posttoday

ศึกโลว์คอสต์แอร์ฯ ลุยเส้นทางใหม่ชิงลูกค้า

12 สิงหาคม 2560

ยังคงแข่งขันกันอย่างดุเดือดสำหรับสายการบินโลว์คอสต์ในประเทศไทย

โดย...จะเรียม สำรวจ/ อรวรรณ จารุวัฒนะถาวร

ยังคงแข่งขันกันอย่างดุเดือดสำหรับสายการบินโลว์คอสต์ในประเทศไทย เนื่องจากปัจจุบันไม่ได้มีแค่สายการบินโลว์คอสต์ในประเทศแข่งขันกันเอง เพียงอย่างเดียว แต่มีสายการบินโลว์คอสต์จากต่างประเทศเข้ามาร่วม แข่งขันด้วย จากปัจจัยดังกล่าวจึงทำให้มีการแข่งขันในด้านของราคาค่อนข้างรุนแรง

จากสถานการณ์แข่งขันที่รุนแรงดังกล่าว ส่งผลให้แต่ละสายการบินต้องเร่งเพิ่มเส้นทางบินใหม่ๆ เพื่อขยายฐานลูกค้าเพิ่ม เช่นเดียวกับสายการบินไทยไลอ้อนแอร์ ที่ล่าสุดออกมาประกาศเพิ่มเส้นทางบินดอนเมือง-บาหลี เป็นเส้นทางบินที่ 2 ในประเทศอินโดนีเซีย ต่อจากเส้นทางบินดอนเมือง-จาการ์ตา

อัศวิน ยังกีรติวร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายการบินไทยไลอ้อนแอร์ กล่าวว่า ในวันที่ 15 ก.ย.นี้ บริษัทจะทำการเปิดเส้นทางบินดอนเมือง-บาหลี เพื่อเจาะกลุ่มนักท่องเที่ยวที่ชื่นชอบสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติและวัฒนธรรมของบาหลี ขณะดียวกันยังมีแผนจะเจาะกลุ่มลูกค้าที่ต้องการเดินทางไปประเทศออสเตรเลีย ด้วยการต่อเครื่องจากบาหลีไปเพิร์ท โดยในช่วง 2-3 เดือนแรกที่เปิดเส้นทางบินคาดว่าจะมีอัตราเฉลี่ยผู้โดยสารอยู่ที่ 65-70% และปลายปีคาดว่าจะเพิ่มเป็น 80-85%

หลังจากเปิดเส้นทางบินไปบาหลีเรียบร้อยในช่วงเดือน ต.ค.ไทย ไลอ้อนแอร์ก็มีแผนที่จะเปิดเส้นทางบินไปประเทศอินเดียและไต้หวัน โดยในส่วนของอินเดียคาดว่าจะเปิดเที่ยวบินจำนวน 2 เส้นทาง คือ โกชิและบอมเบย์ ส่วนไต้หวันจะเป็นไทเป

อัศวิน กล่าวต่อว่า ในปีหน้าบริษัทมีแผนจะขยายเส้นทางบินไปยังประเทศญี่ปุ่น เกาหลี ฮ่องกง และตะวันออกกลาง โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาเส้นทางในหลายเมือง เพื่อทำการเปิดเที่ยวบิน หากองค์การ การบินพลเรือนระหว่างประเทศ หรือ ไอซีเอโอ อนุญาตให้สามารถเปิดเส้นทางบินได้ก็จะทำการเปิดเส้นทางบินทันที และเพื่อรอปรับเส้นทางบินใหม่ดังกล่าวในปีหน้าบริษัทมีแผนจะเพิ่มฝูงบินประมาณ 5-10 ลำ

สำหรับแผนการทำตลาดในประเทศปี 2561 อาจมีการเพิ่มเส้นทางบินจากสนามบินอู่ตะเภาไปยังเส้นทางต่างๆ เนื่องจากภาครัฐหันมาให้การสนับสนุนการท่องเที่ยวผ่านสนามบินดังกล่าวมากขึ้น ส่วนเส้นทางบินจากสนามบินดอนเมืองนั้น ขณะนี้ยังไม่มีแผนเปิดเส้นทางบินเพิ่ม เนื่องจากต้องการเน้นขยายฐานลูกค้าในเส้นทางเดิม ด้วยการเพิ่มความถี่ของเที่ยวบินให้มากขึ้น ไม่ว่า จะเป็นเชียงราย เชียงใหม่ อุบลราชธานี อุดรธานี หรือขอนแก่น

อัศวิน กล่าวอีกว่า จากแนวโน้มของอัตราผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง คาดว่าสิ้นปี 2560 นี้จะเป็นปีที่บริษัทถึงจุดคุ้มทุน และเริ่มมีผลกำไรให้เห็น เพื่อนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ในอีก 2 ปีนับจากนี้ จากความสำเร็จดังกล่าวส่งผลให้ปัจจุบันไทยไลอ้อนแอร์มีส่วนแบ่งตลาดอยู่ที่ประมาณ 30% แม้จะดำเนินธุรกิจมาได้เพียง 4 ปี

ด้าน เลือง เชือง อาน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายการพาณิชย์ สายการบินไทยเวียตเจ็ท กล่าวว่า สายการบินโลว์คอสต์ในประเทศไทยมีการแข่งขันสูง โดยในส่วนของบริษัทจะเน้นเรื่องของคุณภาพการให้บริการอีกทั้งยังใช้เทคโนโลยีอี-คอมเมิร์ซใหม่ล่าสุด เพื่อนำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการมากมายแก่ผู้บริโภค อย่างไรก็ดีบริษัทมีเป้าหมายใน 5 ปี จะมีการเติบโตทั้งจำนวนผู้ใช้บริการและรายได้เพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 10%

ทั้งนี้ บริษัทอยู่ระหว่างการขอใบอนุญาตเปิดเส้นทางบินใหม่ทั้งในประเทศไทย ส่วนใหญ่เป็นเมืองท่องเที่ยว เช่น กระบี่ หาดใหญ่ สุราษฎร์ธานี อุดรธานี เป็นต้น รวมทั้งในต่างประเทศ เช่น เวียดนาม จีน อินเดีย ไต้หวัน เป็นต้น คาดว่าจะสามารถเปิดเส้นทางบินใหม่ประมาณเดือน พ.ย.นี้อย่างน้อย 1 เส้นทาง

นอกจากนี้ ยังมีแผนเพิ่มฝูงบินใหม่ 7-10 ลำ/ปี จากปัจจุบันมีอยู่ 50 ลำ โดยในส่วนของประเทศไทยนำมาให้บริการ 3 ลำ ใน 3 เส้นทาง คือ สุวรรณภูมิ-เชียงใหม่ สุวรรณภูมิ-ภูเก็ต และภูเก็ต-เชียงราย

การแข่งขันที่รุนแรงดังกล่าว หากมองในมุมของผู้ประกอบการอาจเสีย ผลประโยชน์ไปบ้าง แต่หากมองใน มุมของผู้บริโภคถือได้ว่ารับประโยชน์ไปเต็มๆ