการใช้เทรดเดอร์จะเป็นกลไกจะทำให้ร้านค้าประชารัฐสามารถดำเนินงานอย่างต่อเนื่องมั่งคงกว่า และขณะเดียวกันกรมจะมีการคัดเลือกคน มาเป็นพนักงานขายสินค้าประจำร้านค้าประชารัฐ แห่งละ 1-2 คน" นายทวีป กล่าว

ภาพประกอบข่าว