posttoday

'กระทิง' แนะสตาร์ทอัพ ลุยเฮลท์แคร์เชื่อ 2 ปีบูม

08 สิงหาคม 2560

แม้ประเทศไทยจะมีการเดินหน้าเรื่องเทคโนโลยีมากขึ้นเรื่อยๆ แต่สตาร์ทอัพ สินค้าและบริการ ด้านเทคโนโลยีสำหรับกลุ่มผู้สูงวัยและทางการแพทย์ก็ไม่ได้มีมากขนาดนั้น

โดย...ณัฏฐ์ธยาน์ สุทธิเจริญ

แม้ว่าประเทศไทยจะมีการเดินหน้าเรื่องเทคโนโลยีมากขึ้นเรื่อยๆ แต่สตาร์ทอัพ สินค้าและบริการ ด้านเทคโนโลยีสำหรับกลุ่มผู้สูงวัยและทางการแพทย์ก็ไม่ได้มีมากขนาดนั้น

กระทิง-เรืองโรจน์ พูนผล ผู้ร่วมก่อตั้งและผู้ร่วมบริหารกองทุน 500 TukTuks กล่าวว่า อีกไม่นานสังคมสูงวัยจะมาเร็วกว่าที่คิด ปัญหาสุขภาพจะเป็นเรื่องใหญ่ในไทย แต่กลับมีการพัฒนาทั้งอุปกรณ์และแอพพลิเคชั่นน้อยมาก ทั้งที่ไทยพยายามผลักดันในการเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์

"แม้ว่าปีนี้จะเป็นปีทองของสตาร์ทอัพในกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ แต่คาดว่าอีก 2 ปีข้างหน้าจะเป็นโอกาสของกลุ่มเฮลท์แคร์ แต่ต้องเริ่มพัฒนาสินค้าและบริการทันที"

การลงทุนด้านเฮลท์แคร์ในสตาร์ทอัพไทยยังมีน้อยมาก ทั้งที่จะเป็นธุรกิจที่เปลี่ยนชีวิตคนจำนวนมหาศาล ซึ่งก่อนหน้านี้ ทาง 500 ตุ๊กตุ๊กส์ได้ลงทุนในแอพพลิเคชั่นเฮลท์แอทโฮมซึ่งเป็นสตาร์ทอัพที่ให้บริการส่งเจ้าหน้าที่ดูแลผู้ป่วยในบ้าน

ทั้งนี้ สตาร์ทอัพที่จะให้บริการด้านใด ก็ควรมีผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านนั้น เพื่อให้ข้อมูลที่ถูกต้อง ยิ่งเป็นบริการทางการแพทย์ย่อมต้องมีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทั้งเฉพาะทางและทั่วไป เพื่อคอยตอบคำถามสำหรับผู้ป่วยให้ข้อมูลเบื้องต้นกรณีไม่ฉุกเฉิน เพื่อลดภาระแพทย์ที่โรงพยาบาลและลดปัญหาเตียงไว้ใช้กรณีฉุกเฉิน

เฮลท์แคร์สำหรับผู้สูงวัยในไทยมีสัดส่วนเพียง 1% เท่านั้น จึงมีโอกาสอีกมากและมองว่าปีหน้าสตาร์ทอัพหรือเทคโนโลยีสำหรับธุรกิจกลุ่มประกันก็น่าจะมีความต้องการ หากสตาร์ทอัพสามารถเชื่อมโยงธุรกิจกับกลุ่ม เป้าหมายได้จะยิ่งเพิ่มโอกาส

แม้ว่ากลุ่มเทเลเมดิซีน (Telemedicine) จะยังไม่ถูกกฎหมายในไทย แต่เชื่อในอนาคตจะสำคัญมากขึ้น 70% ของประเทศที่พัฒนาแล้วจะเห็นความสำคัญด้านสุขภาพประชาชน การลดภาระค่าใช้จ่ายในการดูแลด้วยการให้ข้อมูลจะช่วยแก้ปัญหาเบื้องต้นในการรักษาได้

คณวัฒน์ จันทรลาวัณย์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท รักดี เวนเจอร์/คราวด์ฟันดิ้ง กล่าวว่า ประชากรมีจำนวนเพิ่มอย่างต่อเนื่อง ในประเทศที่พัฒนาแล้วจำนวนเตียงคนไข้ 1 หมื่นคนจะอยู่ที่ 90 เตียง แต่ของไทยมีเพียง 2 เตียงเท่านั้น ส่วนจำนวนแพทย์ที่ให้บริการ 1 ต่อ 1,000 คน ซึ่งไทยสัดส่วนน้อยมาก หากไม่มีเทคโนโลยีหรือแอพพลิเคชั่นมารองรับความต้องการประชาชนอนาคตการรักษาเสี่ยงแน่

ปัญหาสำคัญที่ทำให้สตาร์ทอัพกลุ่มเฮลท์แคร์ยังไม่เกิด คงหนีไม่พ้นเรื่องกฎหมายที่ไม่รองรับธุรกิจและกังวลสตาร์ทอัพจะมาดิสรัปต์แพทย์ ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่มีทางเกิดขึ้นได้ เพราะความต้องการแพทย์ในไทยยังมีอยู่มาก และโซลูชั่นรองรับผู้ป่วยยังกลับต้องปรับปรุงอีกมาก จึงยากจะปั้นไทยฮับสุขภาพ