posttoday

ศึก2เจ้าสัวไทย'เจริญ'ต่อยอดบี้'ธนินท์'

11 สิงหาคม 2560

หลังกลุ่มเจริญซื้อร้านเคเอฟซีกว่าหมื่นล้านบาท คนในวงการคาดว่าจะใช้ต่อยอดกลุ่มเครื่องดื่ม และเล็งขยายไปธุรกิจไก่แข่งกับซีพี

โดย...จะเรียม สำรวจ 

สร้างความคึกคักให้กับธุรกิจร้าน อาหารฟาสต์ฟู้ดมากพอสมควร หลังจากกลุ่มเจริญ สิริวัฒนภักดี ใช้บริษัท เดอะ คิวเอสอาร์ ออฟ เอเชีย ซึ่งเป็นบริษัทในกลุ่มไทยเบฟ เข้าซื้อกิจการหรือ เทกโอเวอร์ร้านเคเอฟซีในประเทศไทยกว่า 240 สาขา คิดเป็นมูลค่ารวมภาษีประมาณ 1.13 หมื่นล้านบาท จากบริษัท ยัม เรสเทอรองตส์ อินเตอร์เนชั่นแนล(ประเทศไทย) หลายฝ่ายต่างจับตามองว่า นับจากนี้ไปภาพของร้านเคเอฟซีภายใต้การดูแลของกลุ่มไทยเบฟจะต่อยอดกับธุรกิจของกลุ่มเจริญ เช่น โครงการมิกซ์ยูสย่านกลางใจเมือง โครงการศูนย์การค้า เปิดร้านในกลุ่มบิ๊กซี หรืออีกด้านหนึ่งเคเอฟซีจะกลายเป็นช่องทางกระจายเครื่องดื่ม หรือ สินค้าอื่นๆ ให้หนึ่งบวกหนึ่งมากกว่าสองไปขนาดไหน

สำหรับกลุ่มสินค้าที่มีความเป็นไปได้ว่ากลุ่มไทยเบฟจะนำเข้ามาจำหน่ายภายในร้านเคเอฟซี เช่น กลุ่มเครื่องดื่มซอฟต์ดริงก์ เนื่องจากปัจจุบันกลุ่มไทยเบฟมีสินค้าซอฟต์ดริงก์หลายตัว เช่น เครื่องดื่มน้ำอัดลมยี่ห้อเอส (est) ชาเขียวพร้อมดื่มแบรนด์โออิชิ เครื่องดื่มเพื่อสุขภาพภายใต้แบรนด์อะมิโนโอเค หรือเครื่องดื่มสมุนไพรภายใต้แบรนด์จับใจ โอเฮิร์บ หรือเครื่องดื่มอัดลมผสมเกลือแร่ภายใต้แบรนด์ 100พลัส

ทั้งนี้ สิ่งที่หลายคนเริ่มจับตามอง คือหลังจาก บริษัท ยัม เรสเทอรองตส์ อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) โอนกรรมสิทธิ์การบริหารร้านเคเอฟซีให้ กับบริษัท เดอะ คิวเอสอาร์ ออฟเอเชีย เข้าบริหารช่วงปลายปีนี้ เครื่องดื่ม น้ำอัดลม ซึ่งปัจจุบันเป๊ปซี่ได้สิทธิ จำหน่ายในเคเอฟซีจะเปลี่ยนเป็น แบรนด์เอสเมื่อไร

นอกจากนี้ ในอนาคตกลุ่มไทยเบฟอาจต่อยอดธุรกิจ เสริมความแข็งแกร่งให้กับร้านเคเอฟซีด้วยการเข้าซื้อกิจการโรงงานผลิตไก่แปรรูปในอนาคต ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นการแข่งขันของยักษ์ใหญ่ในวงการธุรกิจไทย โดยเฉพาะในฝั่งของเจริญโภคภัณฑ์ หรือซีพี ของเจ้าสัวธนินท์ เจียรวนนท์ ซึ่งเป็นซัพพลายเออร์หลัก ส่งไก่ให้เคเอฟซีอาจขนหน้าแข้งสั่นไหวบ้าง

ชลิต ลิมปนะเวช อุปนายก ฝ่ายวิชาการ สมาคมการตลาดแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การที่กลุ่มเจริญ สิริวัฒนภักดี เข้ามาซื้อกิจการของร้าน เคเอฟซีในประเทศไทยครั้งนี้ ถือเป็นการเติมเต็มให้กับธุรกิจ เนื่องจากกลุ่มไทยเบฟยังไม่มีธุรกิจฟู้ดเซอร์วิส และจากแนวโน้มการเติบโตของธุรกิจร้านที่เปิดให้บริการในห้างบิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ ซึ่งกลุ่มไทยเบฟเพิ่งซื้อกิจการมามีการเติบโตเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จึงทำให้เจริญสนใจที่จะมีธุรกิจร้านอาหารเพิ่มเติมจากเดิมมีร้านอาหารญี่ปุ่นอยู่ภายใต้การบริหารอยู่แล้ว

จากการที่เคเอฟซีเป็นร้านอาหารที่เน้นจำหน่ายอาหารประเภทไก่ ซึ่งปัจจุบันกลุ่มไทยเบฟยังไม่มีธุรกิจเกี่ยวกับการแปรรูปไก่ จึงมีความเป็นไปได้ว่านับจากนี้ไปอาจมีการเซ็นสัญญากับ ผู้ประกอบการที่ทำธุรกิจแปรรูประยะยาว เพื่อสั่งซื้อไก่จำนวนมากๆ หรืออาจมีการเข้าไปซื้อกิจการโรงงานไก่แปรรูป เพื่อต่อยอดให้กับธุรกิจร้านเคเอฟซี

ชลิต กล่าวต่อไปว่า การซื้อกิจการร้านเคเอฟซีในครั้งนี้ นอกจากจะเป็นการเติมเต็มให้กับกลุ่มธุรกิจนันแอลกอฮอล์แล้ว ยังถือเป็นอีกหนึ่งกลยุทธ์ต่อยอดธุรกิจปลายน้ำ เนื่องจากปัจจุบันธุรกิจส่วนใหญ่ของกลุ่มไทยเบฟจะเป็นธุรกิจต้นน้ำและกลางน้ำเสียเป็นส่วนใหญ่ มีเพียงห้างบิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ ซึ่งเป็นธุรกิจปลายน้ำที่มีศักยภาพที่กลุ่ม ไทยเบฟเพิ่งซื้อกิจการมาเมื่อต้นปี 2559 ที่ผ่านมาเท่านั้น

หากมองไปที่กลุ่มธุรกิจที่กลุ่มไทยเบฟมีอยู่ในมือขณะนี้ ถือว่าเกือบครอบคลุมทุกกลุ่มเป้าหมายแล้ว เช่น ธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โรงแรม อสังหาริมทรัพย์ อุตสาหกรรมการผลิต สินค้าอุปโภคบริโภค ค้าปลีก ร้านอาหาร บริษัทจัดจำหน่ายโลจิสติกส์

ชลิต กล่าวว่า หากธุรกิจในเครือกลุ่มไทยเบฟขยายอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะธุรกิจค้าปลีก ซึ่งหากเปิดร้านมินิบิ๊กซีเป็นร้านสะดวกซื้อ หรือคอนวีเนียนสโตร์เหมือนกับร้านเซเว่น อีเลฟเว่นของเครือซีพี ทางซีพีก็อาจสะเทือน เนื่องจากลูกๆ ของเจริญเก่งทุกคน นอกจากนี้ ยังมีการแบ่งธุรกิจให้ลูกๆ ทุกคนได้ดูแลอย่างชัดเจน เช่น ด้านกลุ่มธุรกิจประกันและการ เงิน "อาคเนย์" ให้ลูกสาวคนโต คือ อาทินันท์ พีชานนท์ และลูกเขย โชติพัฒน์ พีชานนท์ ดูแล ส่วนลูกสาว คนที่ 2 คือ วัลลภา ไตรโสรัส มอบหมายให้ดูธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ภายใต้ บริษัท แอสเสท เวิรด์ คอร์ปอเรชั่น ร่วมกับลูกเขยคือ โสมพัฒน์ ไตรโสรัส

ขณะที่ลูกคนที่ 3 หรือลูกชายคนโต คือ ฐาปน สิริวัฒนภักดี มอบหมายให้ดูแลธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และนันแอลกอฮอล์ ภายใต้ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ ส่วนคนที่ 4 ลูกสาวคือ ฐาปนี เตชะเจริญวิกุล ให้ดูแลธุรกิจสินค้าอุปโภคบริโภคภายใต้ บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ และดูแลธุรกิจค้าปลีกภายใต้ บริษัท บิ๊กซี ซูเปอร์มาร์เก็ต รวมไปถึงธุรกิจด้านโลจิสติกส์ร่วมกับลูกเขย คือ อัศวิน เตชะเจริญวิกุล และลูกชายคนเล็ก คือ ปณต สิริวัฒนภักดี ดูแลกลุ่มธุรกิจอุตสาหกรรมการเกษตร ธุรกิจศูนย์การค้า และอสังหาริมทรัพย์ภายใต้กลุ่ม บริษัท ทีซีซีแลนด์ ซึ่งแต่ละคนโดดเด่นคนละด้าน

อย่างไรก็ดี หากมองมาที่ฝั่งลูกๆ ของธนินท์ ปัจจุบันมีเพียง ศุภชัย เจียรวนนท์ เท่านั้นที่มีความโดดเด่นในด้านของสายงานที่ได้รับมอบหมาย

ชลิต กล่าวต่อไปว่า แม้ปัจจุบันเจริญจะมีธุรกิจครบเกือบทุกเซ็กเมนต์แล้ว แต่เพื่อให้ธุรกิจเติมเต็มมากยิ่งขึ้นอาจมีการเทกโอเวอร์กิจการทีวีดิจิทัลอีก 1 ช่อง ซึ่งครั้งนี้น่าจะเข้าไปใน รูปแบบบริหารช่องเต็มตัว เพื่อนำมา ต่อยอดธุรกิจให้มีความครบวงจรมากยิ่งขึ้น

จากภาพรวมทั้งหมด ศึกเจ้าสัวปะทะเจ้าสัวครั้งนี้จึงห้ามกะพริบตาเด็ดขาด