posttoday

โรงพยาบาล 4.0 เสริมแกร่งการแพทย์ไทย

15 กรกฎาคม 2560

ไทยมีเป้าหมายเป็นศูนย์กลางด้านการแพทย์ (เมดิคอล ฮับ) ของอาเซียน ซึ่งทุกวันนี้บางโรงพยาบาลของไทยก็มีชื่อเสียงได้รับความเชื่อถือระดับเอเชีย ระดับโลกแล้ว

โดย...จารุพันธ์ จิระรัชนิรมย์

ไทยมีเป้าหมายเป็นศูนย์กลางด้านการแพทย์ (เมดิคอล ฮับ) ของอาเซียน ซึ่งทุกวันนี้บางโรงพยาบาลของไทยก็มีชื่อเสียงได้รับความเชื่อถือระดับเอเชีย ระดับโลกแล้ว แต่การทิ้งใครไว้ข้างหลังคงไม่ใช่หนทางที่นำไปสู่การเป็นเมดิคอล ฮับ อย่างแท้จริง วิถีทางที่ถูกต้องก็คือยกระดับโรงพยาบาลทั่วประเทศให้แข็งแกร่งไปพร้อมกันเพื่อการเป็นเมดิคอล ฮับอย่างแท้จริง

นพ.สมศักดิ์ เชาว์วิศิษฐ์เสรี ผู้อำนวยการด้านบริหารร่วมและผู้อำนวยการด้านการแพทย์ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ เปิดเผยว่า ได้ลงนามบันทึกข้อตกลง (เอ็มโอยู) กับโรงพยาบาลพันธมิตร 51 แห่งทั่วประเทศ เพื่อบูรณาการทางการแพทย์ร่วมกัน โดยได้จัดทำขึ้นเป็นปีที่ 2 จากที่เริ่มทำปีก่อนมีโรงพยาบาลเข้าร่วม 35 แห่ง ปีนี้มีโรงพยาบาลสนใจเข้าร่วมเพิ่มอีก 16 แห่ง ซึ่งการร่วมมือลักษณะนี้ถือเป็นการสร้างกระบวนการดูแลรักษาแบบ 4.0 สอดคล้องนโยบายประเทศไทย 4.0 แบบสัมผัสได้จริง

ทั้งนี้ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ไม่มีแนวคิดซื้อกิจการสร้างเครือข่าย โรงพยาบาลหลายสาขา จึงมุ่งเน้นกลยุทธ์สร้างเครือข่ายกับโรงพยาบาลอื่นๆ ร่วมมือกันเพื่อยกระดับบริการสาธารณสุขของประเทศให้ดีขึ้น ซึ่งกลยุทธ์นี้น่าจะเป็นประโยชน์กับทุกฝ่ายทั้งประเทศ โรงพยาบาล และผู้ป่วย โดยผู้ป่วยในภูมิภาคก็มีโอกาสเข้าถึงเทคโนโลยีการแพทย์ที่ดีขึ้น จากเดิมโรงพยาบาลที่เข้ารักษาอาจขาดแพทย์เชี่ยวชาญด้านนั้นหรือไม่มีอุปกรณ์เทคโนโลยีสูงๆ ซึ่งปีนี้จะทำให้ความร่วมมือเข้มแข็งขึ้น โดยจัดตั้งคณะทำงานขึ้นมาหารือทิศทางการทำงานร่วมกันทุก 3 เดือน ผลัดเปลี่ยนกันนำเสนอความรู้ทางวิชาการที่แต่ละแห่งเชี่ยวชาญ

ขณะเดียวกัน เมื่อรักษาแล้วถึงระยะพักฟื้นผู้ป่วยก็จะได้สบายใจมากขึ้น เพราะส่งตัวกลับไปพักฟื้นโรงพยาบาลในพื้นที่บ้านของตัวเองได้ ซึ่งปีที่ผ่านมาที่ร่วมกับโรงพยาบาล 35 แห่ง โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์พบว่า มียอดส่งต่อผู้ป่วยระหว่างกัน 6-10 ราย/วัน

อย่างไรก็ตาม ปีที่ผ่านมาได้ร่วมมือแค่ส่งต่อผู้ป่วยและแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างแพทย์ ปีนี้จะเพิ่มเรื่องแลกเปลี่ยนความรู้วิชาการ ทำวิจัยร่วมกัน พร้อมผลักดันให้ไทยมีตัวแทน โรงพยาบาลก้าวสู่เวทีโลก เวทีระดับภูมิภาคมากขึ้น ซึ่งจะช่วยเสริมให้การแพทย์ทั้งระบบของประเทศแข็งแกร่งขึ้น

"บำรุงราษฎร์ลงทุนเทคโนโลยีขั้นสูงไว้มาก การร่วมมือครั้งนี้ทำให้เกิดความคุ้มค่าต่อหน่วยมากขึ้น เพราะโรงพยาบาลอื่นเข้ามาช่วยใช้เทคโนโลยี จึงบริหารต้นทุนได้ดีขึ้น" นพ.สมศักดิ์ กล่าว

นพ.วิโรจน์ ตระการวิจิตร ผู้อำนวยการฝ่ายการแพทย์ โรงพยาบาลนครธน กล่าวว่า การร่วมมือครั้งนี้ทำให้เกิดการใช้ทรัพยากรคุ้มค่าในทุกโรงพยาบาล เพราะอุปกรณ์การแพทย์ราคาแพง ซึ่งบำรุงราษฎร์ลงทุนอุปกรณ์มากอยู่แล้ว ทำให้โรงพยาบาลพันธมิตรเข้าไปใช้ทรัพยากรเหล่านี้ได้

ขณะที่ผู้ป่วยก็ได้ประโยชน์เพราะโรงพยาบาลในพื้นที่ที่ตัวเองไปรักษาอาจมีศักยภาพจำกัด ก็สามารถส่งต่อให้ โรงพยาบาลพันธมิตรที่เป็นศูนย์กลางแต่ละพื้นที่หรือส่งมาที่โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ได้ เกิดการพูดคุยระหว่างแพทย์กับแพทย์ที่รักษาทำให้คนไข้สบายใจที่ได้รับการรักษาแบบไร้รอยต่อ

นพ.ธนินนิตย์ ลีรพันธ์ ผู้อำนวยการศูนย์ศรีพัฒน์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า การร่วมมือลักษณะนี้ทำให้ในอนาคตโรงพยาบาลเชื่อมโยงฐานข้อมูลดูแลคนไข้ได้ดีขึ้น และหากศึกษาถึงการเป็นโรงพยาบาลชั้นนำระดับโลกจะพบว่าบริการที่ดีอย่างเดียวไปถึงระดับโลกไม่ได้ ต้องให้ความสำคัญกับการบริการและงานวิจัยคู่กันเพื่อนำไปสู่การรักษาแบบใหม่ๆ และเมื่อโลกเปลี่ยนเร็วมีเทคโนโลยีการแพทย์ใหม่เกิดเร็วมาก หากโรงพยาบาลร่วมมือกันก็จะรับมือการเปลี่ยนแปลงสร้างนวัตกรรมต่างๆ ได้ดีขึ้น

นพ.ศิริเกษม ศิริลักษณ์ คณบดี คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร กล่าวว่า การที่คณะแพทยศาสตร์ไปร่วมมือกับโรงพยาบาลเอกชนที่มีทรัพยากรพร้อม ทำให้เกิดนวัตกรรมใหม่ได้เร็วขึ้น เดิมงานวิจัย 1 ชิ้นทำโดยบุคลากรคนเดียวอาจใช้เวลา 5 ปีเสร็จ แต่ถ้าร่วมมือหลายแห่งก็อาจจะเสร็จได้ในปีเดียว หรือโรงพยาบาลขนาดไม่ใหญ่ไม่มีงบมากพอพัฒนาความรู้ใหม่ เมื่อมีความร่วมมือแบบนี้จะทำให้พัฒนาความรู้การแพทย์ใหม่ได้ต่อเนื่อง

ถือเป็นแนวทางที่ดีที่โรงพยาบาลร่วมมือยกระดับไปด้วยกัน ไม่ใช่แข่งกันเองอย่างเดียว